เดือนเม.ย.-ก.ค. 65 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ทะลุกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (วันที่ 1 เม.ย.ถึงวันที่ 31 ก.ค.2565) เมียนมามีรายได้จาการส่งออกก๊าซธรรมชาติถึง 819.503  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปริมาณการส่งออกจำนวน 77.89 ล้านกิโลกรัม โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่แล้วจะมาจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมานอกชายฝั่ง 4 โครงการ ได้แก่ ยาดานา, เยดากุน, ฉ่วย และซอติก้า

ที่มา : https://english.news.cn/20220826/0dedf051781f4e5bbbf355a8fc2c2c93/c.html

ราคามะม่วง Yingwe ในเมียนมา ดิ่งลง เมื่อเทียบกับปีก่อน

เกษตรกรในรัฐฉานตอนใต้ เผย เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มะม่วง Yingwe  เกิดความเสียหาย ราคาดิ่งลงอยู่ที่ประมาณ 10,000 จัตต่อตะกร้าลดลงจากปีก่อนที่ 20,000 จัตต่อตะกร้า ทั้งนี้เกษตรกรในรัฐฉานส่วนใหญ่ส่งออกมะม่วง Seintalone และมะม่วง Machitsu ไปยังจีน ส่วนมะม่วง Yingwe ส่งไปขายยังตลาดย่างกุ้งเป็นหลัก จากสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปยังจีนได้ ทำให้เกษตกรมีรายได้ลดลงอย่างมาก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/price-of-yingwe-mango-weak-in-domestic-market/#article-title

ราคาถั่วลิสงในเมียนมา พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ค้าส่งถั่วลิสงในตลาดค้าส่งมัณฑะเลย์ เผย การซื้อขายถั่วลิสงที่เก็บเกี่ยวใหม่เป็นที่ต้องการและยังมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตถั่วลิสงสดจากเมืองเจาะปะด้อง, เมืองตะโก้น, เมืองยะแม่ที่น, เมืองมะกเว และเมืองอองลาน ทยอยเข้าสู่ตลาดมัณฑะเลย์มาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนส.ค.2565  โดยปลายเดือนก.ค.2565 ราคาถั่วลิสงอยู่ระหว่าง 5,300 -5,700 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) และเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2565 ราคาปรับสูงพุ่งขึ้นเป็น 6,000-6,600 จัตต่อ viss  ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเพิ่มขึ้นของราคาถั่วลิสงสด ถึง 600-1,000 จัตต่อ viss  ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันถั่วลิสงก็พุ่งขึ้นเป็น 14,000 จัตต่อ viss   และเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกได้งดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดการขาดแคลนภายในประเทศ  แต่อินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันปาล์มที่สำคัญของเมียนมา ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.เป็นต้นมา เมียนมาต้องระงับการส่งออกพืชน้ำมัน (ถั่วลิสงและงา) เป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ   และเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 เมียนมาได้เริ่มกลับมาส่งออกพืชน้ำมันได้ หลังจากอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกได้เริ่มทะยอยกลับมาส่งออกให้กับคู่ค้าได้อีกครั้ง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/traders-report-brisk-sales-of-newly-harvested-peanuts-at-high-price/#article-title

ราคาหัวหอมตลาดปะโคะกู พุ่งแตะ 3,000 จัตต่อปอนด์

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค.2565 ราคาหัวหอม ณ ตลาดปะโคะกู เขตมะกเว ของเมียนมา พุ่งแตะแตะระดับ 3,000 จัตต่อปอนด์ ขณะที่สัปดาห์แรกของเดือน ราคาอยุ่ที่ 1,700 จัตต่อปอนด์ ส่วนสัปดาห์ที่สองราคาขยับขึ้นเป็น 2,000 จัตต่อปอนด์ สาเหตุเกิดจากบางพื้นที่ประสบปัญหาไม่สามารถเพาะปลูกได้ ส่งผลให้ผลผลิตจึงต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ ในปี 2562 ราคาหัวหอมอยู่ที่ประมาณ 3,000 จัตต่อปอนด์ และตั้งแต่ปี 2563 ถึงกลางปี ​​2565 ราคาดิ่งลงเหลือประมาณ 1,000 จัตต่อปอนด์

