‘เวียดนาม’ คว้าโอกาสหนุนสตาร์ทอัพ ผนึกพันธมิตรสหรัฐฯ

นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวในที่ประชุมทางด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพที่สถาบัน Asia Society ในเมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ชี้แจ้งว่าเวียดนามตั้งตาที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการกระจายห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เวียดนามมองว่าวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปและยังได้เสนอกลยุทธ์ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลเร่งปรับปรุงหน่วยงานและนโยบาย ตลอดจนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมายังเวียดนามมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-looks-forward-to-stronger-startup-partnership-with-us-111220518103925907.htm

‘เวียดนาม’ ยกเลิกเรียกเก็บภาษีเหล็กนำเข้าจากจีนและเกาหลีใต้

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ประกาศยกเลิกภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าเหล็กเคลือบโลหะจากสาธารณรัฐเกาหลีและจีน หลังจากจัดเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามรายงานของกระทรวงฯ เปิดเผยว่ากระทรวงได้เปิดการสอบสวนว่ามีการทุ่มตลาดในเดือนมิ.ย. ปีที่แล้ว ตามที่มีการเรียกร้องจากผู้ผลิตในประเทศ ซึ่งการสอบสวนเป็นไปตามระเบียบขององค์การค้าโลก (WTO) เป็นผลให้กระทรวงฯ รวบรวมเอกสารและข้อมูลต่างๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประเมินผลกระทบของการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบโลหะ และการทุ่มตลาดของผู้ผลิตและผู้ส่งออกเกาหลีใต้และจีน ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นว่าหลังจากเรียกเก็บภาษีมาเป็นระยะเวลา 5 ปี ภาคการผลิตเหล็กในประเทศไม่ได้รับผลกระทบสูงมากเหมือนแต่ก่อนและมีความเป็นไปได้ว่าจะนำเข้าเหล็กจากเกาหลีใต้และจีนในอนาคต

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-removes-anti-dumping-duties-on-steel-imports-from-china-rok-post944578.vov

เม.ย.65 ส่งออกเมียนมา พุ่งขึ้น 9.4%

เมื่อวันพุธที่ 18 พ.ค.2565 กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ได้เผยตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น อาทิเช่น สินค้าเกษตรและสัตว์ แร่ธาตุ และสินค้าอุตสาหกรรม โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ จีน ไทย บังคลาเทศ และอินเดีย ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าเกษตร สัตว์และผลิตภัณฑ์จากทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรม

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220518/0ff1ca49a0a543ba9e87c1c228fa6194/c.html

เศรษฐกิจ สปป.ลาว ส่อผันผวน จากกระแสเงินทุนไหลออก

กระแสเงินทุนไหลออกของสกุลเงินต่างประเทศพุ่งสูงขึ้น นำหน้ากระแสเงินทุนไหลเข้าในปัจจุบัน ส่งผลทำให้สกุลเงินต่างประเทศขาดสภาพคล่อง กระทบภาคการนำเข้าเป็นสำคัญ โดย Vientiane Times รายงานว่า Sonexay Sithphaxay ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ สปป.ลาว รายงานว่ามีเพียงร้อยละ 33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สปป.ลาว ผ่านระบบธนาคารในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ซึ่งส่วนที่เหลือถูกนำไปฝากไว้ในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ประมาณร้อยละ 98 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดถูกโอนออกนอกประเทศผ่านระบบธนาคารในช่วงนี้ อีกทั้งการลงทุนจากต่างประเทศที่แท้จริง ไหลเข้าผ่านระบบต่ำกว่ามูลค่าการลงทุนที่ได้ตกลงกันไว้มาก ส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกมากกว่าเงินทุนไหลเข้า กระทบอุปทานของสกุลเงินต่างประเทศที่ยังไม่เพียงพอ ถึงแม้ภาคการค้าจะเกินดุลในช่วง 3 เดือนแรกของปีก็ตาม โดยปัจจุบันเงินกีบอ่อนค่าลงเป็นอย่างมากอยู่ที่ร้อยละ 18.36 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และ ร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2022/05/19/laos-economy-short-changed-by-foreign-currency-outflows/

เอกชนคาดส่งออกอาหารโต 9.3% มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถาบันฯ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานการส่งออกอาหารในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 28.8 คิดเป็นมูลค่ากว่า 286,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงที่หลายประเทศเตรียมการเปิดประเทศและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า มีเพียงการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและอาหารพร้อมรับประทานเท่านั้นที่การส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ผลไม้ส่งออกของไทยโดยเฉพาะทุเรียนหดตัวลง และแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือ คาดว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 คิดเป็นมูลค่ากว่า 913,900 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัว และทั้งปีมั่นใจว่าการส่งออกอาหารจะขยายตัวได้ร้อยละ 9.3 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_341602/

