เกษตรฯเร่งขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ

กระทรวงเกษตรฯ.รุกขยายตลาดสินค้าฮาลาลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สั่งเร่งลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดภาคใต้อีกทั้งเห็นชอบวิสัยทัศน์ฮาลาล เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 7/2563 ประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ร่วมกับ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐาน “ฮาลาล” ในภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติทั้งระบบ ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” รายงานความก้าวหน้าของโครงการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยผ่านดูไบ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกลุ่มตลาดที่สำคัญในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบ”วิสัยทัศน์ฮาลาล” รวมถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเด็นสำคัญเรื่อง การแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมปนเนื้อสุกร ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ ต่อมาตรฐานสินค้าเกษตรอาหารฮาลาลไทย

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/640268

จุรินทร์ บุกท่าเรือแก้ ตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลน 14 ธ.ค.นี้

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันจันทร์ 14 ธ.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเดินทางไปร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น  พร้อมตรวจเยี่ยมกิจการการท่าเรือ ณอาคารที่ทำการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ด้านนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation) กลับไปยังประเทศจีนและเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย และการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางสรท.ได้ขอให้สายเรือคงอัตราค่า Local Charge เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทย และขอให้ภาครัฐควรพิจารณามาตรการจูงใจให้สายเรือนำตู้เปล่ามายังประเทศไทย เช่น การยกเว้นค่ายกขนตู้เปล่ากลับมาประเทศไทย การยกเว้นค่าภาระท่าเรือให้กับเรือขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว และขอให้ภาครัฐเจรจาในระดับประเทศเพื่อหาแนวทางส่งตู้ส่วนเกินในประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออก กลับมาให้ประเทศไทย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911654

เศรษฐกิจปีหน้าจะโต 4% ต้องทำอะไรอีกมาก

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบ 12.1% แล้วก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดการระบาดวงกว้างรอบ 2 จนถึงระดับที่จะต้องประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าถึงระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การส่งออกที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยสูงก็ยังต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของการค้าโลกในปี 2564 ด้วย ซึ่งต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการในระยะยาวอาจต้องลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยนมาพึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911383

ทางหลวงเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ทิศตะวันตกเริ่มเดินหน้าก่อสร้างในปีหน้า

คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเผยการก่อสร้างทางหลวงสองช่องจราจรความยาว 140 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (SEZ) ในเขตตะนาวศรีไปยังเกาะเตกีที่ชายแดนไทยจะเริ่มในกลางปี 2564 กระทรวงการก่อสร้างจะเป็นผู้ดูแลโครงการด้วยเงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านของไทย (NEDA) ทั้งนี้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสังคมเพิ่งได้รับการอนุมัติ กระทรวงการวางแผนการเงินและอุตสาหกรรมเตรียมลงนามในสัญญาเงินกู้กับ NEDA. และคาดว่าจะมีการประมูลราคาในปีหน้า เมื่อเดินทางจาก SEZ จะใช้เวลาประมาณ 2.5 ชั่วโมงเพื่อไปยังเตกีโดยรถยนต์และอีก 2 ชั่วโมงยังกรุงเทพฯ การพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นเสนอให้ลงทุนใน SEZ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยชาวญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในการลงทุนและพัฒนา มูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 20,000 เฮกตาร์ซึ่งจะดำเนินการเป็นระยะ ๆ และรวมถึงท่าเรือน้ำลึกและ high-tech zones

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/construction-highway-connecting-dawei-sez-htikhee-commence-next-year.html

