เดือนเม.ย.66 ของงบฯ 65-66 เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาทะลุ! 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการบริษัทแห่งการบริหารการลงทุนและบริษัท (DICA)  เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 2565 เมียนมามีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเกือบ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการลงทุนของจีน 2.782 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยไต้หวัน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฮ่องกง 1.215 ล้านดอลลาร์ และประเทศอื่นๆ รวมเป็น 5.997 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงหกเดือนของงบประมาณย่อยปี  2564-2565 พบว่าประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา คือ สิงคโปร์ 297.349 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามด้วย จีน 142.137 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ฮ่องกง  109.140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,  เกาหลีใต้ 62.693 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ใต้หวัน 8.641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนไทย 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฯลฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/us6-mln-foreign-investment-flows-in-april-this-2022-2023fy/

กัมพูชาตั้งเป้าเน้นการส่งออกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวถึงการที่ทางการกัมพูชาได้ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเครื่องนุ่งห่มและไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อรองรับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีนี้การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,606 ล้านดอลลาร์ ใน 4 เดือน แรกของปี โดยได้ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 2,923 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP, EBA และ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนเสริมทำให้กัมพูชาส่งออกและได้รับการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080718/cambodia-to-focus-more-on-growth-in-exports/

รายได้ภายในประเทศกัมพูชาปรับเพิ่มขึ้น แต่การบริโภคภายในประเทศกลับลดลง

การบริโภคภายในประเทศกัมพูชาปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว แม้ว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามผลสำรวจของ Indochina Research ภายใต้การสำรวจชื่อ “A Light Glimpse of Cambodia” โดยทำการสัมภาษณ์ผู้บริโภคจำนวน 2,000 คน ทางโทรศัพท์ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 16 ถึง 65 ปี ส่วนใหญ่ตอบว่าบริโภคซื้อผลิตภัณฑ์และบริการน้อยลงในช่วงไตรมาสแรก ส่วนทางกันกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 371 ดอลลาร์ต่อเดือน ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 267 ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับรายได้ในเขตชนบท ในขณะที่เขตเมืองต้องเผชิญกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลงเหลือ 442 ดอลลาร์ จาก 633 ดอลลาร์ ซึ่งโดยรวมแล้วรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนของชาวกัมพูชาเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับคืนสู่ระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080678/consumption-down-income-rises/

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.95 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

การส่งออกสินค้าเกษตร (นอกเหนือจากข้าว) ของกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.95 คิดเป็นปริมาณ 2.76 ล้านตัน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 จากปริมาณ 2.81 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกข้าวไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.79 คิดเป็นปริมาณ 1.64 ล้านตัน จาก 1.53 ล้านตัน ตามรายงานของกระทรวงเกษตร โดย เวียดนาม ไทย และจีน ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรที่นอกเหนือจากข้าว ได้แก่ มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง กล้วยสด ส้มโอ มะม่วง มะพร้าว พริกไทย และยาสูบ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501079990/cambodias-non-rice-export-falls-1-95-in-four-months/

คาด RCEP-CCFTA ผลักดันการค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน

คาดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้กับภาคการค้าระหว่างกัมพูชาและจีนขยายตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันจีนถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง ตลอดจนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสินค้าแปรรูป นอกจากนี้ RCEP ยังถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีประชากรรวมกันอยู่ที่ 2.2 พันล้านคน หรือร้อยละ 30 ของประชากรโลก โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก สำหรับกัมพูชาคาดว่าจะได้เห็นการเติบโตของภาคการส่งออกระหว่าง ร้อยละ 9.4 ถึงร้อยละ 18 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 3.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080223/rcep-ccfta-inject-new-impetus-into-cambodia-china-trade-2/

‘เวียดนาม’ ชี้ไตรมาส 3 เศรษฐกิจส่งสัญญาปัญหาเงินเฟ้อ

Trần Toàn Thắng หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เป็นสถานการณ์ความตึงเครียดมากที่สุดในการรับมือปัญหาเงินเฟ้อ ภายในงานเสวนาเศรษฐกิจเวียดนามแห่งปี 2022 ซึ่งจากรายงานได้เน้นย้ำถึงกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม แต่ต้องเผชิญกับแรงกดดันกับปัญหาต่างๆ ในปีนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ถือได้ว่าสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจเวียดนามอีกด้วย ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างประเทศจีนที่คงเข็มงวดนโยบาย “Zero COVID” กลายเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1194073/q3-set-to-be-tough-period-for-inflation.html