นักท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในกัมพูชาเริ่มคลี่คลาย ส่งผลทำให้ภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 230,000 คน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021 โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ ซึ่งในรายงานล่าสุดของกระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่ากัมพูชาตั้งเป้าที่จะให้การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 800,000 คนภายในสิ้นปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501077245/sharp-rise-in-tourist-arrivals-to-cambodia/

กัมพูชาทุ่มงบ 150 ล้านดอลลาร์ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยกรอบงบประมาณมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวผ่านการจัดหาเงินทุนให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ให้กลับมาดำเนินการได้ใหม่อีกครั้ง โดยในปี 2019 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวประมาณ 4.9 ล้านดอลลาร์ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของจีดีพี ซึ่งภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 16 ในปี 2022 และร้อยละ 23 ในปี 2023 หวังดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้ง ผ่านโครงการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา สำหรับปี 2020 และ 2021 กัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1.5 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501077244/150-million-tourism-package-released/

รัฐบาลสปป.ลาว-เวียดนาม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจลาว-เวียดนาม

Vuong Dinh Hue ประธานสมัชชาแห่งชาติของเวียดนาม เรียกร้องให้ภาคธุรกิจในสปป.ลาวและเวียดนามสร้างความก้าวหน้าในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับทั้งสองประเทศ การพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนให้อยู่ในระดับเดียวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างเวียดนามและสปป.ลาวเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลลาวและเวียดนามตกลงที่จะส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคีเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เป็นร้ยละ 15 ในช่วงปี 2564 โดยสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า อย่างไรก็ตาม ผู้บัญญัติกฎหมายระดับสูงของเวียดนามกล่าวว่ามูลค่าการค้าสองทางยังคงอยู่ในระดับที่พอประมาณเมื่อเทียบกับศักยภาพและความได้เปรียบของทั้งสองประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนของทั้งสองประเทศต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเร่งรัดโครงการความร่วมมือ ด้านการลงทุนในปี 2564 ผู้ประกอบการเวียดนามได้ลงทุนในสปป.ลาวมากกว่า 417 โครงการ ตั้งแต่เกษตรกรรมไปจนถึงการขุด พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และบริการ ทั้งนี้รัฐบาลของทั้งสองประเทศตกลงที่จะแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดที่ต้องเผชิญกับแผนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เหมือง และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พวกเขาดำเนินการต่อไปตามที่คาดไว้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten93_Businesses_y22.php

‘พาณิชย์’ เตรียมจัดประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC หารือการทำ FTA เอเชียแปซิฟิก 19-22 พ.ค. นี้

กระทรวงพาณิชย์นับถอยหลังเตรียมนำรัฐมนตรีการค้า APEC ระดมความเห็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค 19-22 พฤษภาคมนี้ เน้นหารือการทำ FTA เอเชียแปซิฟิก ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า หนุนการประชุมรัฐมนตรี WTO ทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด

ทั้งนี้ APEC เป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า โดยในปีนี้ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC อีกครั้งในรอบ 20 ปี ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุม APEC จะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิดอย่างยั่งยืน และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมของไทยในการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิด

ที่มา : https://thestandard.co/moc-prepare-apec-conference/

ตลาดรถยนต์เวียดนาม เม.ย. เติบโตต่อเนื่อง

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) รายงานว่าในเดือนเม.ย. มียอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้น 42,359 คัน เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเดือนที่สองติดต่อกันของปีนี้ที่ยอดขายรถยนต์เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เดือนเม.ย. ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 33,588 คัน ในขณะที่ รถเชิงพาณิชย์มีจำนวน 7,795 คัน และรถที่มีวัตถุประสงค์พิเศษมีจำนวน 776 คัน นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ที่ประกอบในประเทศและรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ (CBU) มีจำนวน 25,269 และ 17,090 คัน เพิ่มขึ้น 16% และ 13% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังคงเผชิญวิกฤตเซมิคอนดักเตอร์ การขาดแคลนชิปและส่วนประกอบทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์อย่างมากและทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์ในบางรุ่นได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1192293/domestic-car-market-maintains-sale-growth-in-april.html