แนวโน้ม FDI ในเมียนมาร์ : ภาคพลังงานเป็นผู้นำด้วยมูลค่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทรายงานว่าในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 ภาคพลังงานกลายเป็นผู้รับการลงทุนจากต่างประเทศสูงสุด โดยดึงดูดเงินได้มากกว่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมีรายได้ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคการขนส่งและการสื่อสารด้วยการลงทุน 77.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างเดือนเมษายน-ธันวาคม 2566 ทั้งนี้ ในทางตรงกันข้าม ภาคบริการมีการลงทุนน้อยที่สุดเพียง 0.809 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโดยรวมแล้ว มีการลงทุนใน 7 ภาคส่วนมีมูลค่าทะลุ 602 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างประเทศลดลงอย่างมากเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีมูลค่าเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภูมิทัศน์การลงทุนของเมียนมาร์ประกอบด้วย 7 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์และการประมง การผลิต พลังงาน การขนส่งและการสื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fdi-trends-in-myanmar-energy-sector-leads-with-us374m/#article-title

บริษัทสัญชาติไต้หวัน สนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และยานยนต์ กัมพูชา

Far East Trade Service Inc พนมเปญ (FETPP) บริษัทสัญชาติไต้หวัน ซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัท TAITRA กำลังสำรวจโอกาสในการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และยานยนต์ ด้วยความช่วยเหลือจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ด้าน Suon Sophal รองเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชา (CIB) ได้ร่วมสนทนากับ Chen I-Hua ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FETPP โดย Sophal ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลกัมพูชา (RGC) ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มุ่งสร้างกรอบกฎหมายที่เปิดกว้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติตามความจำเป็น ตลอดจนการดำเนินการตามแผนงานสำหรับการพัฒนาภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501430458/taiwan-firm-keen-to-invest-in-agri-food-automotive-sectors/

กัมพูชาเร่งกระจายความเสี่ยงสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม

อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มยังคงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา แต่อุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มก็ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย Hem Vanndy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้กล่าวไว้ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กัมพูชาเริ่มมีความหลากหลายทางอุตสาหกรรม โดยยกระดับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสู่เสื้อผ้าแบรนด์เนมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า สำหรับอุตสาหกรรมนอกเหนือกัมพูชาได้ดึงดูดนักลงทุนอย่างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภาคส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจกัมพูชาในอนาคต ถือเป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ได้พึ่งพาภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มเพียงอย่างเดียว สำหรับการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์การเดินของกัมพูชา (GFT) มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 11.12 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ลดลงร้อยละ 12 จากมูลค่า 12.68 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501430497/cambodia-diversifying-into-non-garment-industry/

‘เวียดนาม’ ชี้ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ม.ค. พุ่ง ส่งสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจประเทศ

สำนักงานการจดทะเบียนธุรกิจ กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมกราคม 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจำนวน 13,536 ราย เพิ่มขึ้น 24.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดการจดทะเบียนธุรกิจใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการจำนวน 27,335 ราย เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ย 1.3 เท่า ตั้งแต่ปี 2561-2566

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นของภาคธุรกิจต่อการดำเนินนโยบายภาครัฐฯ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีการปิดกิจการชั่วคราวในเดือน ม.ค.67 มีจำนวนสูงถึง 43,925 ราย เพิ่มขึ้น 25.5% ส่งผลให้ธุรกิจถอนตัวออกจากตลาดมีถึง 53,888 ราย เพิ่มขึ้น 22.8%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/increasing-number-of-new-firms-gives-rosy-signs-to-national-economy-post1074440.vov

 

‘เวียดนาม’ เผยตัวเลขเงินเฟ้อ ม.ค. เพิ่มขึ้น 3.37%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 3.37% เมื่อเทียบเป็นรายปี และปรับตัวขึ้น 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ม.ค.67 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากมาจากราคายาและค่าบริการด้านสุขภาพที่ 1.02% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้าง 0.56% ค่าบริการขนส่ง 0.41% กลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ 0.4% อาหารและบริการจัดเลี้ยง 0.21% ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ไปรษณีย์และโทรคมนาคม (0.05%) และการศึกษา (0.12%)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/consumer-price-index-rises-337-in-january/276934.vnp

