กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมส่งเสริมการค้าทวิภาคี

กัมพูชา-สิงคโปร์ ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามในการฟื้นฟูวิกฤตหลังวิกฤตโควิด-19 และความคืบหน้าของการตอบสนองของอาเซียนต่อวิกฤตโควิด-19 ไปจนถึงการส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างกัน โดยกัมพูชาและสิงคโปร์ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสิงคโปร์มีมูลค่าสูงถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ในด้านการลงทุนของสิงคโปร์ในกัมพูชาระหว่างปี 1994-2020 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.29 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์นำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงพริกไทย น้ำตาลปี๊บ มะม่วง และข้าวสาร เป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ ได้แก่ น้ำมัน เครื่องจักร อาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ อัญมณี และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042016/cambodia-singapore-to-further-boost-bilateral-trade/

กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 512 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

กรมสรรพากรกัมพูชา รายงานการจัดเก็บภาษีในช่วง 2 เดือนแรกของปี มูลค่ารวมอยู่ที่ 512 ล้านดอลลาร์ (2,074.66 พันล้านเรียล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือน ก.พ. เพียงเดือนเดียว กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีในหมวดภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18 ที่มูลค่า 190.15 พันล้านเรียล ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 252.78 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 ส่วนภาษีพิเศษเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 105.67 พันล้านเรียล หรือคิดเป็นร้อยละ 17.19 ภาษีเงินเดือนอยู่ที่ 98.42 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.17 และภาษีในการโอนอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 63.23 พันล้านเรียล เพิ่มขึ้น 16.98

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042010/tax-collection-rises-22-to-512-million-in-two-months/

เอดีบีชี้โควิด-19 ทำอาเซียนยากจนที่สุดปี 64

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) เผยแพร่รายงาน“การฟื้นตัวจากโรคระบาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในที่ประชุมเชิงสัมมนาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS) วันนี้ (16 มี.ค.65) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน อยู่ในความยากจนที่สุดในปี 2564 ขณะที่การจ้างงานในปีดังกล่าวหายไปถึง 9.3 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เอดีบี ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2565 ลดลง 0.8% ขณะที่คาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้ยังคงต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิด-19 ระบาดมากกว่า 10% โดยในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะ แรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล ซึ่งเอดีบี ระบุด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะสดใสขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่ภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบต่างๆ ที่รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/993991

ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3233119

‘บลจ. VinaCapital’ ปรับลดประมาณการ GDP เวียดนาม โต 6.5% ในปีนี้

VinaCapital หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเวียดนาม ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 6.5% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1%

คุณ Michael Kokalan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลจ. VinaCapital กล่าวว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศและกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรดีความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเวียดนามเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ คือราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1-2%

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเวียดนาม (VND) อ่อนค่าลง 1-2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vinacapital-lowers-vietnam-s-estimated-gdp-rate-to-6-5-this-year-822837.html

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ โจทย์ที่ท้าทายของผู้ส่งออกเวียดนาม

นาย เหวียน จิ ฮิว (Nguyen Tri Hieu) นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ารัสเซียมีความต้องการสินค้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร อาหารทะเลและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากได้รับผลกระทบทางลบด้านอุปทานจากความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกเวียดนามจะหยุดส่งสินค้าไปยังรัสเซีย แต่ก็ยังมีตลาดทางเลือกที่ช่วยลดความเสียหาย เพราะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าที่สำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ CPTPP และ EVFTA อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเวียดนามในระยะสั้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำการค้าในตลาดรัสเซียและยูเครนเป็นตลาดหลัก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1164951/russia-ukraine-conflict-represents-a-challenge-for-exporters.html

กัมพูชารายงานถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ก่อนแตะ 2.5 แสนคน

ภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชาดูเหมือนจะเริ่มกลับฟื้นตัวอีกครั้ง ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของ Omicron อยู่ในปัจจุบันก็ตาม โดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาได้รายงานถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม รวม 253,876 คน คิดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11,688 คน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างคงที่ มีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่นักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดคือพระสีหนุ โดยมีการบันทึกจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 37,110 คน, รองลงมาจังหวัดโพธิสัตว์ 28,724 คน, พนมเปญ 28,419 คน, เสียมราฐบัน 27,543 คน, พระตะบอง 23,990 คน, กำปอต 26,136 คน, กำปงสปือ 12,509 คน และแกบจำนวน 11,443 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041576/full-house-cambodia-records-more-than-250000-tourists-last-week/

คาด RCEP กระตุ้นส่งออกกัมพูชาร้อยละ 9-18 ต่อปี

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาคการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 9.4-18 ต่อปี จากการเข้าเป็นสมาชิกภายใต้ข้อตกลง RCEP ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจากที่เคยเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.8 กล่าวโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมกลุ่มประชากรประมาณร้อยละ 30 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041189/rcep-set-to-boost-cambodia-exports-by-9-18-yearly/

ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้น กระทบอุปทานน้ำมันในสปป.ลาว

ต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลกกำลังส่งผลกระทบสปป.ลาว ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งกำลังกักตุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างผลกำไร ในขณะเดียวกันธุรกิจสปป.ลาวกำลังประสบปัญหาในการนำเข้าเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ อีกด้านผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงก็ประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่นำเข้าจะสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันนำเข้าหมายความว่าราคาขายปลีกในประเทศลาวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งราคาน้ำมันเป็นตัวประกอบในต้นทุนการผลิต ซึ่งหมายความว่าราคาผลิตภัณฑ์ก็จะสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้รัฐบาลสปป.ลาวจะพยายามลดต้นทุนโดยการลดค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับกองทุนบำรุงรักษาถนน การลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจ เพื่อไม่ให้ราคาพุ่งจนเกินควบคุม ปัจจุบันน้ำมันมีราคา 18,640 – 19,200 กีบต่อลิตร เกรดปกติขายอยู่ที่ 16,380 -17,020 กีบ และดีเซลราคา 14,500 – 15,150 กีบต่อลิตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Global51.php

 

ยูเครน-น้ำมันดันค่าสร้างบ้านพุ่ง

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงแนวโน้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ปี 2565 ว่า ภาพรวมตลาดมีสัญญาณที่เป็นบวกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากยอดการจองปลูกสร้างบ้านในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021 ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพ.ย. 2564 พบยอดเติบโตขึ้นกว่าปีก่อนถึง 20% จนมาถึงช่วงเดือนม.ค. – ก.พ. 2565 ยังมีผู้บริโภคที่ต้องการปลูกสร้างบ้านติดต่อมายังบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อต้นทุนบ้าน ทั้งวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครน ต้นทุนราคาน้ำมัน  ในส่วนของสมาคมฯ ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงหากไม่เกิน 10-15% จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากปรับค่าแรงขึ้นถึง 30-40% จะส่งผลค่อนข้างมาก ซึ่งได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ในหลายส่วนด้วยกัน

ที่มา: https://www.naewna.com/business/641396