 

ที่มา: https://news-eleven.com/article/236144

 

ส่งออกแร่ของเมียนมา ดิ่งลงเหลือ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปีงบประมาณ 2565-2566 ตั้งแต่เดือนเม.ย. จนถึงวันที่ 12 ส.ค.2565 มูลค่าการส่งออกแร่ของเมียนมาอยู่ที่ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณย่อยของปีงบประมาณ 2564-2565 (เดือนม.ค.-เดือนเม.ย.2565) ที่มีมูลค่าส่งออกถึง 254.448 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เหมืองแร่ต้องหยุดดำเนินการจึงกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจเหมืองหินและหยก ในรัฐคะฉิ่นถูกระงับเพื่อสนับสนุนการรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืนและมาตรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจำกัด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์แร่ประมาณ 80% ส่งออกต่างประเทศผ่านการค้าทางทะเล ในขณะที่ 20% จะส่งออกผ่านชายแดน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mineral-exports-down-by-115-mln-as-of-12-august/#article-title

ข้าวปอซานคุณภาพสูง เมืองชเวโบ พุ่งขึ้น 24,000 จัตต่อถุงภายใน 6 สัปดาห์

ราคาข้าวปอซานคุณภาพสูงจากเมืองชเวโบ เขตซะไกง์ ของเมียนมา พบว่า ราคาตลาดภายในประเทศ พุ่งไปถึง 24,000 จัตต่อถุง โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ราคาข้าวคุณภาพสูงเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 49,000 ถึง 66,000 จัตต่อถุง ในขณะที่ราคาข้าวคุณภาพต่ำอยู่ที่ 32,000 ถึง 41,000 จัตต่อถุง แต่เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ราคาข้าวคุณภาพสูงพุ่งขึ้นเป็น 60,000-90,000 จัตต่อถุง ส่วนข้าวคุณภาพต่ำอยู่ที่ 35,500-50,000 จัตต่อถุง ซึ่งการอ่อนค่าของค่าเงินจัตมีผลทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นและความตื่นตระหนกจากการขาดแคลนข้าวของผู้บริโภค ขณะนี้สหพันธ์ข้าวเมียนมา, สมาคมผู้ผลิตและผู้ปลูกข้าวเมียนมา, สมาคมโรงสีข้าวเมียนมา ผู้ค้าและนายหน้าในศูนย์ค้าส่งข้าว กำลังร่วมมือกันจัดทำแผนเการขายข้าวในราคาที่เหมาะสมให้กับผู้บริโภคในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-in-myanmar-in-past-four-months/#article-title

ราคาถั่วลูกไก่ – มันฝรั่งในเมียนมา ทุบสถิติ พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ผู้ค้าที่ส่งสินค้าในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เผย ราคาของถั่วลูกไก่ (Chickpea) และมันฝรั่งในตลาดย่างกุ้งเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยราคาถั่วลูกไก่อยู่ที่ 4,000-4,200 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) และมันฝรั่งอยู่ที่ 1,400-2,400 จัตต่อ viss ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2564 ราคาถั่วลูกไก่อยู่ที่ 2,600-2,700 จัตต่อ viss ส่วนมันฝรั่งจะอยู่ที่ 350-1,100 จัตต่อ viss และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563  ราคาถั่วลูกไก่อยู่ที่ 1,700-1,750 จัตต่อ viss ส่วนมันฝรั่งจะอยู่ที่ 400-650 จัตต่อ viss โดยในประเทศการบริโภคถั่วลูกไก่และมันฝรั่งถือว่าในระดับสูงเพราะเป็นส่วนผสมอาหารหลักของชาวเมียนมา ทั้งนี้จากสังเกตการณ์ของผู้ค้าส่ง พบว่า ผลดีจะไปตกกับเกษตรกรผู้ลูก แต่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่สูงขึ้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/high-grade-shwebo-pawsan-rice-prices-up-by-k24000-per-bag-within-six-weeks/#article-title

