กัมพูชาหวังรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง หนุนโลจิสติกส์ภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการริเริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพระบบรางทางรถไฟสายเก่าที่มีอยู่ ให้เป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สาย เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญเข้ากับพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคการขนส่งภายในประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างกัมพูชาและไทยเป็นสำคัญ รายงานโดยกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา ซึ่งกระทรวงฯ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสาย พนมเปญ-ปอยเปต คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัท China Bridge and Road Corporation (CRBC) โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และคาดว่าจะเป็นช่องทางหลักสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงเชื่อมไปยังจังหวัดกัมปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และบันทายมีชัย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229019/three-high-speed-rails-to-diversify-transportation/

กัมพูชาอนุมัติสามโครงการลงทุนใหม่มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 18 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการแรกเป็นของ บริษัท New Target Footwear (Cambodia) Co., Ltd. โครงการที่สองเป็นของ บริษัท Golden Island Garments (Cambodia) Co., Ltd. และโครงการที่สามเป็นของ บริษัท Jin Long Quan (Cambodia) Co., Ltd. โดยทั้งสามบริษัทจะลงทุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตรองเท้าและเสื้อผ้า รวมถึงการผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และหมวกในจังหวัดตาแก้วและกันดาล ซึ่งคาดว่าจะเกิดการจ้างงานเกือบ 5,000 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501227974/three-more-projects-worth-18-million-approved/

กัมพูชาส่งออกไปยังออสเตรเลียโตกว่า 85% ในช่วงปีก่อน

ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังออสเตรเลียเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 84.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 523 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวร้อยละ 60.9 เทียบกับปี 2021 ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับออสเตรเลียที่ 234 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยกัมพูชาเน้นการส่งออก เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทางไปยังออสเตรเลีย ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชา ได้แก่ ถ่านหิน เครื่องจักร และธัญพืช เป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501227589/kingdoms-exports-to-australia-surge-by-85/

รายได้ต่อหัวในจังหวัดพระตะบองเพิ่มขึ้นเป็น 1,760 ดอลลาร์ ในช่วงเวลา 5 ปี

จังหวัดพระตะบองซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา มีการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในจังหวัดมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้มีโรงงานและสถานประกอบการจำนวนมากเข้ามาจัดตั้งภายในจังหวัด ซึ่งเศรษฐกิจภายในจังหวัดขยายตัวร้อยละ 2.3 ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,760 ดอลลาร์ในปี 2022 จาก 1,534 ดอลลาร์ ในปี 2018 ด้าน Sok Lou ผู้ว่าการจังหวัดพระตะบอง กล่าวเสริมว่า ในจังหวัดมีบริษัทและโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังและข้าวโพด โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานยา โรงงานแปรรูปกระดาษ โรงงานรองเท้า และวิสาหกิจอื่นๆ ทั้งหมดสิ้น 736 แห่ง สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 14,973 คน โดยจังหวัดพระตะบองมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งทำให้เอื้อต่อการค้า การท่องเที่ยว การขนส่ง ความร่วมมือ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501226407/battambangs-per-capita-income-rises-to-1760-in-five-years/

กัมพูชาคาด GDP ปี 2023 โต 5.6%

กัมพูชาคาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 ตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา หลังจากในปี 2022 เศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัวร้อยละ 5.2 แม้จะเผชิญกับความไม่แน่นอนทั่วโลก อย่างเช่น สงครามยูเครนรัสเซียที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการฟื้นตัวของโควิด-19 ทั่วโลก นำโดยภาคธุรกิจที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 11.7 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก อาทิเช่น เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชาคาดว่าจะมีการเติบโตอยู่ในช่วงร้อยละ 5.5 ในปีนี้ สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวอย่างน้อยร้อยละ 30 ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมายังกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 2.28 ล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501226196/cambodia-expects-5-6-gdp-growth-in-2023/

กัมพูชาพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงนาม FTA กับสวิตเซอร์แลนด์

กัมพูชามองหาโอกาสลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะกับสวิตเซอร์แลนด์ หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Pan Sorasak เข้าหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Helene Budliger Artieda ในระหว่างการประชุม World Economic Forum ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ โดยปัจจุบันการค้าระหว่างกัมพูชาและสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในปี 2020 มูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 379 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 974 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 โดยปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนาม FTA ระหว่างจีนและเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงยังได้มีการพูดคุยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของประเทศกัมพูชาเอมิเรตส์ (CAM-UAE CEPA) พร้อมกับการมองหาโอกาสในการทำข้อตกลงที่คล้ายกันกับญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501225199/cambodia-looks-at-fta-possibility-with-switzerland/

กัมพูชาเดินหน้าสร้างทางเดินรถไฟความเร็วสูง พนมเปญ-ปอยเปต

กัมพูชาเดินหน้าสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กรุงพนมเปญ-ปอยเปต ที่เป็นจังหวัดซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยใช้เงินกู้สัมปทานจากจีน ภายใต้การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโดย China Road and Bridge Corporate (CRBC) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระยะทางเดินรถไฟความเร็วสูงจะมีความยาวอยู่ที่ 382 กม. ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ และจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยจะมีสถานีย่อยอย่างน้อย 33 แห่ง ตลอดเส้นทางเดินรถ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงคาดว่าจะใช้ความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กม./ชม. ต่างจากปัจจุบันที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 30 กม./ชม. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรองรับภาคการขนส่งและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดและเมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทาง ในขณะที่ปัจจุบันกัมพูชามีเส้นทางรถไฟอยู่สองสาย สายใต้เชื่อมระหว่างพนมเปญกับสีหนุวิลล์ และสายเหนือเชื่อมเมืองหลวงกับปอยเปต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501225200/cambodia-puts-high-speed-train-on-track/

FDI ในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยกว่า 8.1% ในช่วงปี 2017-2021

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ภายในกัมพูชาขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี ในช่วงปี 2017-2021 ตามรายงานแนวโน้มด้านการค้าและการลงทุนเอเชียแปซิฟิกปี 2022-2023 โดยในปี 2021 ปริมาณ FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.9 แต่ถึงอย่างไรต้นทุนการดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาก็ยังต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก-3 อย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งในปี 2020 ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 96.4 ของมูลค่าสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป-3 (เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) และเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก-4 (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และสหพันธรัฐรัสเซีย) ที่มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 104.2 และ 145.4 ของมูลค่าสินค้า ตามลำดับ โดยในปี 2021 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชายังคงเป็นจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ขณะที่การนำเข้าจากจีนของกัมพูชามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 33.8 ของการนำเข้าทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224868/average-annual-fdi-inflow-growth-of-8-1-in-cambodia-from-2017-to-2021/

คาด FTAs, RCEP ผลักดันการลงทุนเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

กัมพูชาคาดดึงดูดการลงทุนใหม่ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงกฎหมายเพื่อการลงทุนฉบับใหม่ ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัตถกรรม กล่าวว่า การที่กัมพูชาจัดทำข้อตกลงการค้ากับหลายๆ ประเทศ จะทำให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดโลกได้มากขึ้น แม้จะมีวิกฤตโลก อาทิเช่น สงครามระหว่าง ยูเครน-รัสเซีย, วิกฤตพลังงาน และการเงิน โดยปัจจุบัน กัมพูชามี FTA อยู่หลายฉบับ เช่น FTA กัมพูชา-จีน, RCEP ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2022 รวมถึง FTA กัมพูชา-เกาหลี ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่กระทรวงฯ ได้รายงานการจดทะเบียนโรงงานใหม่ 186 แห่ง ในปี 2022 ทำให้จำนวนโรงงานที่เปิดดำเนินการทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 1,982 แห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 16.690 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 13.811 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501224876/bilateral-ftas-rcep-expected-to-drive-new-industrial-investment-inflows/

ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงของกัมพูชาพุ่งสูง 52% ในปี 2022

ต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงกัมพูชา อาทิเช่น น้ำมันและก๊าซขยายตัวกว่าร้อยละ 52.6 ในปี 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 รวมถึงมาตรการจำกัดการเดินทางต่างๆ ในขณะที่ปี 2021 กัมพูชาได้นำเข้าเชื้อเพลิงอยู่ที่มูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถผลิตเองได้ ด้าน Suy Sem รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน กล่าวว่า ความต้องการเชื้อเพลิงในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501223912/cambodias-fuel-import-cost-shot-up-over-52-in-2022/