จีน-ไทย ลงนามฟรีวีซ่า มีผลบังคับใช้ 1 มีนาคม 2567

นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กล่าวในที่พิธีลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนและไทยว่า จีนและไทยจะเข้าสู่ “ยุคปลอดวีซ่า” อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าร่วมกัน และกล่าวเสริมว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนในระดับทวิภาคีจะยกระดับขึ้นไปอีกอย่างแน่นอนภาพ นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้จีนยังยินดีต้อนรับประชาชนไทย ในการสัมผัสถึงความมีชีวิตชีวาของจีน และการต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะเจ้าบ้านของจีน โดยจีนและไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน สิ่งสำคัญคือเราทั้งสองประเทศจะต้องสร้างมิตรภาพที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จีนจะสนับสนุนประเทศไทยในการทำหน้าที่เป็นประธานหมุนเวียนของความร่วมมืออนุภูมิภาคล้านช้าง-ลุ่มแม่น้ำโขง และในการพัฒนาชุมชนล้านช้าง-แม่น้ำโขงด้วยอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ที่มา : https://english.news.cn/20240128/d574bf62f149493c993a19078d2ca5ad/c.html

ราคาอ้างอิงขายส่งน้ำมันปาล์มของย่างกุ้ง พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดประจำสัปดาห์ที่สอง

ตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการนำเข้าและจัดจำหน่ายน้ำมันบริโภคระบุว่า อัตราอ้างอิงการขายส่งน้ำมันปาล์มสำหรับตลาดย่างกุ้งถูกกำหนดให้เป็นระดับสูงสุดประจำสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยอัตราอ้างอิงสำหรับสัปดาห์นี้ สิ้นสุดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 กำหนดไว้สูงกว่าที่ 5,380 จ๊าดต่อ viss เทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-28 มกราคม) อยู่ที่ 5,250 จ๊าดต่อ viss และ 4,955 จ๊าดต่อ viss สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มกราคม อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดนั้นสูงกว่าราคาอ้างอิงมาก และเพื่อควบคุมการขายเกินราคา กรมคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งให้ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องการขายเกินราคาผ่านสายด่วนของศูนย์บริการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรมกำลังพยายามร่วมกันควบคุมความผันผวนสูงของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดค้าปลีก และเสนอราคาที่ยุติธรรมมากขึ้นแก่ผู้บริโภค โดยประสานงานกับสมาคมผู้ค้าน้ำมันบริโภคแห่งเมียนมาและบริษัทนำเข้าน้ำมัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ygn-palm-oil-wholesale-reference-price-heads-for-second-weekly-high/

การค้าชายแดนเมียนมาทะลุ 6.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 19 มกราคม

Daw Cho Thet Mu รองผู้อำนวยการกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา กล่าวว่า การค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่า 6.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 19 มกราคม 2567 ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกมูลค่า 4.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 2.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เมียนมาดำเนินการค้าชายแดนกับจีน ไทย อินเดีย และบังคลาเทศ โดยส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และสินค้าอื่นๆ เป็นหลัก ในขณะที่นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และสินค้าขั้นกลาง อย่างไรก็ดี เมียนมาร์ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ 32.5 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งประกอบด้วยการส่งออก 16.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/border-trade-crosses-us6-52-bln-as-of-19-january/

มูลค่าการค้า สปป.ลาว เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2566

ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ Lao Trade Portal เผยมูลค่าการค้ารวมของ สปป.ลาว โดยมีการนำเข้าและส่งออกอยู่ที่ 1.235 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายงานระบุว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ประมาณ 531 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ลาวขาดดุลการค้าประมาณ 172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ทองคำแท่งและทองคำแท่งผสม ยาง แร่ทองคำ ผลิตภัณฑ์กระดาษ มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เยื่อไม้และเศษกระดาษ เหล็กและเสื้อผ้า โดยมีจีน เวียดนาม และไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของการส่งออกสินค้าจาก สปป.ลาว ส่วนสินค้านำเข้าหลักของประเทศ ได้แก่ เชื้อเพลิง อุปกรณ์เครื่องจักรกล ยานพาหนะทางบก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก น้ำมันเบนซิน เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ โดยประเทศที่ สปป.ลาว นำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน ไทย และเวียดนาม

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240126/40fcb191787d49fb8efc44d6c379f531/c.html

การส่งออกของกัมพูชาผ่าน RGPPSEZ ขยายตัวต่อเนื่องแตะ 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023

มูลค่าการส่งออกของ Royal Group Phnom Penh Special Economic Zone (RGPPSEZ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2016 ที่มีการส่งออกที่มูลค่า 316 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าที่มูลค่า 683 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นสองเท่าอีกครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปีคิดเป็น 1.346 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 โดยในปี 2023 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ที่มูลค่า 1,621 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตกว่า 86 แห่ง จาก 14 ประเทศทั่วโลกตั้งโรงงานผลิตในโซนดังกล่าว สร้างการจ้างงานกว่า 43,800 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429922/royal-group-phnom-penh-sezs-exports-crosses-1-6-billion-in-2023/