อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาที่สปป.ลาวกำลังเผชิญ

จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนได้เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมืองและสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดการเงินที่สั่นสะเทือนท่ามกลางการระบาดของโควิดนอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางการเมืองจะเพิ่มแรงกดดันต่อราคาสำหรับสินค้านำเข้าในสปป.ลาว โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในลาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในปี 2565 และ 5.0% ในปี 2566 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากข้อมูลราคาน้ำมันเบนซินเกรดพรีเมียมในเวียงจันทน์อยู่ที่ 20,620 กีบต่อลิตร เกรดปกติ 18,060 กีบ และดีเซล 18,000 กีบ อีกปัจจัยที่สำคัญคือการอ่อนค่าของ kip อย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าเงินกีบอ่อนค่าโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 7.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อไม่เพียงเป็นปัญหาเดียว ที่สปป.ลาวกำลังเผชิญ ขณะนี้หนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันได้รับรายงานล่าสุดที่ร้อยละ 78.8 ของ GDP ในปี 2564 ค่าใช้จ่ายภายในประเทศที่ค้างชำระ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และ kip ที่อ่อนตัวลงในปี 2564 ส่งผลให้ระดับหนี้เพิ่มขึ้น ในขณะหนี้สาธารณะต่างประเทศของสปป.ลาวคาดว่าจะมี 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้าคิดเป็นร้อยละ 7 ของ GDP ทั้งนี้รัฐพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนรวมถึงปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น และผลักดันให้มีการดำเนินการตามแผนโครงการขนาดใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนยกเครื่องการจัดการธุรกิจนำเข้าเพื่อให้แน่ใจว่าสกุลเงินต่างประเทศที่เพียงพอเข้าสู่ระบบธนาคาร

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten85_spiralling_22.php

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมหารือพัฒนาศักยภาพภาคการค้าระหว่างกัน

กัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีได้หารือร่วมกันถึงศักยภาพทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการอภิปรายเกิดขึ้นระหว่าง Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Gyuhwa Jang รองประธานสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลี (KOIMA) และคุณ Yu Lin ประธานบริษัท GADOSH Korea Co., Ltd. บริษัทนำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจในการทำธุรกิจในกัมพูชา และสนับสนุนให้ฝ่ายเกาหลีศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพอื่นๆ ของกัมพูชา เช่น ลำไยและกล้วย โดยยังแนะนำให้นักลงทุนเกาหลีลงทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069705/cambodia-korea-discuss-trade-potential/

เปิดจุดผ่านแดน ไทย-กัมพูชา กระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เปิดพรมแดนกับกัมพูชาอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยสมาคมและบริษัทเอกชนหลายแห่งในภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ได้ร่วมมือกันวางแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งในต้นเดือนพฤษภาคม สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก (PATA) นำโดย Thuon Sinan นายกสมาคม ได้ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขึ้นตอนการเดินทาง ตลอดจนการจัดทำเอกสาร ณ จุดผ่านแดนทั้งฝั่งกัมพูชาและไทย หลังไทยผ่อนคลายเงื่อนไขการข้ามพรมแดน ซึ่งได้กำหนดผู้เดินทางไว้ 3 ประเภท คือ ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้เดินทางที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และ ผู้เดินทางที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนและถือบัตรผ่านแดน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069719/opening-of-the-cambodian-thai-border-boosts-tourism/

ธนาคารโลกให้การสนับสนุนเงินทุน 395 ล้านเหรียญสหรัฐ

ธนาคารโลกคาดว่าจะสนับสนุน 11 โครงการในลาวด้วยมูลค่า 395 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2565-2569 ความร่วมมือระหว่างลาวและธนาคารโลกจะมุ่งเน้นไปที่สามด้าน การส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน ธนาคารโลกได้ให้เงินทั้งสิ้น 785 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ 27 โครงการ รวมถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินช่วยเหลือ 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้พวกเขายังหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการของธนาคารโลกที่สนับสนุนกระทรวงการคลัง รวมถึงการจัดการการเงินสาธารณะ และความทันสมัยของระบบศุลกากร ควบคู่ไปกับความจำเป็นในการให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องกับทุนมนุษย์ – การสนับสนุนด้านสุขภาพและการศึกษา – สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของลาว

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_World84.php

ประธาน JETRO ชี้ ‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น

นายซาซากิ โนบุฮิโกะ ประธาน CEO องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาด โดยหน่วยงานของภาครัฐฯ ทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันลงนามและร่วมมือกัน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ได้แก่ พลังงาน การเปลี่ยนแปลงกระบวนการของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงเทรนด์การลงทุนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริหารของ JETRO เปิดเผยว่าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและเวียดนาม มีความคืบหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นลงทุนในเวียดนาม มูลค่ากว่า 64.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 4,935 โครงการ นอกจากนี้ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นต่างชื่นชมศักยภาพการผลิตและการตลาดของเวียดนาม  ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถสร้างความสัมพันธ์เพื่อเสริมจุดแข็งและจุดอ่อนของกันและกัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-attractive-destination-for-japanese-investors-jetro-chief-post941372.vov

