ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรีฯ ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ คาดไวรัสโควิดจบมี.ค.นี้หนุนนักท่องเที่ยวดีครึ่งปีหลัง ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะขยายตัวติดลบ 0.7% แต่เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง โดยคาดหวังว่าจะมีนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนมี.ค.นี้เหลือ 0.75% จากปัจจุบัน 1% และรอภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหลังจากงบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้คาดกลางเดือนมี.ค.นี้ ทั้งนี้จากที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 1.5% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากจนอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการผลิต การจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะเดียวกันงบประมาณ 63 ที่ล่าช้ายังส่งผลให้งบเบิกจ่ายสูญเสียไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท คาดหลังจากเดือนมี.ค.นี้เมื่องบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วที่สุดอาจมีเหลือ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณล่าช้ากระทบต่องบลงทุนภาครัฐและลงทุนเอกชนเพราะโครงการลงทุนภาครัฐไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเริ่มจากช่วยกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เช่นที่ผ่านมาแจกเงินเช็คช่วยชาติ ยังทำให้ห้างร้านได้ลดราคา ให้คนที่ไม่ได้เช็คช่วยชาติได้เข้าถึงสินค้าที่ลดราคานั้นด้วย ยิ่งทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ตามไวรัสโควิด-19 คาดจะไม่ยืดเยื้อ เชื่อว่าจะกระทบเศรษฐกิจสูงสุดเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ และจะค่อย ๆ ลดลง หลังเดือนพ.ค.จากอัตราการแพร่กระจายจะลดลง โดยครึ่งปีหลังเมื่อไวรัสฯ กลับมาดีขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/759323

ถกทูตพาณิชย์ปรับทัพส่งออกปี63

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก 28 ก.พ.นี้เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกและปรับทัพใหม่หลังเจอไวรัสโควิด-19ระบาดหนัก  นายสมเด็จ สุสมบูรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 63  พร้อมทั้งปรับแผนงานการส่งออกในตลาดในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  สงครามการค้าสหรัฐ-จีน  เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีแผนการหรือกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อกระตุ้นการส่งออกที่แตกต่างกัน ส่วนแผนการการเจาะตลาด 18 ประเทศที่วางไว้ก็คงต้องมีการปรับใหม่เพื่อความเหมาะสมหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิค-19 สำหรับแผนการตลาดที่ต้องต้องปรับใหม่ เช่น แผนการโปรโมทสินค้าผลไม้ในดือนเม.ย.ต้องดูความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเข้าไปทำกิจกรรมโปรโมทได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องระงับไว้ก่อน พร้อมกับปรับแผนให้เน้นในเรื่องของการขายออนไลน์ให้มากขึ้น แต่หากว่าจีนคุมสถานการณ์ได้ไว้ เราก็ต้องรีบเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด  ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปที่ตลาดอื่นๆด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/758828

รถไฟเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทยใกล้ที่จะเปิดทำการในเร็วๆนี้

เจ้าหน้าที่การรถไฟของกัมพูชาและไทยจะประชุมเพื่อหารือเรื่องการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกล่าวว่าข้อตกลงด้านการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนได้ลงนามไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือเปิดทำการ ซึ่งการเชื่อมต่อใหม่จะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน ปรับปรุงความปลอดภัย ลดปัญหาการจราจรติดขัดและมีส่วนช่วยในการพัฒนาของทั้งสองประเทศรวมทั้งเพิ่มการเชื่อมโยงเพิ่มเติมกับสมาชิกอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศคาดหวังว่าจะปรับปรุงการขนส่งและส่งเสริมการค้า นอกจากนี้ยังเปิดตัวสะพานมิตรภาพ Stung Bot – Ban Nong Ian เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศอีกด้วย  โดยเส้นทางรถไฟสายเหนือจะเชื่อมต่อกัมพูชาและไทยเริ่มต้นที่กรุงพนมเปญและเดินทางไปยังปอยเปตที่ชายแดนไทยระยะทาง 386 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยอยู่ที่ 9.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ ปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 8.39 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50689585/cambodia-thailand-railway-a-stop-nearer-being-ready

ภาคการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยเพิ่มขึ้นกว่า 195% ในปี 2562

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 2.27 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยังประเทศไทยคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 195% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสำหรับการนำเข้าของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยลดลง 6% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ารัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับไทย จนถึงตอนนี้รัฐบาลได้ผลักดันการส่งออกในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ซึ่งในปี 2561 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 8.38 พันล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 6.18 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50689838/cambodias-exports-to-thailand-increase-by-195-in-2019

งบปี 63 สุดอืด ใช้จ่ายรัฐสะดุด ไตรมาสแรกลงทุนต่ำเป้า 5.3%

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.62) เบิกจ่ายแล้วราว 29.2% เป็นการเบิกจ่ายในส่วนงบรายจ่ายประจำปี เช่น เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น 700,000 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายนี้สามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่กำหนดให้รัฐบาลใช้งบประมาณปีก่อนหน้าที่เหลืออยู่ไปก่อนได้ ยกเว้นการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนใหม่ ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสแรก เป็นการเบิกจ่ายจากโครงการที่มีสัญญาผูกพันมาก่อนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่เบิกจ่ายได้เพียง 25,000 ล้านบาท หรือ 4.4% ของงบลงทุนในปีงบ 63 ที่กำหนดไว้กว่า 600,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 65% คิดเป็นเงินลงทุนหายไปจากระบบเศรษฐกิจราว 50,000 ล้านบาท เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ไม่ได้ รัฐบาลประกาศให้ปี 63 เป็นปี แห่งการลงทุน โดยโครงการลงทุนสำคัญ ได้แก่ รถไฟทางคู่ 7 เส้นทางของกระทรวงคมนาคม เช่น เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจปีนี้มีวงเงิน 346,000 ล้านบาท คาดจะเบิกจ่ายได้ 77% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และคาดว่าการลงทุนเอกชนปีนี้จะโต 4.2% จากปีที่แล้วที่โต 2.6%.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/1768380

‘กรมวิชาการเกษตร’ เคลียร์เส้นทางส่งออกผลไม้ไทย มะพร้าวอ่อนเนื้อหอมสุดเตรียมรุกตลาดเวียดนาม

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เข้าพบนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อหารือและเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในฤดูกาลผลิตและส่งออกผลไม้ในปี 2563 ผ่านประเทศเวียดนาม ซึ่งทางเวียดนามมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทย จากข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยทั้งสดและอบแห้งไปยังเวียดนามในปี 2562 พบว่ามีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการหารือดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการขนส่งสินค้าผลไม้สดไปจีนโดยผ่านประเทศที่สาม และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลไม้สดไปจีน เนื่องจากในการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนนิยมขนส่งไปทางบก ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรและมกอช.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้จีนอนุญาตการขนส่งผลไม้สดผ่านเส้นทางที่มีศักยภาพนอกเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่ไทยและจีนมีพิธีสารร่วมกันในปัจจุบัน ได้แก่ เส้นทาง R3A และ R9 เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตรจะตรวจสอบและควบคุมให้สินค้าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารดังกล่าวและสอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_1943719

ดีอีเอสปลื้มทุนใหญ่สหรัฐฯ ซิสโก้-ไมโครซอฟท์ ขนเงินลงทุนไทยเพิ่ม

ซิสโก้ เลือกไทยตั้งศูนย์ Co-Innovation Center แห่งแรกในเอเชีย ปั้นคนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ด้านไมโครซอฟท์ จ่อลงนามเอ็มโอยู ผุด AI/IoT Insider Lab ใน ‘อีอีซี’ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยหลังเข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีระดับโลกระหว่างการเดินทางไปโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกาได้รับคำยืนยันจากบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ ที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งนี้บริษัท ซิสโก้ ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ Cisco Co-Innovation แห่งแรกในเอเชีย นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์และกระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อเข้ามาปักธงใน Thailand Digital Valley โดยจัดตั้ง AI/IoT Insider Lab ซึ่งเป็นโครงการที่ไมโครซอฟท์ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของอาเซียน เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งมีความสนใจอย่างมากที่จะพิจารณาจัดตั้ง AI/IoT Lab ในประเทศไทย ร่วมพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเต็มที่