ชาวเมียนมา โวย ! ปั้มน้ำมันหลายแห่งจำกัดการขายน้ำมันในประเทศ

คณะกรรมการกลางของเมียนมา เปิดเผยว่า ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องที่มีสถานีบริการน้ำมันหลายๆ แห่ง มีการจำกัดโควต้าในการขายน้ำมันเชื่อเพลิงซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความเดือดร้อนและกังวลเป็นอย่างมาก โดยเรื่องนี้ทางรัฐบาลเมียนมาได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าในเดือนนี้ (เดือนส.ค.2565) ปริมาณน้ำมันเชื่อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ทั้งยังร่วมงานกับสมาคมการค้าปิโตรเลียมแห่งเมียนมาในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้ขาดแคลนและลดความกังวลของประชาชนในประเทศ ปัจจุบัน (วันที่ 16 ส.ค.2565) ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันออกเทน 92 พุ่งจาก 2,365 จัตต่อลิตร, ราคาน้ำมันออกเทน 95 อยู่ที่ 2,445 จัตรต่อลิต, ราคาดีเซลพรีเมียมอยู่ที่ 2,780 จัตรต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 2,700 จัตรต่อลิตร

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/

ราคาน้ำมันในเมียนมา พุ่งขึ้น 3%

ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของเมียนมาร์พุ่งขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ธนาคารกลางเมียนมาจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนของจัตกับค่าเงินต่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 1,850 จัตเป็น 2,100 จัตต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินจัตต่อเงินยูโรจาก 1,884.3 จัตเป็น 2,148 จัตต่อยูโร และเงินจัตต่อเงินหยวนจาก 273.81 จัตเป็น 311.13 จัตต่อหยวน โดยในเมืองการค้าสำคัญอย่างย่างกุ้ง ราคาดีเซลเพิ่มขึ้น 2.58% เป็น 2,185 จัตต่อลิตร, ราคาเบ็นซิน RON 92 เพิ่มขึ้น 4.2% เป็น 1,860 จัตต่อลิตร และราคาเบ็นซิน RON 95 เพิ่มขึ้น 3.78% เป็น 1,920 จัตต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันของประเทศที่นำเข้า เนื่องจากเมียนมานำเข้าน้ำมันถึง 90% เพื่อมาใช้ในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://english.news.cn/20220810/3611c70ec1e5438e9e7abc19ce0be15f/c.html

เดือนก.ค.65 เมียนมาส่งออกยางพาราไปแล้วกว่า 2,900 ตัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนก.ค. 2565 (วันที่ 16-22)  เมียนมาส่งออกยางพารากว่า 2,350 ตัน ทำรายได้ถึง 3.602 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยแบ่งเป็นจีน 1,350 ตัน, มาเลเซีย 130 ตัน, อินเดีย 630 ตัน และอินโดนีเซีย 60 ตัน ขณะที่สัปดาห์นี้มีการส่งออกยางพาราทั้งหมด 500 ตัน โดย 430 ตันผ่านชายแดนเมียนมา – ไทย และอีก 120 ตันผ่านชายแดนเมียนมา – จีน – ทำรายได้ประมาณ 0.618 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันพบว่า ราคายางเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะยางคุณภาพดี ดังนั้นในปีนี้การปลูกยางคุณภาพดีจึงมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการลดการปลูกยางคุณภาพต่ำลง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางภาครัฐ ปัจจุบันเมียนมามีพื้นที่สวนยางพารามากกว่า 1.6 ล้านเอเคอร์ มีพื้นที่เก็บเกี่ยวทั้งสิ้น 850,000 เอเคอร์ มีผลผลิตต่อปีประมาณ  300,000 ตัน และพบว่ามีการบริโภคภายในประเทศเพียงร้อยละ 8 นอกนั้นเป็นการส่งออกทั้งหมด  ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกยางสำคัญของประเทศจะอยู่ในรัฐมอญ, รัฐกะเหรี่ยง,เขตตะนาวศรี ,เขตพะโค ,เขตย่างกุ้ง และเขตอิรวดี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-2900-tonnes-of-rubber-during-julys-second-week/#article-title