ก.พาณิชย์สำรวจคนแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด5หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ สำรวจแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน ขรก. นักศึกษาช้อปเยอะขึ้น ส่วนใหญ่ เสื้อผ้า รองลงมาอาหาร ส่วนมาตรการรัฐ คนติดใจ คนละครึ่งมากสุด รองลงมาเป็นชิมช้อปใช้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า  สนค. ได้ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง  35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยผู้ที่มีรายได้สูง จะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มสมัยใหม่ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โลตัส บิ๊กซี วัตสัน โรบินสัน 25.32% และผ่านเฟซบุ๊ก 16.44% สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 49.23% รองลงมา 1,001–3,000 บาท  37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% โดยสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69%  และสุขภาพและความงาม ของใช้ส่วนบุคคล  17.71% สนค.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน  7.70% โดยประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภคเพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/811499

จุรินทร์ ปลื้มราคาปาล์ม-ยางดีขึ้นมาก ช่วยหนุนรายได้เกษตรกร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางไปติดตามสถานการณ์ราคายางพารากับปาล์มน้ำมัน รวมทั้งมาตรการประกันรายได้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นข่าวดีที่ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันดีขึ้นมากในช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา โดยราคาปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ กิโลกรัมละ 6-7 บาท และราคายางพาราเหนือกว่าเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรชาวภาคใต้และเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศสามารถมีรายได้ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 มีเป้าหมายกิโลกรัมละ 60 บาท แต่วันนี้ขึ้นไปกิโลกรัมละ 60-65 บาท ยางแผ่นรมควันแตะ 70 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางข้น มีเป้าหมายกิโลกรัมละ 57 บาท วันนี้อยู่ที่ 55-56 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 22 บาท ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งถือว่าราคายางอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่แล้ว ที่ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนปีนี้อยู่ที่กว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามหากราคาปรับลดลง รัฐบาลก็ยังมีนโยบายประกันรายได้ที่จะเข้าไปชดเชยส่วนต่างที่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาทสำหรับยางแผ่น และต่ำกว่ากิโลกรัมละ 57 บาทสำหรับน้ำยางข้น และกิโลกรัมละ 23 บาท สำหรับยางก้อนถ้วยชดเชยให้กับเกษตรกร

ที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq03/3181861

พาณิชย์ ดึง มินิเอฟทีเอ แต้มต่อดันส่งออกปี 64

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการผลักดันการส่งออกในปี 64 ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เพื่อนำเงินเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งได้กำหนดแผนงานโครงการไว้ชัดเจนหมดแล้ว มีจำนวนรวม 343 กิจกรรม ในประเทศ 135 กิจกรรม และในต่างประเทศ 208 กิจกรรม เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด และการผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าไทย นอกจากนี้ จะใช้นวัตกรรมใหม่การทำการค้าแบบลงลึกต้องทำมินิเอฟทีเอ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อเอง โดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน จะทำข้อตกลงทางการค้าเฉพาะกับมณฑล หรือรัฐ หรือเมืองของประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่าบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนให้กับผู้ประกอบการของไทย สำหรับการส่งออกในปี 63 ถือว่าไทยทำได้ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ที่ประสบปัญหาโควิด-19 โดยการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากที่เคยติดลบหนักในช่วงโควิด-19 ระบาด และค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะติดลบเพียบ7%และปีหน้าจะบวกได้4%ซึ่งเป็นผลมาจากทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตามการส่งออกในปีนี้ยังมีอุปสรรคที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การค้าชายแดน ที่ล่าสุดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ทำให้จำเป็นต้องปิดด่าน โดยเมียนมาเดือนต.ค.ลบ40% สปป.ลาว ลบ 21%กัมพูชา ลบ17% เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่จะใช้ในการส่งออก เพราะได้ดุลการค้ามากไป นำเข้ามาน้อย แต่ส่งออกไปมาก ทำให้ตู้ขาดแคลน ซึ่งจะเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาต่อไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/910733