‘ข้อตกลง EVFTA’ กระตุ้นการส่งออกข้าวเวียดนามไปยังสหภาพยุโรป

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม (EVFTA) โดยปริมาณการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จำนวน 15,500 ตัน ทำรายได้ประมาณ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 24% ในแง่ของปริมาณและ 10.5% ในแง่ของมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวในตลาดยุโรป พบว่าเพิ่มขึ้น 9% อยู่ที่ 755 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาส่งออกข้าวเวียดนามในตลาดยุโรปสูงกว่าราคาเฉลี่ย เนื่องจากข้าวส่วนใหญ่ที่ส่งออกไปยังตลาดยุโรปเป็นข้าวหอมที่มีมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ข้าวส่งออกของเวียดนามยังคงไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาในตลาดยุโรปกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ เช่น กัมพูชา ไทย และอินเดีย

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1178059/evfta-boosts-viet-nams-rice-exports-to-the-eu.html

เขตพะโค ดูดเม็ดเงิน FDI -สะพัดกว่า 117.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกการลงทุนในประเทศอีก 9.5 พันล้านจัตภายใน 1 ปี

คณะกรรมการการลงทุนเขตพะโค (BRIC) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 ถึงเม.ย. 2565 เขตพะโคดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 117.612 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศ มูลค่า 9.529 พันล้านจัต ซึ่งสร้างตำแหน่งงานให้กับประชากรในพื้นที่กว่า 6,000 ตำแหน่ง ซึ่งเศรษฐกิจของเขตพะโคขึ้นอยู่กับการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก เนื่องจากมีวัตถุดิบมากมายสำหรับการผลิตปุ๋ยธรรมชาติ โดยหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของเขตพะโคได้เรียกร้องให้ BRIC เชิญชวนให้นักลงทุนที่สนใจมาลงทุนในโรงงานปุ๋ยและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมีความสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากเขตพะโคต้องอาศัยแหล่งน้ำ เขื่อน และแม่น้ำสำหรับภาคการเกษตร และได้อำนวยความสะดวกในการให้เช่าพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการขยายตัว

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/bago-region-attracts-over-117-6-mln-fdi-k9-5-bln-domestic-investment-over-one-year/

Q1/2022 กัมพูชาส่งออกไปยัง เวียดนาม จีน และไทย เป็นสำคัญ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RECP มีมูลค่าแตะ 1.95 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากมูลค่า 1.75 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยกัมพูชาได้ส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามมูลค่า 759 ล้านดอลลาร์, ไปยังจีน 322 ล้านดอลลาร์ และส่งออกไปยังไทยมูลค่าแตะ 318 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีศักยภาพในการส่งออก อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501068941/cambodias-top-export-destinations-in-q1-2022-vietnam-china-and-thailand/

คาดเศรษฐกิจกัมพูชาปี 2022 โต 5.4%

Vongsey Vissoth รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเศรษฐกิจการคลังกัมพูชา ได้รายงานถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 5.2-5.4 ในปีนี้ ต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.6 โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งรวมถึงการผลิต การค้า และการบริการ ในขณะที่จำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนก็อยู่ในระดับที่สูง สอดคล้องกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ที่ได้คาดการณ์ไว้ ณ เดือนเมษายนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะสูงถึงร้อยละ 5.3 ในปี 2022 เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่แข็งแกร่งและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปีที่แล้ว และในระยะกลางคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมามีศักยภาพอีกครั้ง โดยอาจจะมีการเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 6 ในระยะกลาง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501067848/cambodias-2022-economic-growth-estimates-revised-to-5-4-percent/

“ททท.” เร่งบูสต์ตัวเลขนักท่องเที่ยว ตั้งเป้าไตรมาส 4 เดือนละ 1 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 444,039 คน สร้างรายได้รวม 34,173 ล้านบาท โดยตลาดหลักที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยุโรป 265,888 คน สร้างรายได้ 21,894 ล้านบาท รองลงมาคือ เอเชียตะวันออก 85,362 คน สร้างรายได้ 4,674 ล้านคน อาเซียน 45,471 คน สร้างรายได้ 2,139 ล้านบาท เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 39,891 คน สร้างรายได้ 2,535 ล้านบาท และอเมริกา 33,875 คน สร้างรายได้ 2,691 ล้านบาท และประเมินว่าจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิก Test & Go 1 พฤษภาคม 2565 รอบนี้จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย ททท.ตั้งเป้าว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศไทยไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อเดือน และตั้งเป้าว่าในช่วงไตรมาส 4 หรือในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มเป็นเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่ง ททท.จะเร่งทำการตลาดโดยเร่งด่วนทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล

ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-922701