สถานการณ์การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ส่งสัญญาณเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2021 โดยปริมาณการส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2 เดือน ข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์กัมพูชาส่งออกสินค้ารวมแล้วประมาณ 64 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันกัมพูชาได้ทำการนำเข้าสินค้ารวมประมาณ 93 ล้านดอลลาร์ จากเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 3.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนการค้าทวิภาคีระหว่างเกาหลีใต้และกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 158 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 1.1 โดยสินค้าที่กัมพูชาส่งออกไปเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่วนการนำเข้าหลักของกัมพูชาจากเกาหลีใต้ ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยาและผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50826608/exports-to-south-korea-increase-for-two-consecutive-months/

สนง.ส่งเสริมการค้าเวียดนามจับมืออาลีบาบา ผลักดันธุรกิจผ่านช่องทางส่งออกออนไลน์

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) และเว็บไซต์อาลีบาบา (Alibaba) ที่เป็นแพลต์ฟอร์มอีคอมเมิร์ซในระดับโลก แบบ B2B ของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามในการยกระดับการส่งออกออนไลน์และจัดตั้งอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ซึ่งภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจนั้น ทางอาลีบาบาจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคสำหรับหน่วยงานส่งเสริมการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าได้มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับอาลีบาบา เพื่อปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและเพิ่มขีดความสามารถในด้านอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามในปี 2563 เติบโต 18% ด้วยมูลค่า 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เวียดนามก็ยังเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นตัวเลขสองหลัก

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietrade-alibabacom-partner-to-help-firms-with-online-export-843718.vov

ธนาคารโลกชี้ปี 64 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเชิงบวก

ตามรายงานภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามของธนาคารโลก เผยว่าหากมองในอนาคต ควรจะให้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลก เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ตลอดจนการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ตั้งข้อสังเกตว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวลง เหตุจากโรงงานปิดตัวลงในช่วงเทศกาลเต็ต ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลง 7.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของโรควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยอดค้าปลีกของเวียดนามในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคสูงขึ้นจากอยู่ในช่วงเทศกาลเต็ต อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกถึงกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าการส่งออกของเวียดนามลดลง 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-maintains-positive-outlook-for-economic-recovery-in-2021-wb-843720.vov

“มูลนิธิโซรอส” เรียกร้องให้ปล่อยพนักงานในเมียนมา

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่ามูลนิธิโอเพน โซไซตี้ (Open Society Foundations: OSM) ของจอร์จ โซรอส ได้เรียกร้องให้ทำการปลดปล่อยพนักงานในเมียนมาโดยทันที สาเหตุมาจากตรวจพบว่ามีการลักลอบโอนเงินสนับสนุน ซึ่งมูลนิธิดังกล่าว ช่วยเหลือสื่อมวลชนชาวเมียนมาและประชาสังคมเมียนมามาอย่างยาวนาน ทั้งนี้  เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สื่อของรัฐฯ ประกาศว่ากลุ่มมูลนิธิ OSM นำเงินไปใช้ในการแสดงอารยะขัดขืนต่อการปกครองของทหารในประเทศ โดยมูลนิธิโอนเงินที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานบริหารจัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นจำนวน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิ OSM สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก เผยว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการโจมตีและสร้างความเสื่อมเสียให้แก้ผู้ที่ต้องการสันติภาพและประชาธิปไตยในเมียนมา

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/soros-linked-group-calls-for-release-of-employee-in-myanmar

รมต. กระทรวงต่างประเทศเมียนมาและบรูไน ร่วมประชุมหารือถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

นายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาร่วมประชุมทางวิดีโอกับ Dato Erywan Pehin Yusof รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไนดารุสซาลาม โดยในการประชุมรัฐมนตรีทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหภาพแรงงานยังได้บรรยายสรุปถึงความคืบหน้าล่าสุดในเมียนมา รวมถึงความพยายามของรัฐบาลในการจัดการกับการประท้วงที่รุนแรง ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และ ความเป็นสากล

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/union-minister-for-foreign-affairs-holds-video-conference-with-brunei-darussalams-minister-of-foreign-affairs-ii/

กล้วยยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของสปป.ลาว

กล้วยสปป.ลาวยังคงทำรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดโดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดในปี 2563 สูงถึงเกือบ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะมีข้อจำกัดทางการค้าจากการแพร่ระบาด COVID-19 ตามข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของสปป.ลาวระบุว่ามูลค่าของกล้วยที่ขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 227.4 ล้านดอลลาร์ ในแง่ของผลผลิตปริมาณกล้วยที่ปลูกเพื่อการส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา อย่างไรก็ตามจำนวนนักลงทุนและสวนกล้วยลดลงหลังจากที่รัฐบาลหยุดให้สัมปทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกใหม่และสิ้นสุดข้อตกลงกับ บริษัท ที่ละเมิดกฎระเบียบ ในปัจจุบันรัฐบาลพยายามทำให้เกษตรกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นของสปป.ลาวเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดที่ยั่งยืนและสมดุลของการลงทุนกับสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://www.freshplaza.com/article/9303635/laos-bananas-remain-top-agricultural-export/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นในปี 2020 แม้ว่าทั้งสองประเทศจะกำหนดให้มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็ตาม โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ในปี 2020 สู่มูลค่า 385 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากเวียดนามลดลงร้อยละ 3.1 สู่มูลค่า 2,633 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,018 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 1.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของการส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าด้านเกษตรที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการของผู้บริโภคทางฝั่งเวียดนาม ซึ่งกัมพูชาได้กำหนดให้มีการตรวจสอบสินค้าและการขนส่งผ่านแดนอย่างเข้มงวด ผู้ที่จะข้ามพรมแดนต้องเข้าสู่เขตกักกัน 14 วัน เพื่อเป็นการกักกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825872/cambodias-exports-to-vietnam-increase/

ทางการกัมพูชาคาดการณ์ GDP เติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2021

กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศคาดการณ์ถึงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไว้ที่ร้อยละ 3.5 จากการหดตัวในปี 2020 ที่ร้อยละ 3.1 โดยภาคอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนภายในประเทศพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเติบโต ซึ่งภาคอุตสาหกรรมโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.9 เนื่องจากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.6 ไปจนถึงภาคการก่อสร้างคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.9 โดยก่อนหน้านี้กัมพูชาเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากการควบคุมของโรคระบาด ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางข้อตกลงการค้า สิทธิพิเศษ EBA ที่ถูกเพิกถอนไปบางส่วน และการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ลดลง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กระทรวงได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ประการ ได้แก่ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า การขนส่งและโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการค้าให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของรัฐฯ ส่วนภาคบริการคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.4 นำโดยส่วนการขนส่งและการสื่อสาร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825871/economic-forecast-for-2021-projects-3-5-percent-gdp-growth/

ททท.จับมืออาเซียนต้า จัดประชุมสมาชิก เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพ ในการขายท่องเที่ยวไทย หลังโควิดคลี่คลาย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกองตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ สมาคมท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Association : ASEANTA) จัดประชุมให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมหลังสถานการณ์ COVID-19 และเพิ่มขีดความสามารถในการที่จะทำการตลาดท่องเที่ยว กับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่าย ในการส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่ประเทศไทย เมื่อมีการเปิดการเดินทางได้ตามปกติ โดยได้มีการอัพเดทสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาคภาคเหนือ และนำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ASEANTA จำนวน 60 คน ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้รับทราบ พร้อมกิจกรรม Workshop กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาระดมความคิดเห็น และแนวคิดในการจัดทำ Product หรือเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ที่ต้องการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างประเทศ ททท. จึงได้จัดทำ Platform Online Thailand Tourism Virtual Market (TTVM) ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและการตลาดดิจิตัล ในรูปแบบ B2B (Business to Business) เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาด

ที่มา : https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1612282/

“อาคม”มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาสสี่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ หลังจากไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนในประเทศ ส่งผลให้ ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย โดยขณะนี้ ได้รับรายงานว่า ในช่วงเทศสงกรานต์ในเดือนเม.ย.นี้ ทางสายการบินต่างๆ ถูกจับจองเที่ยวบินเต็มทุกเที่ยวบินแล้ว และปริมาณการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงนี้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีเพราะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตรวมทั้งศูนย์วิจัยหลายแห่งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น รวมทั้งประชาชนกลุ่มฐานรากจะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนที่จะออกมาตรการฟื้นฟู หรือเดินหน้ามาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 ต่อเนื่องหรือไม่นั้น จะต้องรอติดตามสถานการณ์ก่อน และยังต้องติดตามดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งนี้ เชื่อว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และนักท่องเที่ยวมีใบรับรองการฉีดวัคโควิด ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะต้องไปเจรจากับประเทศต้นทางที่คนไทยอยากจะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อส่งคนททยออกไป เพื่อแลกกับต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/927622