จับตาครมไฟเขียวแผนแม่บทเฉพาะกิจสู้โควิด-19

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอครม.เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2564-65 ฉบับสมบูรณ์ และร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมจะพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงต่างๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-65 ฉบับสมบูรณ์ และร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ขณะที่กระทรวงการคลัง เสนอการออกพันธบัตรเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งยังเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 9 และมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 นอกจากนี้ยังเสนอร่างประกศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรลดและเพิ่มอัตราอากรศุลกากรตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อขยายระยะเวลาการลดอัตราอากรในโควตาสำหรับสินค้ากากถั่วเหลือง และเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบ ลักษณะ ราคา และรายละเอียดของบัตรภาษี ส่วนกระทรวงพลังงาน เสนอร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และกระทรวงคมนาคม เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/810084

ติวเข้มเกษตรกรมุ่งใช้เอฟทีเอส่งออกสินค้าท้องถิ่น

‘พาณิชย์’ ลงพื้นที่ตั้งวงให้ความรู้เกษตรกรไทย ดันสินค้าเกษตรอินทรีย์-ผ้าย้อม เจาะตลาดส่งออก แนะใช้เอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อคู่ค้า สร้างรายได้ในชุมชน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 – 29 พ.ย. 2563 กรมฯ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในพื้นที่อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ดินแดน “หุบเขาเกษตรอินทรีย์”เพื่อสำรวจศักยภาพสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญให้กับสหกรณ์ เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สร้างเครือข่ายผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ที่ได้มีการลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่เกษตรกรในอำเภอหนองบัวแดง จะพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ  ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ พบกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ อาทิ ผ้าย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง   ทอลวดลายแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นลงบนผืนผ้า ซึ่งได้รับความนิยมมากทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ 3.6 ล้านบาทต่อปี   กล้วยหอมทอง(ส่งออกไปญี่ปุ่น)  มีรายได้ 2.4 ล้านบาทต่อปี    ด้านกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโหล่น ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออกไปประเทศเกาหลีใต้ จีน และเวียดนาม มีรายได้ 63 ล้านบาทต่อปี สำหรับสถิติการค้าระหว่างประเทศปี 2563 ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2563) พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ของไทยไปประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มีมูลค่ารวมกว่า 12,288.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 70.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปโลก โดยยังคงขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 จึงมีโอกาสสูงที่การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก อันดับ 2 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกกล้วยหอมสดสู่ตลาดโลก 2,800 ตัน มูลค่ากว่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดสำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน และกัมพูชา นอกจากนี้ ไทยยังครองตำแหน่งผู้ส่งออกมะม่วง อันดับ 1 ของอาเซียน  มีปริมาณ 8.5 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญ คือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/639140

ศุภชัย มั่นใจปีหน้า เศรษฐกิจไทย กลับมาเติบโต

นายศุภชัย  พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทาเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างไร ในวิกฤตไทย วิกฤตโลก” ภายในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐไทย และทุกประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่จีนได้ฟื้นตัวจากภาวะโควิดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลดีกับประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกติดกับห่วงโซ่การผลิตของจีนสูงมาก ประกอบกับไทยรับมือกับปัญหาโควิดได้ดี และประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ CLMV ได้รับผลกระทบจากโควิดไม่รุนแรง ทำให้การส่งออกของไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้นในทุก ๆ ไตรมาส อาจทำให้ GDP ปีนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คาดไว้ ส่วนการส่งออกในปีหน้าก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ ธปท. เข้ามาดูแลในเรื่องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนกระทบต่อการส่งออกนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากเศรษฐกิจโลกดีการส่งออกก็จะดีตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรจะเร่งปรับตัวขยายหาตลาดใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าเงินอ่อน นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลอย่างเพิ่งเร่งเปิดประเทศ ควรจะเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เปิดทีละนิดแล้วตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติที่ควรเปิดให้เข้าประเทศ คือ กลุ่มนักลงทุน ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงาน แก้ปัญหาการว่างงานได้ตรงจุด โดยควรจะแก้ไขกฎระเบียบเข้าประเทศให้ง่ายขึ้น แต่จะต้องผ่านกระบวนการตรวจโควิดที่เข้มงวด

ที่มา :  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/909828