กัมพูชาวางโครงการสายส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อทำการนำเข้าพลังงานไฟฟ้า

กระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (MME) ระบุว่าการก่อสร้างสายส่งกำลังไฟฟ้ามูลค่ารวมกว่า 400 ล้านดอลลาร์ที่เชื่อมระหว่างกัมพูชากับสปป.ลาวและชายแดนไทยจะแล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและภาคเอกชน โดยรัฐบาลผ่านคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการลงทุนสายส่งกำลัง 500 กิโลโวลต์ จากพนมเปญไปยังชายแดนกัมพูชา-สปป.ลาวและสายส่งกำลังอีก 500 กิโลโวลต์จากพระตะบองถึงชายแดนกัมพูชา-ไทย ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพลังงานของ MME กล่าวว่ารัฐบาลได้เชิญ SchneiTec Co Ltd. เข้าลงทุนใน 2 โครงการนี้หลังจากที่ได้เสนอให้บริษัททำการศึกษาทางเทคนิคและการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้ โดยกล่าวว่าสายส่งกำลังที่เชื่อมต่อไปยังชายแดน สปป.ลาว จะมีความยาว 300 กม. และอีกสายหนึ่งจากจังหวัดพระตะบองถึงชายแดนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 110 กม. ซึ่งกัมพูชาคาดว่าจะนำเข้าไฟฟ้าประมาณ 300 mW จากโรงงานในเฟสแรกภายในปี 2025 และอีก 300 mW ในปีต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50777612/400-million-transmission-line-to-bring-in-laos-thailand-power/

ไทยยืนหนึ่งในอาเซียนด้านโครงการ Digital Transformation

“เจโทร” พร้อมหนุน 7 โครงการนำร่องด้านนวัตกรรมดิจิทัล “Digital Transformation” ในประเทศไทย เผยจำนวนโครงการที่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในอันดับต้นของอาเซียน โดยทางเจโทรอนุมัติโครงการทั้งหมด 23 โครงการ ซึ่งโครงการทั้ง 7 โครงการในประเทศไทยนั้น ครอบคลุมสาขาที่มีความหลากหลาย อาทิ โครงการด้านการเกษตร การประมง การแพทย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ พลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯได้ให้การสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด และเจโทรจะยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือบริษัทญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้นต่อไปกล่าวโดยประธานเจโทร กรุงเทพฯ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/world/454561

รัฐบาลสปป.ลาวคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3

รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสปป.ลาวจะเติบโตร้อยละ 3.3 ในปีนี้ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเดียวกันที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมิถุนายน แม้ว่าจะมีการจำกัดการเดินทางที่ยืดเยื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ  COVID-19 ยังคงดำเนินต่อไป นายทองเจือ สีสุลิธนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว กล่าวเพิ่มเติมว่า“ เราประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาหลายปีแล้วยังมีปัจจัยด้านสภาพอากาศที่รุนแรงและการระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของสปป.ลาว” นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เกิดภาระมากขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่มาของการร่างแผนระยะสั้นระยะกลางและระยะยาวเพื่อจัดการกับหนี้สินและลดการขาดดุลการคลังในแต่ละปี รัฐบาลจะไม่รับเงินกู้จากต่างประเทศอีกต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการคลัง นายกรัฐมนตรียอมรับว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงแต่มองในแง่ดีว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าอัตราการเติบโตของโลกที่คาดการณ์ในปี 63 จะหดตัวถึงร้อยละ -4.4

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Economic_210.php

ใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีลดฮวบ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในเดือน ม.ค.-ก.ค.63 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิรวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นเอฟทีเอ 32,875.25 ล้านเหรียญฯ ลด 15.88% และจีเอสพี 2,546.60 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.61% ทั้งนี้ “แม้ภาพรวมการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป แม้มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง อาหารปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น” นอกจากนี้ การใช้สิทธิเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 11,152.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.84% รองลงมาอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1962459

สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกัมพูชา

ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) กล่าวว่าภาคธนาคารยังคงมีความมั่นคงจากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่จัดการได้ในช่วง COVID-19 และอุทกภัยที่ผ่านมา โดยธนาคารกำลังติดตามผลกระทบต่อลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ภายใต้การจัดการของอุตสาหกรรม โดย NPLs ตอนนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ก่อนหน้า COVID-19 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.3 ดังนั้นการเติบโตของ NPL จึงอยู่ในระดับต่ำ ณ เดือนตุลาคมสถาบันการเงินได้ให้การปรับโครงสร้างเงินกู้แก่ลูกค้ามากกว่า 280,000 ราย ซึ่งคิดเป็นวงเงินประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมการเงินรายย่อยกัมพูชา (CMA) แสดงให้เห็นว่าสมาชิก CMA ได้ปรับโครงสร้างเงินกู้สำหรับลูกค้า 265,000 ราย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ภายในกลางเดือนตุลาคม NPL ในภาคการเงินรายย่อยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของทั้งหมดในเดือนกันยายน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50777269/non-performing-loans-rise-but-only-by-a-slight-margin/

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนลงทุนบนเกาะ Norea ราว 2.5 พันล้านดอลาร์

รัฐบาลกัมพูชาเตรียมการอัดฉีดเงินลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาเมืองแห่งใหม่บริเวณเกาะนอเรียทางตะวันออกของเมืองหลวงในช่วงสามปีข้างหน้า โดยจะลงทุนประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของโครงการทั้งหมด โดยบริษัท OCIC ร่วมพัฒนาบนพื้นที่ 125 เฮกตาร์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของโครงการก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 27 สำหรับการพัฒนาครั้งต่อไปบริษัทกำลังสร้างสะพานคอนกรีตสองแห่งข้ามแม่น้ำบาสัก โดยการพัฒนาเกาะนอเรียจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายด้าน จากการบรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการขนส่ง และเป็นการพัฒนาสังคม ทั้งรองรับผู้อยู่อาศัยได้ราว 50,000 คน ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในกัมพูชา โดยรัฐบาลได้เรียกร้องให้บริษัทภาคเอกชนทุกแห่งดำเนินธุรกิจและทำการลงทุนในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50777087/2-5b-investment-for-koh-norea-ocic/

เวียดนามเผยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เม็ดเงิน FDI แตะ 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานทางสถิติของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 7.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.9 ของยอดการลงทุนรวมในเวียดนาม รองลงมาเกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ไทยและไต้หวัน (จีน) ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่และการปรับเพิ่มเงินทุน รวมถึงเม็ดเงินทุนจากการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ อยู่ที่ 23.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 20 ต.ค. ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปได้รับการดึงดูดจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ด้วยมูลค่ารวม 10.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.7 ของยอดเงินทุนจดทะเบียนรวม นอกจากนี้ จังหวัดบักเลียว (Bac Lieu) ยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเงินทุน FDI มากที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมานครโฮจิมินห์, ฮานอย, บ่าเสียะ-หวุงเต่า, บิ่ญเซืองและไฮฟอง ตามลำดับ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/fdi-reaches-us2348-billion-in-ten-months-813090.vov

เวียดนามเป็นศูนย์กลางทางการลงทุน FDI ในเอเชีย

เดอะ ยูเรเซีย ไทมส์ (The Eurasian Times) ได้เผยแพร่บทความที่ระบุว่าเวียดนามกลายเป็นเสือเศรษฐกิจในเอเชีย ด้วยค่าเฉลี่ยของการลงทุน FDI มากกว่าร้อยละ 6 ของ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประกอบกับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่ายอดการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นต้น รวมถึงนโยบายการลงทุนที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เขตอุตสาหกรรมและการจัดหาแรงงานวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้เวียดนามเป็นจุดมุ่งหมายของนักลงทุนต่างชาติ เมื่อกระแสการลงทุนไปยังจีนเริ่มหดตัวลง ทั้งนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเวียดนามได้ เนื่องจากรัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษี การชะลอการจ่ายภาษีและปรับปรุงค่าธรรมเนียมของการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินธุรกิจ รวมถึงแก้ไขกฎหมายการลงทุนและข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เวียดนามดึงดูดเม็ดเงิน FDI สูงถึง 2.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-emerges-as-fdi-hub-in-asia-the-eurasian-times-25442.html

