‘แบงก์ชาติสิงคโปร์’ มั่นใจเวียดนามได้รับผลประโยชน์หลักจากข้อตกลง RCEP

ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) รายงานว่าอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของเวียดนามในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อยู่ที่ 1.2% ต่ำกว่าเกาหลีใต้ 4.8% หรือจีน 2.8% ชี้ให้เห็นถึงเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศของสมาชิกอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากร เหตุจากการเปิดกว้างทางการค้าของเวียดนามในระดับสูง ในขณะที่ภาพรวมของการค้าเวียดนามกับสมาชิกใน RCEP นั้นอยู่ในระดับสูง และทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว ตลอดจนผลของข้อตกลงการค้าเสรียังช่วยให้เวียดนามยกระดับการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรียังก่อให้เกิดการเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถึงแม้ว่าสิงคโปร์ยังคงมีส่วนแบ่งทางการลงทุน FDI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การไหลเข้าของเม็ดเงินทุนไปยังเวียดนามนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 3 ของประเทศรับเงินทุนจากกลุ่มสมาชิกอาเซียน+6

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/singaporean-bank-considers-vietnam-key-beneficiary-of-rcep-post924478.vov

‘HSBC’ คาดเงินเฟ้อเวียดนามสูงขึ้นเล็กน้อย

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อของเวียดนามในปี 2565 จาก 2.7% มาอยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัญญาเชิงบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ก่อนเทศกาลตรุษญวน รัฐบาลประกาศว่าจะไม่มีการกลับมาล็อกดาวน์และข้อจำกัดการกิจกรรมทางสังคมต่างๆ รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐฯ ที่ให้อยู่ร่วมกับเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จของโครงการฉีดวัคซีนในประเทศจำนวนมาก ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งนี้ การปรับคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวของธนาคารเอชเอสบีซี เมื่อเทียบกับธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) มองว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของรัฐบาลที่ 4% โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของอาเซียน เช่น ไทยและสิงคโปร์ที่มีตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-receives-slightly-higher-inflation-forecast-negligible-risk-hsbc-post924429.vov

เกษตรกรอำเภอจู้นละปลูกมะเขือเทศไต้หวัน เฮ ได้ราคาดี

เกษตรกรหมู่บ้าน Magyi Inn อำเภอจู้นละ จังหวัดกั่นบะลู เขตซะไกง์ กำลังเร่งปลูกมะเขือเทศไต้หวันเพราะได้ราคาดี โดยต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่ประมาณ 200,000 จัตต่อเอเคอร์ ซึ่งรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ ไถ ปุ๋ย และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าสามารถออกผลผลิตได้มากกว่า 1,000 ต้นในเดือนมี.ค.นี้ โดยราคาขายส่งมะเขือเทศขายได้ 1,000 จัตต่อ vises (1  visses เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) ทั้งนี้มะเขือเทศไต้หวันสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ซึ่งจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ได้เข้ามาให้ความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้ได้พืชผลที่ปลอดสารเคมี และยังสาธิตวิธีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติและยาฆ่าแมลงให้อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/exotic-tomato-growers-in-kyunhla-delight-to-earn-good-price/

สปป.ลาว กัมพูชา เติบโตอย่างก้าวกระโดดในด้านการค้า การลงทุน

มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสปป.ลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้นจาก 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 การเติบโตทางการค้าที่พุ่งสูงขึ้นเปิดเผยเมื่อนายสะเล็มไซ คมสิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการและเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญ กระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาวระบุว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคีเติบโตขึ้นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการขายไฟฟ้าของลาวให้กับกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทกัมพูชา 30 แห่งที่ลงทุนในลาวด้วยทุนจดทะเบียน 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 สปป.ลาวและกัมพูชายังคงสานสัมพันธ์ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง การศึกษา กีฬา และความพยายามในการต่อสู้กับการค้ายาเสพติดในระดับท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao_Cambodia_33.php

กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมูลค่าแตะ 11.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาเปิดเผยว่ายอดการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวการเดินทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ที่มูลค่า 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยกัมพูชาได้รับปัจจัยบวกหลังจากประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาทิเช่น เมียนมาร์ บังกลาเทศ และเวียดนาม ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในด้านสภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ในทางกลับกันกัมพูชาและจีนได้จัดหาวัตถุดิบในการผลิตไว้อย่างเพียงพอแล้ว จึงทำให้ประเทศผู้ซื้อหันมาสั่งซื้อสินค้ากับทางกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกัมพูชายังมีสิทธิพิเศษทางด้านการค้า อาทิเช่น EBA และGSP เป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกเสื้อผ้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025229/cambodias-garment-export-nets-11-3-billion-in-2021/

“กัมพูชา-ไทย” วางแผนเปิดพรมแดนใหม่ กระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยว

ทางการกัมพูชาและไทย วางแผนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่ ในช่วงจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชาที่เชื่อมต่อกับจังหวัดตราดของประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงอาคารตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และสรรพสามิต ตลอดจนที่จอดรถ โกดังสินค้า และสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในด้านของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ามากถึง 7.97 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.37 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการนำเข้าจากไทย ได้แก่ สินค้าเกษตร รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารและวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศมีความหวังสูงสุดที่จะผลักดันการค้าทวิภาคีให้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025053/new-cambodia-thai-border-set-to-boost-mutual-trade-and-tourism-say-experts/

พณ.วางแผนปิดเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ในปี 65

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของไทย ในปี 2565 ว่า กรมฯเตรียมเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยและการใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ได้ตกลงเปิดเจรจาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างกำหนดแผนการเจรจาและคาดว่าจะนัดประชุมรอบแรกในเร็วๆ นี้ สำหรับการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ 2 ฉบับ คือ FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) กรมฯ ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่างกรอบการเจรจา ซึ่งดำเนินการใกล้เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังจากการเจรจาร่วมกัน โดยการจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะได้แต้มต่อทางการค้าจากการที่ประเทศคู่ค้าลดเลิกกำแพงภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_292724/

รถไฟสปป.ลาว-จีน เร่งการค้า

รัฐบาลเชื่อว่าการรถไฟลาว-จีนจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างลาวและจีนอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นมูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนของสปป.ลาวอยู่ที่ 1.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของสปป.ลาวเพิ่มขึ้นเป็น 2.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 จีนถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าสปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร หลังจากการเปิดทางรถไฟลาว-จีนในปลายปี 2564 สินค้าเกษตรสปป.ลาวทำเงินได้มากกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันผู้ประกอบการจากประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ กำลังใช้บริการรถไฟเพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าไปและกลับจากจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเสริมสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Railway_to_31.php

‘เวียดนาม’ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ ม.ค.65 เพิ่มขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศประจำเดือนมกราคม 2565 ทีจำนวน 13,000 ราย เพิ่มขึ้น 16% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนถึง 8.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศ แสดงให้เห็นถึงความพยามยามของธุรกิจชุมชนในการต่อสู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการทั่วประเทศในเดือน ม.ค. มีจำนวน 19,100 ราย เพิ่มขึ้น 353% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.64 และเพิ่มขึ้น 194% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ คุณ เหงียน ถิ เฮือง หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าแสดงให้เห็นถึงสัญญาเชิงบวก และยังคงเป็นโมเมนตัมต่อเนื่องจากสิ้นปี 2564 ปีที่แล้ว ตลอดจนมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพของรัฐบาลและหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวของธุรกิจ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1154515/newly-established-enterprises-surge-in-january.html

 

‘อุตฯ การบินเวียดนาม’ พร้อมกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

คุณ Le Anh Tuan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของเวียดนาม ได้เข้าพบหารือกับสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เกี่ยวกับประเด็นเริ่มกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังตลาดที่เคยเปิดเที่ยวบินโดยตรงไปยังเวียดนาม ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งไปกว่านี้แล้ว เวียดนามจะเปิดเที่ยวบินตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ จำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นทีละน้อย เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม ต้องรายงานต่อกระทรวงคมนาคมถึงผลการเริ่มเส้นทางระหว่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้กระทรวงได้สรุปและรายงานต่อนายกรัฐมนตรี

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11166202-vietnam%E2%80%99s-aviation-ready-to-fully-recover-international-flights.html