แรงงานสปป.ลาวมีฝีมือเริ่มกลับมาทำงานที่ไทย

สถิติจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมระบุว่า แรงงานกว่า 246,000 คน ได้เดินทางกลับจากไทยไปยังลาวตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ เมื่อมีการเลิกจ้างจำนวนมาก โดยมีคนประมาณ 150,000 คน ที่เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว นายพงษ์สายศักดิ์ อินทรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า กว่าร้อยละ 50 ของแรงงานที่กลับมาทำงานในสปป.ลาวได้กลับมาทำงานที่ประเทศไทยแล้ว เขายังกล่าวเสริมว่านายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้นและเสนอค่าจ้างที่เหมาะสม ในขณะที่บริษัทในลาวยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่รัฐบาลกำลังจัดตั้งศูนย์จัดหางานในทุกจังหวัดของสปป.ลาวเพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่กลับมาโดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานใหม่แก่พวกเขา ศูนย์แห่งใหม่นี้จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ตลาดแรงงาน ทำหน้าที่เป็นฐานสำหรับการติดตามและรายงานเกี่ยวกับนโยบายการจ้างงานและแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการทำงาน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Skilledlao_22_22.php

ไทย เลิกเก็บภาษี ส่งออกข้าวโพดของเมียนมา

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 65 ถึง 31 สิงหาคมการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา ไปยังไทยผ่านชายแดนเมียวดีจะปลอดภาษี มีการส่งออกไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัน แต่ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตอนนี้มีโกดังข้าวโพดหลายแห่งในเมียวดีสามารถรองรับบรรทุกได้ถึง 500 คันต่อวัน แม้ว่าข้าวโพดจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังจีนได้แล้ว แต่ส่งออกไปยังไทยมากกว่าเนื่องจากจีนมีการเก็บภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวจีน ทั้งนี้การค้าระหว่างสองประเทศต้องหยุดชะงักเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และรถบรรทุกของไทยได้รับอนุญาตให้บรรทุกสินค้าไปยังเขตการค้าและโกดังสินค้าทางฝั่งเมียนมาได้ แต่รถบรรทุกของเมียนมายังไม่ได้รับอนุญาตวิ่งผ่านด่านแม่สอด

ที่มา : https://news-eleven.com/article/224982

รัฐบาล มั่นใจเศรษฐกิจโตตามเป้า ท่องเที่ยว-ส่งออก-การลงทุนต่างชาติ ขยายตัวชัดเจน

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) ตามการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ประเทศและรายได้ครัวเรือน ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณแผ่นดิน 3.1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.07 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.เงินกู้ ควบคู่ไปกับการเติบโตของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ ที่มีตัวเลขยืนยันเป็นที่ประจักษ์

ที่มา:https://www.matichon.co.th/economy/news_316061

ชี้ช่องใช้ประโยชน์ RCEP ส่งออกตลาด เกาหลี-มาเลเซีย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เร่งรัดให้หน่วgdยงานภาครัฐดำเนินการกระบวนการภายในในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP กับเกาหลีใต้และมาเลเซียที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ สำหรับเกาหลีใต้จะยกเว้นภาษีสินค้าให้ไทย 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยยกเว้นภาษีทันที 7,843 รายการ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 และเปิดตลาดเพิ่มเติม 413 รายการ  ส่วนมาเลเซียจะยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าให้ไทย 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยวันที่ 18 มีนาคม 2565 จะยกเว้นภาษีทันที 6,590 รายการ

ที่มา:  https://www.naewna.com/business/632118

บริษัทไทยทุ่ม 1 พันล้านดอลล์สรัฐฯ สร้างเมืองอัจฉริยะในสปป.ลาว

รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศไทย วางแผนที่จะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการก่อสร้างอมตะสมาร์ทแอนด์อีโคซิตี้ในภาคเหนือของสปป.ลาว จะเริ่มในต้นปีนี้ โดยมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 20,000 เฮกตาร์ในระยะต่อไป เมืองอมตะสมาร์ทแอนด์อีโค มีเป้าหมายเพื่อให้บริการนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องจักร การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และยา รวมถึงโลจิสติกส์และคลังสินค้า

อีกทั้งเมืองอัจฉริยะนี้ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟนาทวย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนประมาณ 20 กม. มีสถานีรถไฟสองแห่งซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูระหว่างอาเซียนและจีนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางการค้า การสร้างเมืองอัจฉริยะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว แต่ยังจะส่งเสริมให้นักลงทุนในภูมิภาคนี้ย้ายโรงงานของพวกเขามาที่นี่อมตะมีแผนจะเชิญบริษัทข้ามชาติและรัฐบาลจากจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย มาส่งเสริมโครงการอมตะสมาร์ทแอนด์อีโคซิตี้เพื่อพัฒนาโครงการนี้อย่างเต็มศักยภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Thai_12_22.php

‘พาณิชย์’ ตรึงราคาไก่สดห้างค้าปลีก กก.ละ 60-75 บาท ดีเดย์เริ่ม 18 ม.ค.