ตู้คอนเทนเนอร์อาหารทะเล 20 ตู้จอดเกยตื้นที่ท่าเรือซาอุฯ

ตู้คอนเทนเนอร์อาหารทะเลของเมียนมาราว 20 ตู้พยังคงติดค้างอยู่ที่ท่าเรือเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สำนักงานอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย (SFDA) จัดทำข้อตกลงเพื่ออนุมัติรายชื่อโรงงานประมงของเมียนมาร์ที่นำผลิตภัณฑ์ไปแปรรูป สินค้าดังกล่าวมาถึงท่าเรือตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมเมื่อซาอุดิอาระเบียยึดตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนราว 30 ตู้มูลค่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ ซึ่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 10 ตู้ได้ผ่านพิธีการศุลกากรหลังจากที่ SFDA อนุมัติโรงงาน 3 แห่งจาก 19 แห่งที่ยื่นขอในซาอุดิอาระเบีย ยังเหลือตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 20 ตู้ที่ท่าเรือเจดดาห์ซึ่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับรองโดย SFDA ในปีนี้มีเพียง Ywar Thar Gyi Cold Store ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานห้องเย็น 19 แห่งจากเมียนมาที่ได้รับการอนุมัติจากทางการซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 63 ที่ผ่านมา SFDA ได้อนุมัติโรงงานห้องเย็นได้แก่ Twin Brothers Seafood Cold Storage, Mega Marine Frozen Seafood และ Delta Queen International Co.

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/20-containers-seafood-stranded-saudi-port.html

ธนาคารโลกจัดหาเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับธุรกิจขนาดเล็กในสปป.ลาว

ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินสำรองฉุกเฉินจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในสปป.ลาวเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของ Covid-19 การระดมทุนจะดำเนินการผ่านโครงการ ‘Micro, Small, and Medium Enterprise Access to Finance Emergency Support and Recovery Project’ ของธนาคารโลกซึ่งจะทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและสถาบันการเงินในท้องถิ่น เพื่อให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งมีโอกาสได้รับเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนที่สามารถรักษาธุรกิจของตน เพื่อการลงทุนสำหรับอุปกรณ์ใหม่หรือการขยายโรงงาน ทั้งนี้บริษัทเผชิญกับการลดลงอย่างรวดเร็วของอุปสงค์ รายได้ ซัพพลายเชน และการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก ส่งผลผลให้บริษัทหลายแห่งจะเลิกจ้างพนักงานและจะต้องปิดถาวร โครงการใหม่นี้จะช่วยให้ MSME ปกป้องการดำรงชีวิตของพนักงานและลดปัญหาการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธนาคารแห่งสปป. ลาวในการกำกับดูแลระบบค้ำประกันสินเชื่อจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ภายใต้โครงการ นอกจากนี้จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธนาคารพาณิชย์ บริษัทขนาดเล็ก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและสถาบันอื่น ๆ ที่เข้าร่วม โดยธุรกิจต้องจดทะเบียนบริษัทขนาดย่อย ขนาดเล็ก หรือองค์กรเอกชนขนาด จึงจะมีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ภายใต้โครงการ การตัดสินใจในการให้สินเชื่อและการกำหนดราคาของเงินให้สินเชื่อจะให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมเป็นผู้พิจารณาจากการประเมินเครดิตของตนเอง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Worldl_209.php