‘ข้าวเวียดนาม’ เร่งสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้า

Nguyễn Thị Thu Thủy รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีขนาดตลาดที่ใหญ่สำหรับข้าวเวียดนามและกิจการควรมีกลยุทธ์ในการเข้าถึงตลาดขนาด 700 ล้านประชากร ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน โดยในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์เป็นตลาดส่งออกข้าวเวียดนามที่ใหญ่ที่สุด มีปริมาณกว่า 2.45 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 509.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2564 ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของผู้ส่งออกโลก รองจากอินเดียและจีน แต่อินโดนีเซียก็ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพแก่ข้าวเวียดนาม นอกจากนี้ Cao Xuân Thắng เจ้าหน้าที่ของสำนักงานการค้าเวียดนามประจำสิงคโปร์ กล่าวว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของสิงคโปร์ รองจากไทยและอินเดีย และได้แนะนำให้ผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพข้าวและส่งเสริมการรับรู้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันกับไทยและอินเดีย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/business-beat/1194075/vietnamese-rice-must-increase-brand-recognition-in-asean.html

หนี้สินเพื่อการเกษตรของมัณฑะเลย์ จากปี 57 ถึง 63 เหลือเพียง 987.10 ล้านจัต !

จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาการเกษตรแห่งเมียนมา (เขตมัณฑะเลย์) ชาวนาจาก 23 เมืองของเขตมัณฑะเลย์ มียอดหนี้กู้เพื่อการเกษตรในช่วงมรสุมตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2563 เหลือยอดหนี้ 987.10 ล้านจัต  จากยอดกู้รวมทั้งสิ้น  590,572.33 ล้านจัต โดยสามารถเก็บยอดชำระหนี้ได้ถึงร้อยละ  99.83 จากยอดหนี้ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร ซึ่งก่อนนี้จะที่ 8% แต่สำหรับเกษตรกรที่เคยกู้ยืมเงินจะลดลงเหลือ 5% ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาการเกษตรแห่งเมียนมา (เขตมัณฑะเลย์) ยังเผยด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยแบบ Two Step Loan ของ Myanma Economic Bank (MEB) จะลดลงจากปัจจุบัน 9% เป็น 6.5%

ที่มา: https://news-eleven.com/article/231181

 

‘ททท.’ เตรียมเอกชนพร้อมเปิดประเทศเต็มสูบ ชี้ต่างชาติจ่อเที่ยวไทย 1 ล้านคนต่อเดือน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากกำหนดการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ททท. โดยได้ปรับคาดการณ์ว่าตลอดเดือนพ.ค.-ก.ย.นี้ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) 5 เดือน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อเดือน สูงกว่าที่เคยตั้งไว้ 3 แสนคนต่อเดือน และในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ซึ่งตรงกับไตรมาส 4 ของปี (ต.ค.-ธ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน หากรวมกับ 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ที่มียอด 4.44 แสนคน ประเมินว่าแนวโน้มตลอดปี มีโอกาสถึง 7-10 ล้านคน ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวไทยตั้งเป้าที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวทั้งปี ที่ 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2562

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_3362591

แนะประชาชนเลี่ยงการเดินทางโดยไม่จำเป็น ประหยัดน้ำมันเพื่อการเกษตร

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และสมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซแห่งประเทศลาว เรียกร้องให้ประชาชนใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัดและงดเดินทางโดยไม่จำเป็น เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอสำหรับใช้ทำการเกษตรและกิจกรรมสำคัญอื่นๆ สปป.ลาวพึ่งพาเชื้อเพลิงจากแหล่งภายนอกเป็นหลัก หมายความว่าต้องใช้สกุลเงินต่างประเทศจำนวนมากในการซื้อเชื้อเพลิงจากประเทศอื่น ดังนั้นเพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวในป้องกันวิกฤต รัฐบาลได้ตกลงที่จะลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยสั่งให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่รับรองโดยคณะกรรมการประจำรัฐสภา ประกาศระบุว่าภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บสำหรับน้ำมันดีเซลจะลดลงจากจำนวนปัจจุบันที่ร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 11 ในขณะที่ภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันเบนซินจะลดลงจากร้อย 31 เป็นร้อยละ 16

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten96_Public_y22.php