สรท. คงเป้าส่งออก 6-8% ชี้ยังเสี่ยงจาก เงินเฟ้อ-พลังงาน-ค่าระวางเรือสูง อ้อนขอปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนจริง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. เปิดเผยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค. 65 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัว 4.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (139,911 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง  2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ 3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง 4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน นอกจากนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3546578

“เวียดนาม” เผย 8 เดือนแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว โต 9.4%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากพิจารณาการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจในเรื่องของการขยายขนาดการผลิต เพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักงาน แสดงให้เห็นว่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ผลิตอุตสาหกรรมหลักบางรายการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ (19.6%), รถยนต์ (13.9%) และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าศูนย์การผลิตภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มในมทิศทางที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการพยายามหาแนวทางที่จะฟื้นฟูการผลิต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-recovers-quickly-with-growth-of-94-in-eight-months/236799.vnp

“อีคอมเมิร์ซ” กุญแจสำคัญ เพิ่มโอกาสขยายการค้าเวียดนาม-สหราชอาณาจักร

ภาคธุรกิจของเวียดนามได้รับการกระตุ้นให้มาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะขยายการเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักร (UK) หลังจากข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสหราชอาณาจักรเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกที่ทำรายได้กว่า 117.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หากพิจารณาผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซของสหราชอาณาจักร คือเว็บไซต์ร้านค้า amazon.co.uk ทำรายได้ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว รองลงมา tesco.com และ argos.co.uk คิดเป็นสัดส่วนทั้งสามร้านค้ารวมกัน 30% ของรายได้ออนไลน์ในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอิคอมเมิร์ซ เติบโตสูงถึง 53% ในปี 2564 ดังนั้น คุณ Bùi Thanh Hằng ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชี้ว่าข้อตกลง UKVFTA จะอนุญาติให้ใช้วิธีการใหม่ในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1312561/e-commerce-the-key-to-increase-bilateral-trade-between-viet-nam-and-the-uk.html

“เวียดนาม-สปป.ลาว” ตั้งเป้าดันการค้าแตะ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปัจจุบัน สปป.ลาวเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน และทั้งสองประเทศยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทางการค้า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามและลาวมีพรมแดนร่วมกันมากกว่า 2,300 กม. โดยเฉพาะประตูชายแดนระหว่างประเทศ มีจำนวน 9 แห่ง, ประตูหลัก 6 แห่ง, ประตูอื่นๆ อีก 18 แห่ง และเส้นทางต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันของทั้งสองประเทศ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 9 แห่ง

ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังสปป.ลาว มีมูลค่า 594.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% ในขณะที่การนำเข้า 778.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.8%

นอกจากนี้ นาย โด ทั้งห์ หาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามพร้อมที่จะช่วยเหลืออุปสรรคของสปป.ลาว ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-laos-aiming-fo-2-billion-usd-in-bilateral-trade-2056831.html

เมียนมาส่งออกข้าวหักผ่านชายแดนมูเซไปจีนพุ่งสูงขึ้น

นาย อู มิน เต็ง รองประธานของ Muse Rice Commodity Exchange เผย รายได้จากส่งออกข้าวหักไปยังจีนผ่านชายแดนมูเซเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเงินจัตอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน ซึ่งการส่งออกข้าวหักไปจีนในแต่ละวันจะถูกลำเลียงผ่านชายแดนมูเซ – จี่งซานเจ้าะ ด้วยรถบรรทุกประมาณ 50 คัน โดยในตลาดชายแดน การส่งออกข้าวหักจะมีมากกว่าข้าวสารทั่วไป ซึ่งราคาข้าวหัก 50 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ระหว่าง 140 -150 หยวน ส่วนราคาข้าวและข้าวหักในประเทศ มีแนวโน้วเพิ่มขึ้นตามราคาส่งออกข้าวหักที่สูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-export-rising-through-muse-border/

“เวียดนาม” กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย

Nikkei Asia สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่าเวียดนามกำลังดึงดูดกลุ่มผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก นอกจากบริษัทระดับโลกอย่างแอปเปิล (Apple), ซัมซุง (Samsung) และพานาโซนิค (Panasonic) ซึ่งวางแผนที่จะขยายกำลังการผลิต ในขณะที่บริษัทออกแบบชิบรายใหญ่ของสหรัฐฯ “Synopsys” เพิ่งจะประกาศว่าจะช่วยเหลือในการฝึกอบรมด้านวิศวกรและจัดตั้งศูนย์การออกแบบชิปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากตั้งข้อสังเกตจะเห็นได้ว่าเวียดนามดึงดูดกลุ่มธุรกิจไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คุณ Okuda Yoshiki ที่ปรึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กล่าวว่าในอดีตไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่พึ่งพาการผลิตของจีน อย่างไรก็ตาม COVID-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการย้ายโรงงานไปยังเวียดนามและยังถือว่าเป็นข้อกังวลอย่างมากต่อมุมมองของประเทศญี่ปุ่น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-an-important-link-in-asian-supply-chain-post967774.vov

“ลอตเต้ กรุ๊ป” เล็งสร้างเมืองอัจฉริยะเชิงนิเวศและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม

ธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ของประเทศเกาหลีใต้ “ล็อตเต้ กรุ๊ป” ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าจะสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและศูนย์โลจิสติกส์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่ขยายกิจการ เพื่อวางรากฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ภายใต้โครงการ “Thu Tiem Eco Smart City” ด้วยมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทมีแผนที่จะสร้างอาคารสูง 60 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ พื้นที่สำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัยและอพาร์ทเมนท์ในเมืองโฮจิมินห์ นอกจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้วนั้น บริษัทวางแผนที่จะสร้างศูนย์โลจิสติกส์อัจฉริยะในจังหวัดด่งนาย (Dong Nai) ภายในปี 2567 เพื่อยกระดับการนำเข้าและส่งออก

ที่มา : http://www.theinvestor.co.kr/view.php?ud=20220905000144

GDCE ปราบปรามคดีลักลอบนำเข้ากว่า 15,000 คดี ในช่วงครึ่งปีแรก

กรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE) ในช่วง มกราคม-มิถุนายน 2022 ได้ปราบปรามคดีลักลอบขนส่งสินค้าจำนวนกว่า 15,631 คดี โดยจำแนกเป็นคดีขนาดใหญ่ 445 คดี และคดีขนาดเล็ก 15,186 คดี ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 7,456 คดี หรือร้อยละ 91.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว GDCE ได้ดำเนินคดีไปแล้วกว่า 15,408 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีของ GDCE ได้จัดเก็บไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ จากภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้า ภาษีส่งออก และภาษีอื่นๆ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 50.18 ของเป้าการจัดเก็บภาษีประจำปี ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 138.83 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอีกส่วนหนึ่งกัมพูชาสูญเสียโอกาสทางรายได้ศุลกากรประมาณ 187 ล้านดอลลาร์ จากการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.34

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144668/gdce-cracks-15000-smuggling-cases-in-h1/

ตอกย้ำศักยภาพภาคการเกษตรกัมพูชา

กลุ่มนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ รวมตัวกันจัดฟอรั่ม ณ กรุงพนมเปญเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นการมองหาโอกาสด้านการลงทุนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ซึ่งงานฟอรั่มดังกล่าวจัดโดย Junior Chamber Youth (JCI) กัมพูชา ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบทของภาครัฐ ในการผลักดันภาคการเกษตรในประเทศ โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมงานกล่าวเสริมว่าภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาในปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ที่กำลังจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในปี 2021 มีปริมาณรวมกันอยู่ที่ 7.98 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63 หรือเพิ่มขึ้นจาก 3.11 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้กว่า 4.96 พันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144672/cambodias-potential-for-agriculture-sector-highlighted/

5 เดือนแรกของปีงบฯ 65 – 66 เมียนมามีรายได้ส่งออกถั่วพุ่งแตะ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา (MoC) เผย รายได้จากการส่งออกถั่วในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 (วันที่ 1 เมษายนถึง 26 สิงหาคม 2565) พุ่งไปถึง 513.347 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปริมาณการส่งออกกว่า 660,806 ตัน ซึ่งที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกถั่ว 1.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกทั้งสิ้นกว่า 2.02 ล้านตัน โดยเป็นการส่งออกทางเรือ 1.24 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 966.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทางชายแดนอีก 786,920 ตัน คิดเป็นมูลค่า 604.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การเพาะปลูกถั่วของเมียนมาครอบคลุมพื้นที่ 20% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด โดยมี ถั่วดำ ถั่วแระ และถั่วเขียวคิดเป็น 72% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่ว ซึ่งภาคเกษตรกรรมถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจประเทศและสินค้าเกษตรหลักก็รวมอยู่ในสินค้าส่งออกหลักเมียนมาอีกด้วย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-500-mln-from-export-of-various-pulses-in-nearly-5-months/