สถาบันการเงินกัมพูชา รายงานถึงปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ภาคสถาบันการเงินภายในประเทศได้ทำการปล่อยสินเชื่อในระบบรวม 185.1 ล้านล้านเรียล หรือประมาณ 44.9 พันล้านดอลลาร์ แก่ภาคการเกษตร การก่อสร้าง การผลิต การบริการ การค้า และภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคเกษตรมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งโฆษกของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา ระบุว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณสินเชื่อสำหรับไมโครไฟแนนซ์ได้เพิ่มขึ้น 8.218 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่จำนวนผู้กู้เพิ่มขึ้นเป็น 2,028,882 ราย เพิ่มขึ้น 51,116 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2021
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50992206/banking-and-financial-institutions-disbursed-44-9-billion-in-loans-an-increase-of-23-percent/

SSEZ กัมพูชา ส่งออก-นำเข้า แตะ 2 พันล้านดอลลาร์

ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มูลค่ารวมอยู่ที่ 2,001 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของวิสาหกิจทั้งหมดใน SSEZ เฉพาะในเดือน พ.ย. มีมูลค่าสูงถึง 233 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทำได้เกินเป้าหมายประจำปีที่ได้กำหนดไว้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยบรรลุผลสำเร็จก่อนกำหนดถึง 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ดึงดูดผู้ประกอบการและสถาบันภาคเอกชนกว่า 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ สร้างการจ้างงานเกือบ 30,000 ตำแหน่ง
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/991393/ssezs-export-import-amounts-2-billion-in-eleven-months/

การค้าระหว่าง ไทย-กัมพูชา มีโอกาสแตะ 7 พันล้านดอลลาร์ ในปีหน้า

รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าทวิภาคีที่ได้กำหนดไว้ที่มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอยู่ในช่วงการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยทางการไทยได้คาดการณ์มูลค่าทางการค้าในปีหน้าว่าจะมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายครึ่งหนึ่ง หรืออยู่ที่ประมาณ 6-7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยังคงเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยขยายกรอบเวลาเป็นปี 2025 ซึ่งสินค้าหลักที่กัมพูชานำเข้าจากไทยยังคงเป็นน้ำมัน เครื่องดื่ม ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ในทางกลับกัน สินค้าเกษตรยังคงเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ด้านสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เปิดเผยว่าการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาเพิ่มขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50991395/bilateral-trade-likely-to-be-6-7b-next-year-thai-foreign-minister-says/

การค้าระหว่างจีน-กัมพูชา แตะ 10 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี

ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.9 สู่มูลค่ารวม 10.98 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งไปแตะเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศได้เคยให้คำมั่นว่าจะทำการค้าระหว่างกันให้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 โดยจีนยินดีร่วมมือกับกัมพูชาในการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-กัมพูชา และภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค (RCEP) ไปจนถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กำลังการผลิต และเศรษฐกิจดิจิทัล ภายในประเทศกัมพูชา ซึ่งจีนตั้งเป้าที่จะขยายการนำเข้าสินค้าของประเทศกัมพูชา รวมถึงส่งเสริมให้บริษัทจีนเข้าทำการลงทุนในกัมพูชา และส่งเสริมความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซภายในประเทศกัมพูชาอีกด้วย
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50990694/china-cambodia-trade-volume-exceeds-10-billion-in-first-10-months-of-the-year/

กัมพูชาเตรียมรับปัจจัยบวก หลังจีนกำหนดลดภาษีนำเข้าจาก 9 ประเทศ

จีนกำหนดลดภาษีศุลกากรขาเข้าสำหรับสินค้าหลายรายการที่นำเข้าจาก 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2022 โดยคาดว่าหลังจากการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ตามการระบุของกระทรวงการคลัง ซึ่งจีนกำหนดลดภาษีนำเข้าครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของสินค้าที่ได้ทำการค้าระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิก RCEP รวมถึงจีนจะรวมส่งเสริมการบูรณาการในอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ RCEP ในอนาคต
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50990974/china-to-reduce-tariffs-on-goods-from-nine-countries-cambodia-set-to-benefit/

