นักลงทุนเข้าลงทุนในกัมพูชาผ่าน Single Portal แตะ 8.33 พันล้านดอลลาร์

ธุรกิจมากกว่า 28,169 แห่ง เข้าจดทะเบียนในระบบธุรกิจออนไลน์ (Single Portal) ด้วยเงินลงทุนจดทะเบียนรวม 8.33 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งดำเนินการภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ขณะที่ในแง่ของมูลค่าการลงทุนตามภาคส่วน ภาคการก่อสร้างมีการจดทะเบียนมากที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่ 941 ล้านดอลลาร์ หลังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ไฟสแรกไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2020 และเฟสที่สองในวันที่ 15 ก.ย. 2021 โดยระยะที่สามเพิ่งเริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเน้นให้บริการออกใบอนุญาต ใบรับรอง ใบประกอบวิชาชีพ และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จาก 12 กระทรวงและสถาบัน โดยการจัดตั้งระบบการจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์มีส่วนช่วยในการลดขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนธุรกิจ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501343475/single-portal-receives-8-33-billion-investment-capital/

กัมพูชา-สปป.ลาว ลงนาม MoU พัฒนาตลาดหลักทรัพย์

เจ้าหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา (SERC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ สปป.ลาว (LSCO) เพื่อร่วมมือในการควบคุมและพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในทั้งสองประเทศ ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยกระดับความร่วมมือด้านกฎระเบียบในระดับทวิภาคี ผ่านการทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และการพัฒนาตลาด ด้าน Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ SERC กล่าวว่า MoU จะช่วยให้ SERC ให้การสนับสนุนแก่นักลงทุนทั้งในกัมพูชาและ สปป.ลาว ในการลงทุนยังตลาดหลักทรัพย์ของทั้งสองประเทศ ในทำนองเดียวกันองค์กรทั้งสองประเทศพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการจะช่วยเหลือหากมีบริษัทใดในกัมพูชาหรือ สปป.ลาว ต้องการที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ข้ามประเทศระหว่างกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342653/cambodia-laos-ink-mou-for-securities-market-development/

ปักกิ่งทุ่มทุนพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน

ปักกิ่งจะมอบเงินทุนสนับสนุน 300 ล้านหยวน หรือเท่ากับ 41.34 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่าง กัมพูชา ไทย สปป.ลาว และจีน กล่าวโดย Wang Yi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนระหว่างการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งกัมพูชา Sun Chanthol ณ กรุงพนมเปญ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลกัมพูชา-จีน ซึ่งมีนาย Hor Namhong เป็นประธาน และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วม ซึ่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์, ทางด่วนพนมเปญ-บาเวต, ทางด่วนพนมเปญ-เสียมราฐ, โครงการรถไฟกัมพูชา และโครงการคลอง Funan Techo ที่กำลังดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน โดยประธานฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าจีนได้มีส่วนช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา รวมถึงการสร้างถนนยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งและปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกัมพูชา ผ่านการสนับสนุนจากจีน ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342655/beijing-commits-300-million-yuan-to-develop-high-speed-rail-network/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วง 7 เดือน แตะ 6.27 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 20.44 ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ทำให้การส่งออกโดยรวมของกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลทำให้การส่งออกโดยภาพรวมชะลอตัวลง จากข้อมูลของ GDCE รายงานเสริมว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายแบบถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 3.06 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ค. ลดลงร้อยละ 22.8 ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายในรูปแบบไม่ถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.40 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.7 สำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวสร้างรายได้สุทธิเข้าประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 18.3 และการส่งออกรองเท้ามูลค่าในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 808.46 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 22.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342930/cambodia-gft-exports-at-6-27-billion-in-7-months/

‘ฮุน มาเนต’ หารือ ‘หวัง อี้’ ย้ำคำมั่นส่งเสริมสัมพันธ์ 2 ชาติ

พลเอกฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ได้พบปะหารือกับนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งอยู่ระหว่างเดินสายเยือนหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ทั้งนี้ นายหวังเดินทางถึงกัมพูชาในวันที่ 12 สิงหาคม และถือเป็นผู้แทนต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนกัมพูชา หลังพลเอกฮุน มาเนต ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯฮุน เซน เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา และได้รับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีน

ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_4128060

ในช่วง 5 ปี จังหวัดพระตะบองของกัมพูชา ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 2.6 ล้านคน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดพระตะบองดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นประมาณกว่า 2.32 ล้านคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.57 แสนคน ตามการรายงานของกระทรวงสารสนเทศ (MoI) ด้าน Chuon Chan Phearun รองอธิบดีฝ่ายสารสนเทศกล่าวเสริมว่าพระตะบองเคยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกัมพูชาตั้งอยู่ในจังหวัดที่สวยงามและมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงพนมเปญ โดยขึ้นชื่อในด้านวัฒนธรรมอันร่ำรวย สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจังหวัดตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์จึงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของทั้งนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพระตะบองมีโรงแรมเปิดให้บริการประมาณ 46 แห่ง และเกสต์เฮาส์ 97 แห่ง โดยรวมห้องพักทั้งหมด 3,153 ห้อง