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย รายใหญ่ ห้างค้าปลีกค้าส่ง สมาคมตลาดสดแห่งประเทศไทย กรมปศุสัตว์ และสมาคมที่เกี่นวข้อง เห็นตรงกันที่จะตรึงราคาจำหน่ายปลีก ณ ห้างค้าปลีกค้างส่ง ได้แก่ บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส ให้ไก่สดรวมเครื่องใน, ไก่สดไม่รวมเครื่องใน ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่องติดสะโพก ราคา 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่อง, สะโพก ราคา 65-70 บาทต่อกิโลกรัม เนื้ออก ราคา 70-75 บาทต่อกิโลกรัม เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หากพบเห็นว่ามีการกักตุนหรือฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/675931/

ไทยแฉ‘อินเดีย’ตั้งกำแพง กีดกันนำเข้าแอร์/ร้อง‘WTO’ช่วย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศอินเดียกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่บรรจุสารทำความเย็น ออกกฎระเบียบการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และระงับการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเคมีภัณฑ์ของไทย จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าในการประชุม Committee on TBT เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยต่อไป จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการที่ต้องจ้างโรงงานในประเทศอินเดียบรรจุสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ในขณะที่การผลิตในอินเดียสามารถบรรจุสารทำความเย็นและจำหน่ายได้ทันที

ที่มา: https://www.naewna.com/business/629075

ไทยใช้ FTA ปี 2564 10 เดือน ส่งออกโต 31% ทะลุ 6 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มูลค่า 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.67% โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เพื่อส่งออกไปอาเซียนยังคงครองอันดับ 1 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึง 78.51% ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นทุกตลาดและตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539.08 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียนคือ เวียดนาม (มูลค่า 6,290.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 4,805.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,023.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,806.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 2 จีน (มูลค่า 21,372.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,891.79 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,784.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 3,990.80 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับความตกลงการค้าเสรีที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA สูงสุด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ไทย-เปรู (100%) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (96.06%) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (94.54%) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (78.59%) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (70.32%)

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-839857

‘จุรินทร์’รุกค้าชายแดน รับรถไฟ’จีน-ลาว’เปิดวิ่ง

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์  ได้นำคณะจากกระทรวงพาณิชย์มาประชุมร่วมกับภาคเอกชนจากส่วนกลางคือผู้แทนหอการค้า และภาคเอกชนในภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดหนองคายและใกล้เคียง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาวเพื่อใช้ขนส่งสินค้าของไทยไปยังลาวและจีนเพื่อเพิ่มการส่งออก และตัวเลขการค้าชายแดนไทย-ลาว โดยปีที่ผ่านมาการค้าชายแดนไทย-ลาว มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกือบ 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.58% ไทยส่งออกไปลาว 112,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.13% ประเทศไทยได้ดุลประมาณ 31,000 ล้านบาท และหวังว่าจะใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ส่งสินค้าต่างๆไปยังจีนได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเส้นทางรถไฟนี้อนุญาตให้ส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินแร่ ยางพาราและมันสำปะหลัง ไปยังจีนได้ แต่ผลไม้ต้องเจรจากันต่อไป

ที่มา: https://www.naewna.com/business/627734

ดีมานด์ตลาดสิ่งทอพุ่ง หนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและกัมพูชา

อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาไม่สามารถรองรับกับสถานการณ์การขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การส่งออกสิ่งทอของไทยปรับตัวพุ่งสูงขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15 ในปีนี้ ทางด้านสื่อไทยรายงานถึงการส่งออกสิ่งทอที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการในสินค้าทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการผลิตในภูมิภาคเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง อาทิเช่น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงจากโซนยุโรป และสหรัฐฯ โดยโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอของไทยกลับมามีกำลังการผลิตเต็ม 100% อีกครั้ง แต่ยังคงติดอยู่กับปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศของตนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันโรงงานภายในประเทศไทยขาดแคลนแรงงานสูงถึง 30,000-50,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501001754/soaring-demand-from-cambodia-other-countries-leads-to-thai-textile-industry-exports-surging/