กระทรวงเกษตรกัมพูชา คาดส่งออกประมงเติบโตปีหน้า

กระทรวงเกษตรคาดว่าการส่งออกสินค้าประมงของกัมพูชาจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกปลาไปยังประเทศจีนที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านรองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่าปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงสดและแปรรูปไปยังตลาดต่างประเทศมีปริมาณรวมกว่า 3,320 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมองว่าการส่งออกประมงยังไม่แพร่หลายมากนัก รวมถึงตลาดส่งออกยังมีเพียงแค่ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และสิงคโปร์เท่านั้น โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ของกรมประมง ซึ่งหวังว่าปีหน้าจะเพิ่มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในประเทศให้สอดรับกับความต้องการ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50989604/ministry-of-agriculture-expects-fishery-exports-to-increase-significantly-next-year/

กัมพูชาตั้งเป้า GDP เติบโตร้อยละ 3 ในปี 2021

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของกัมพูชาในปีนี้จะสูงถึงประมาณร้อยละ 3 โดยกล่าวในพิธีเปิดโรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ พนมเปญ เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากการรายงานในครั้งก่อน ที่ได้กล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2022 ที่ร้อยละ 2.4 ด้วยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และภาคบริการเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้การเติบโตปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้ทำการฉีดวัคซีนครบแล้ว รวมถึงนักท่องเที่ยวภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์หลักในช่วง 11 เดือน ของปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 10 ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 ไปจนถึงการส่งออกสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50989307/gdp-growth-for-2021-targetted-at-3-percent/

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SMEs ภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนที่จะจัดหาเงินทุนสำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจ SMEs วงเงินรวม 250 ล้านดอลลาร์ โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคาร SMEs ของรัฐกัมพูชา ภายใต้โครงการร่วมทุนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจ SMEs ในกัมพูชา ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป ภายใต้กลยุทธ์การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ รัฐบาลได้ออกแบบไว้สำหรับการพัฒนาภาคส่วนที่ถูกลำดับความสำคัญเอาไว้ ซึ่งก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ทำการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการรีไฟแนนซ์ร่วม 2 รอบ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมบนวงเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 26 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 21 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 1 แห่ง สถาบันไมโครไฟแนนซ์รับฝากเงิน 3 แห่ง และสถาบันการเงินรายย่อย 1 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50988554/government-plans-additional-250-million-for-smes/

รัฐบาลกัมพูชาทุ่มงบ 2.3 พันล้านดอลลาร์ บรรเทาวิกฤตโควิดเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาทุ่มงบประมาณมากกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ ในการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดย รมว.กระทรวงการคลัง แถลงข่าวไปเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) ณ สำนักงานคณะรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังวางแผนกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนและปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะ 4 ภาคส่วน ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว เสื้อผ้าและสิ่งทอ และภาคการผลิต รวมถึงสนับสนุนกลไกทางการเงินในภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมเงินสำหรับการปล่อยสินเชื่อวงเงินมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ ผ่านทางธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกัมพูชา (SMEs) บนอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับภาคส่วนสำคัญบางกลุ่มในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50988679/govt-spends-over-2-3-bil-to-ease-economic-crisis/

กัมพูชานำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าแตะ 3.5 พันล้านดอลลาร์

ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดีทั้งในด้านการผลิต การส่งออก และการเติบโตของคำสั่งซื้อ ในขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกด้านเศรษฐกิจสำหรับกัมพูชา โดย Kaing Monica รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งกัมพูชา อ้างจากสื่อท้องถิ่นว่าการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ สอดคล้องกับการเติบโตของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง ซึ่งกล่าวว่าการเติบโตในแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันเล็กน้อย โดยเสื้อผ้าเห็นการเติบโตต่ำสุดประมาณร้อยละ 5 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ แต่สินค้าประเภทรองเท้าปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และสำหรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว มีการเติบโตมากที่สุดถึงกว่าร้อยละ 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเสื้อผ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตค่อนข้างต่ำ โดยการเติบโตได้แรงหนุ่นจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.9 ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ย. ปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50988017/fabric-imports-for-garment-industry-rises-to-3-5-billion-in-first-nine-months-of-the-year/