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/613275

ส.อ.ท. จี้รัฐรับมือเศรษฐกิจโลกยังหนัก

หลังจากประเมินสถานการณ์โดยรวมในปี 2563 ภาคเอกชนต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามค่าเงินการเมือง แม้มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน ข้อเสนอหลักคือต้องลดภาระ โดยขอให้รัฐพิจารณาเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนบางส่วน โดยการลดค่าไฟให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบ้านพัก 5% เป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันขอให้ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อการผลิตในสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้ ให้เหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้การที่รัฐใช้แนวทางดึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือในการช่วยเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้รัฐจำเป็นที่ต้องผลักดันให้แต่ละภาคถูกพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ดึงการลงทุนเข้ามาเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภาคเหนือควรถูกยกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารและ Creative Economy เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน(NEEC) ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และLogistics Hub และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-414443

ไทยมอบเงิน 1.38 พันล้านบาทให้กับลาวเพื่อสร้างสะพานใหม่

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 63ได้มีการลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับส้รางสะพานข้ามแม่น้ำโขงซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.38 พันล้านบาท โดยจะเชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยและปากซันในแขวงบอลิคำไซ การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเชื่อว่าสะพานนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการคมนาคมที่สำคัญและช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสปป.ลาวไทยและเวียดนามในอนาคตจะนำมาซึ่งการเติบด้านการค้า การท่องเที่ยวส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นดังกล่าวและในอีกแง่หนึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย  

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/thailand-provides-138-billion-baht-laos-construction-new-bridge-112282

สื่อมะกันชูไทยประเทศดีสุดในโลกอันดับที่26-เด่นเรื่องเปิดกว้างธุรกิจ

ไทยได้คะเเนนสูงด้าน การเปิดกว้างทางธุรกิจ ประเทศที่เหมาะกับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ โอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น และมรดกทางวัฒรธรรม แต่ได้คะเเนนน้อยด้านอำนาจของประเทศในเวทีโลก และสถานะการเป็นพลเมือง ยูเอส นิวส์แอนด์เวิลด์ รีพอร์ท สื่อสหรัฐ เผยแพร่รายงานจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก73 ประเทศประจำปี 2563 ที่พิจารณาจากข้อมูลหลายด้าน ตั้งแต่คุณภาพชีวิต การเคารพสิทธิมนุษยชน และมรดกทางวัฒนธรรมผ่านการสอบถามความเห็นของประชาชนทั่วโลกจำนวน 20,000 คน ซึ่งเเบ่งเป็นกลุ่มผู้มีความรู้ นักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ให้ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศดีที่สุดอันดับหนึ่งต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ตามมาด้วยแคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ส่วนประเทศไทย ติดอันดับที่ 26 รัสเซีย อยู่อันดับที่ 23 อินเดีย อันดับที่ 25 และกรีซ ในอันดับที่ 27 ส่วนประเทศอื่นๆมีฝรั่งเศสอยู่อันดับที่ 12 นิวซีแลนด์อันดับที่ 11 จีนและสิงคโปร์ติดอันดับที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ขณะที่เกาหลีใต้ อยู่อันดับที่ 20 สำหรับประเทศที่รั้งท้ายในการจัดอันดับครั้งนี้ คือโอมาน อยู่อันดับที่ 71 เซอร์เบีย อยู่อันดับที่ 72 และเลบานอนอยู่อันดับที่ 73

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862641?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral