กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์มาแรง ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่ในอาเซียน

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาตลาดบรรจุภัณฑ์ในยุคโควิด-19 ของ สนค.ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย พบว่าบรรจุภัณฑ์เป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพราะกระแสความนิยมซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ และความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ การค้าบรรจุภัณฑ์โลกในไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่า 110,985.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 57,813.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% และการนำเข้ามูลค่า 53,172.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% ผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน โดยไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 844.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 123.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.8% สัดส่วน 14.6% ญี่ปุ่น 122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% สัดส่วน 14.5% เวียดนาม 78.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6% เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/589094

ยอดติดเชื้อโควิดรายวันสปป.ลาวสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มระบาดในสปป.ลาว

ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 170 รายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มระบาดในสปป.ลาว โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่งผลให้ยอดรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 3,710 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วย 1,222 รายรับการรักษาอยู่ ด้วยสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นรัฐบาลสปป.ลาว ได้ขยายเวลาล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงบางส่วนถึงวันที่ 3 สิงหาคม เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อและควบคุมการระบาดของไวรัส ในขณะเดียวกันโปรแกรมการฉีดวัคซีนก็กำลังได้รับการเร่งเพื่อให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ โดยรัฐบาลหวังว่าการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สปป.ลาวรอดพ้นจะวิกฤตครั้งนี้ในขนาดเดียวกันก็มีมาตรการด้านการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจควบคู่ไปเพื่อดูแลประชาและธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Covid_140.php

สหรัฐ-เวียดนามบรรลุข้อตกลงด้านนโยบายค่าเงิน ยุติข้อพิพาทยุคทรัมป์

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ และนายเหงียน ถิ หง ผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวในแถลงการณ์ร่วมหลังจากการประชุมทางไกลเมื่อช่วงเช้าวานนี้ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐและธนาคารกลางเวียดนามได้ “หารืออย่างสร้างสรรค์” ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผ่านกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น และสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ไขความวิตกกังวลของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านค่าเงินของเวียดนาม ทั้งนี้ นายหงกล่าวว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะเดินหน้าจัดการนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนภายในกรอบนโยบายการเงินทั่วไป เพื่อปกป้องกลไกการทำงานของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ใช่เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/108257

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารสัตว์ครึ่งแรกของปีนี้ ‘พุ่ง’

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนาม มีมูลค่า 523.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 52.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการค้า 188.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสหรัฐฯ และอินเดีย โดยเฉพาะการส่งออกของเวียดนามไปยังไทย มีมูลค่า 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว การส่งออกอาหารสัตว์ของเวียดนามไปยังจีน มีมูลค่า 211.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการส่งออกไปยังกัมพูชาและสหรัฐฯ แตะ 122.3 และ 114.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23% และ 125% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/animal-feed-exports-see-surge-in-h1/204933.vnp

“เอดีบี” ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามปี 64 โต 5.8%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ 7.2% ในปีนี้ เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.3% เมื่อเดือนเมษายน และจากการประเมินของ ADB การส่งออกทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 5.6% จาก 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนเมษายน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างช้า รวมถึงการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่เศรษฐกิจ ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปีนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปีนี้ เหลือ 5.8% จากก่อนหน้าที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.7% เมื่อเดือนเมษายน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-lowers-vietnamese-growth-forecast-for-2021-to-58-875361.vov

กัมพูชานำเข้าสุกรลดลงอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงเอง

กัมพูชานำเข้าเนื้อหมูลดลงเนื่องจากเกษตรกรในท้องถิ่นเริ่มเพาะเลี้ยงหมูมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงของการแพร่ระบาด โดยประธานสมาคมผู้เลี้ยงปศุสัตว์กัมพูชา กล่าวว่าการนำเข้าเนื้อหมูที่ลดลง เนื่องจากอุปทานในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันอุปทานสุกรในตลาดท้องถิ่นจากเกษตรกรและผู้เพาะพันธุ์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 85 ส่วนอีกร้อยละ 15 คือหมูที่ต้องทำการนำเข้า โดยปริมาณเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสุกรในประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้คนจำนวนมากตกงานในช่วงของการระบาดใหญ่ที่ได้หันไปเลี้ยงปศุสัตว์เป็นทางเลือก เนื่องจากราคาสุกรและสัตว์ชนิดอื่นๆ มีราคาสูงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50897550/pig-imports-fall-to-15-percent-of-demand-as-more-turn-to-farming/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.

ตลาดส่งออกประเทศสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศปลายทางสำคัญของการส่งออกสินค้ากัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานในช่วงครึ่งปีแรกแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 3.019 พันล้านดอลลาร์ไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯจำนวน 173 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 41 ซึ่งมูลค่าการค้าทวิภาคีปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 รวม 3.193 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 โดยการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเสื้อผ้า รวมถึงสินค้า เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้ US Generalized System of Preferences (GSP)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50897620/us-top-cambodian-export-destination-jan-june/

ค้าชายแดนไทย-เมียนมา ดิ่งฮวบ !

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าชายแดนไทย-เมียนมาลดลง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63 ถึง 9 ก.ค.64 ของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งการค้าไทย-เมียนมาทั้ง 7 ด่านชายแดนแตะ 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณปัจจุบัน ลดลงจากปีก่อน 3.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากด่านการค้าชายแดนทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี คอทุ่ง มะริด ตีกี มอตอง และแม่สาย โดยการส่งออกจะเป็นสินค้าเกษตร ป่าไม้และสัตว์ แร่ธาตุ สินค้าที่ผลิต และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ส่วนการนำเข้าสินค้าจะเป็น ยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องเขียน รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องจักร และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ การค้าระหว่างเมียนมาและ 4 ประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 1 ต.ค.63 ถึง 9 ก.ค.64 มีมูลค่ากว่า 8.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 392 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thai-myanmar-border-trade-decreases/#article-title

ขยายเวลาจำกัดโควิดและยกเลิกบางมาตรการบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจ

Covid-19 ที่ยังคงระบาดในสปป.ลาวทำให้รัฐบาลขยายมาตรการควบคุมไวรัสตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 15 ออกไปอีก 15 วันจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ยกเลิกข้อจำกัดบางประการเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คน การระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงและการตกงานในประเทศไทย ทำให้ชาวลาวจำนวนมากที่ทำงานที่นั่นต้องกลับบ้าน โดยอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้เดินทางกลับมีผลตรวจเป็นบวก ปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจสปป.ลาวกำลังเผชิญอยู่ภาวะตกต่ำที่สุดในประวติศาสตร์ ถึงแม้ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเข็มแรกจะสามารถฉีดไปได้กว่ารอยละ 50 และเข็มสองที่กำลังจะฉีดในเดือนนี้และตั้งเป้าปลายปีจะครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากร เห็นได้ชัดว่าการฉีดวัคซีนก็อาจไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสปป.ลาวกลับมาเดินหน้าได้ มาตรการผ่อนปรนจึงเป็นสิ่งสำคัญและเครื่อมือที่รัฐบาลนำมาปรับใช้เพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจในสปป.ลาว  

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Covid_restrictions_139.php

เวียดนามติดอันดับท็อป 20 ประเทศที่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุน FDI ครั้งแรกของโลก

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เผยว่าเวียดนามได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ประเทศชั้นนำของโลกที่เป็นจุดหมายสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ถือว่าเป็นครั้งแรกของปี 2563 ที่มีมูลค่าเงินทุนไหลเข้ากว่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กระแสเม็ดเงิน FDI ทั่วโลกลดลง 35% อยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ เวียดนามยังเป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดหมายสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติใหญ่ที่สุด รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เวียดนามมีโครงการลงทุนต่างชาติ จำนวน 33,787 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 397.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/994904/viet-nam-named-among-worlds-top-20-host-economies-for-fdi-for-the-first-time.html