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารกว่า 191 แห่ง และชุมชนท่องเที่ยว 4 ชุมชน ด้านรัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมจังหวัดพระตะบองให้เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ รองจากจังหวัดเสียมราฐ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342421/battambang-attracts-over-2-31-million-tourists-in-five-years/

อินโดนีเซียเล็งนำเข้าข้าวกัมพูชา

Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้คำมั่นสัญญากับนายกรัฐมนตรี Hun Sen เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) ถึงการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเพื่อยกระดับการค้าทวิภาคี โดยทางอินโดนีเซียจะส่งคณะผู้แทนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชาและอินโดนีเซียเคยได้ลงนามในข้อตกลงการซื้อข้าวระหว่างกันในปี 2012 เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้สรุปโควตาปริมาณการส่งออกและประเภทของข้าว

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ชื่นชมความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียลงทุนในภาคอุตสาหกรรมข้าวในกัมพูชา ซึ่งนักลงทุนอินโดนีเซียสามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนได้สูงถึงร้อยละ 100 ในการจัดตั้งโรงสี โกดัง และเครือข่ายรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงในการส่งออก สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 329,633 ตัน ไปยัง 52 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นการส่งออกไปที่ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 229 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งในขณะเดียวกันกัมพูชาส่งออกข้าวเปลือก ณ ชายแดนประเทศกว่า 2.2 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 578 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342422/indonesia-eyes-cambodian-rice-imports/

อีคอมเมิร์ซกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง หลังสื่อสังคมออนไลน์ขยายตัว

สื่อสังคมออนไลน์กำลังเข้าครอบคลุมภาคอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจท้องถิ่นเกือบทั้งหมดส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รายงานไว้ใน The Consumer Report 2023 ที่เผยแพร่โดย Standard Insights ผ่านความร่วมมือกับ Confluences ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในระบบเศรษฐกิจภายใต้ชื่อเรื่อง “e-Commerce – Online Shopping Penetration” โดยจากการประมาณการต่างๆ พบว่าในกัมพูชามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 10.95 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.45 ล้านคนในกัมพูชา ตามมาด้วย Facebook Messenger ที่มีผู้ใช้ 7.20 ล้านคน, TikTok ผู้ใช้ 7.06 ล้านคน, Instagram ผู้ใช้ 1.75 ล้านคน, LinkedIn ผู้ใช้ 530,000 คน และ Twitter ผู้ใช้ 393,200 คน เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่มีซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ สำหรับชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 29.97) มีการซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อเดือน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ อย่างไรก็ตามรายงานยังย้ำว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งพบว่าลูกค้ากว่าร้อยละ 61.90 ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter ในเรื่องของการตัดสินใจซื้อสินค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340001/social-media-platforms-taking-over-e-commerce-segment/

MEF ชี้เศรษฐกิจกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้ โดยเติบโตจากภาคบริการและการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มที่มีการขยายตัว ท่ามกลางปัจจัยภายนอกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดจากประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันให้ภาคการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มสำคัญต่างๆ สำหรับระบบเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเน้นพึ่งพาการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ภาคการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการคาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2023 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 5 ล้านคน ภายในสิ้นปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 120 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีก่อนที่ 2.27 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340003/economy-to-stay-healthy-this-year-says-mef/

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 2.79 ล้านดอลลาร์

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาจัดเก็บภาษีโดยภาพรวมได้ประมาณกว่า 2.79 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.1 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีประจำปี ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยปัจจุบันกัมพูชามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษี 2 แห่ง ได้แก่ General Department of Taxation (GDT) ซึ่งเน้นภาษีภายใน เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีโรงเรือน และอีกแห่งคือ General Department of Customs and Excise (GDCE) เน้นการจัดเก็บภาษี สินค้าเข้า-ออกประเทศ ซึ่งกระทรวงระบุว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บโดย GDCE มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 1.12 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 41.4 ของเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บภาษีของ GDT สูงถึงประมาณกว่า 1.67 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 56.1 ของเป้าหมาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 โดยการจัดเก็บรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบภาษี รวมถึงการพัฒนาให้บริการแก่ผู้เสียภาษีและบริการจดทะเบียนที่สะดวกมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339088/kingdom-collects-2-79-billion-in-tax-revenue-in-1h/