รัฐบาลเวียดนามเตือนการไฟฟ้าเสี่ยงขาดทุน $2.7 พันล้านในปีนี้หากไม่ปรับขึ้นราคา

รอยเตอร์ – การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จะขาดทุน 64,900 ล้านล้านด่ง (2,750 ล้านดอลลาร์) ในปีนี้ หากราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกยังไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลเวียดนามระบุในคำแถลงว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟขายปลีก จะทำให้มูลค่าการขาดทุนของการไฟฟ้าในปีนี้และปีก่อนรวมกันเป็น 93,800 ล้านล้านด่ง ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้พยายามที่จะปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกเพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคการผลิตพลังงาน แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เผชิญกับแรงกดดันในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การปรับราคาค่าไฟฟ้าใดๆ ก็ตามจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อ ชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4.5% ในปีนี้ ส่วนราคาผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://mgronline.com/indochina/detail/9660000015316

“Foxconn” ขยายการดำเนินกิจการในเวียดนาม

ตามรายงานของสื่อดัง “South China Morning Post (SCMP)” เปิดเผยว่าบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้รับเหมาการผลิตรายใหญ่ที่สุดของ Apple ประกาศลงทุนในเวียดนามกว่า 62.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลงนามในสัญญาเช่าที่ดินในจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang) ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 45 เฮกตาร์ เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจและขยายกำลังการผลิตในเวียดนาม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสวนอุตสาหกรรม Quang Chau ที่จังหวัดบั๊กซาง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ Apple จำนวนมากผลิตในเวียดนาม ได้แก่ AirPods, Apple Watch และ iPad บางรุ่น นอกจากนี้ Apple ยังวางแผนที่จะย้ายสายการผลิต MacBook Pro บางรุ่นไปยังเวียดนามในช่วงกลางปี ​​2566

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/foxconn-expands-operation-in-vietnam-post1002084.vov

“เวียดนาม” ตั้งงบ 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

คุณ Kazuo Kusakabe หัวหน้าคณะผู้แทนของบริษัท Toshiba Asia Pacific Pte Ltd กล่าวในที่เปิดฟอรั่มเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาหลังโควิด-19 และความร่วมมือระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการเติบโตสีเขียว ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการจัดการเศรษฐกิจกลาง (CIEM) เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่าเวียดนามต้องการงบประมาณสูงถึง 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และได้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ถือเป็นความท้าทายของโลก รวมถึงเวียดนามอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องยกระดับโครงการขนาดใหญ่และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นาง Tran Thi Hong Minh ผู้อำนวยการสถาบัน CIEM ได้กล่าวว่าเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปสู่การเติบโตสีเขียว จำเป็นต้องส่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-needs-600-billion-usd-to-achieve-carbon-neutrality-2110715.html

เดือนม.ค 66 ค้าชายแดนเมียวดีทะลุ 151.543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา พบว่า เดือนมกราคม 2566 มูลค่าการค้าชายแดนเมียวดีของเมียนมา อยู่ที่ 151.543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2565 ถึง 55.310 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 48.301 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 103.242 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากป่า ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ แร่ธาตุ สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ คือ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myawady-border-trade-crosses-151-543-million-in-january/#article-title

กัมพูชาคาดส่งข้าวไปยังยุโรปขยายตัวกว่าร้อยละ 40 ในปี 2023

Chan Sokheang ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวกับ Cambodia Times ว่าปัจจุบันทางสมาคมฯ ได้ตั้งเป้าการส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35-40 ภายในปี 2023 โดยประเทศในสหภาพยุโรปมีอยู่ประมาณ 20 ประเทศ ซึ่งในช่วงเดือน มกราคมที่ผ่านมาได้นำเข้าข้าวสารจากกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนประมาณกว่าร้อยละ 48 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 17,795 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 13.44 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ CRF โดยในปี 2019 กัมพูชาได้ทำการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปที่ประมาณ 203,280 ตัน และประมาณ 203,861 ตัน ในปี 2020 ขณะที่การส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 168,063 ตันในปี 2021 และกลับมาขยายตัวในปี 2022 ที่ 221,709 ตัน ซึ่งจากข้อมูลของ CRF ในบรรดาสายพันธุ์ข้าวทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ ข้าวหอมระดับพรีเมียม (Malys Angkor) คิดเป็นปริมาณการส่งออก 22,810 ตัน ในเดือนมกราคม รองลงมาคือ Sen Kra Ob ที่ปริมาณ 9,359 ตัน, ข้าวขาวระดับพรีเมียม 1,721 ตัน, ข้าวนึ่ง 1,867 ตัน และข้าวสีอินทรีย์ 1,144 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501239693/40-rise-in-rice-export-to-europe-likely-in-2023/

‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ เตรียมถกศักยภาพรถไฟความเร็วสูง

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว หารือสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในช่วงการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ โครงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอดจนนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปิอ กับ 2 จังหวัดของกัมพูชา คือ ปราสาทพระวิหารและรัตนคีรี ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวยังได้ครอบคลุมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหลวงพระบาง เสียมราฐและพนมเปญ เนื่องจากจะเปิดโอกาสให้มีการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/02/16/laos-cambodia-discuss-potential-high-speed-rail-link/

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา รายงานรายรับในปี 2022 แตะ 126 ล้านดอลลาร์

กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) รายงานรายรับในช่วงปี 2022 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 126 ล้านดอลลาร์ จากการดำเนินงานท่าเรือของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ (PAS) และท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญ (PPAP) โดยกระทรวงฯ เปิดเผยตัวเลขดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานในปี 2022 และกำหนดวัตถุประสงค์สำหรับปี 2023 ด้าน Sun Chanthol รัฐมนตรี MPWT ได้กล่าวเสริมถึงรายละเอียดว่าท่าเรือ PAS สร้างรายได้มูลค่า 86 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 จากปีที่แล้ว โดยมีการขนถ่ายสินค้าประมาณ 5.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.29 ในขณะที่ท่าเรือ PPAP สร้างรายได้มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ซึ่งได้มีการขนถ่ายสินค้าจำนวนประมาณ 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501239694/mpwt-earned-126-million-in-port-revenues-last-year/

“เวียดนาม” จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ผลไม้สู่ระดับสากล

เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์ผลไม้ระดับประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ถึงแม้ว่าผลไม้จะทำรายได้จากการส่งออกหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่เวียดนามยังไม่มีแบรนด์ผลไม้ที่มีชื่อเสียงเลย ทั้งนี้ หากสอบถามมุมมองของผู้บริหารบริษัท Vina T&T Import – Export Service Trading จำกัด (Vina T&T) กล่าวว่าในกรณีที่พูดถึงแอปเปิ้ล ก็จะนึกถึงสหรัฐฯ หากพูดถึงทุเรียนหมอนทอง ก็จะนึกถึงประเทศไทย และหากเปรียบเทียบกับคุณภาพของทุเรียนเวียดนาม สายพันธุ์ Ri6 กับทุเรียนที่มาจากไทยและมาเลเซีย คิดว่าทุเรียนเวียดนามจะได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าส่งออกของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดียังคงมีความบกพร่องในเรื่องของเอกลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์ ดังนั้น เวียดนามควรสร้างแบรนด์ผลไม้ที่เพิ่มสูงค่าและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์ คือ การควบคุมหรือการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อย่างเข็มงวด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1483448/vn-needs-to-build-national-brands-for-fruits.html

“โครงสร้างพื้นฐานเวียดนาม” ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน

นาย Jiehe Yan ประธานบริษัท China Pacific Construction กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม เพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ในขณะเดียวกัน ดร.โจนาธาน ชอย (Dr. Jonathan Choi) ประธานหอการค้าจีน ได้เดินทางมายังประเทศเวียดนามเมื่อเดือนก่อน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การค้า บริการและภาคอุตสาหกรรม และยังกล่าวด้วยว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางดึงดูดที่น่าสนใจของนักลงทุนชาวจีน ทั้งนี้ การลงทุนของจีนในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2558-2565 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 17% ต่อปี ถึงแม้ว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่กระแสการลงทุนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากหลายโครงการสำคัญจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง ได้ขยายธุรกิจหรือปรับเพิ่มเงินทุน เพื่อยกระดับผลผลิตในเวียดนาม

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-infrastructure-luring-chinese-investment-99771.html

จีน-เมียนมา ร่วมส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19

เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายหลี่ เฉินหยาง อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลยูนนานของจีนได้เข้าพบและหารือกับ นาย ออง เนียง อู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาเกี่ยวกับการเปิดชายแดนและนโยบายส่งเสริมการค้า ความร่วมมือทางการเงิน และความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ ต่อมาวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายหลี่ เฉินหยาง ยังได้เข้าพบกับ นาย ยู เอ วิน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนของเมียนมาและมณฑลยูนนาน ทั้งนี้ หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย เมียนมาพยายามเพิ่มการส่งออกไปยังจีนโดยเฉพาะมณฑลยูนนานให้มากขึ้นเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230216/d51ad3ab59524454966ad689bf9eb78e/c.html