ผลวิจัยชี้อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สปป.ลาว สูงที่สุดในอาเซียน

ผลการวิจัยล่าสุดยืนยันว่า สปป.ลาว มีอัตราการตั้งครรภ์ในประชากรกลุ่มวัยรุ่นสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน การศึกษาที่ดำเนินการโดย Marie Habito เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสของสถาบัน Burnet ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ในออสเตรเลีย ในหัวข้อการทำความเข้าใจเส้นทางที่หลากหลายในการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เผยให้เห็นปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดข้อมูลที่น่าตกใจนี้ โดยสรุปแล้ว ผลการวิจัยบ่งชี้เห็นได้ชัดว่า สปป.ลาว ยังคงต่อสู้กับอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงที่สุดในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศที่จำกัด ไปจนถึงแรงกดดันทางสังคม ความท้าทายที่เด็กสาวชาวลาวต้องเผชิญนั้นซับซ้อนเกินกว่าที่จะรับมือ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยากลำบากเหล่านี้ ศูนย์และองค์กรท้องถิ่นต่างมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความพยายามร่วมกันเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนลาวเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ และผลักดันนโยบายที่ครอบคลุมเพื่อจัดการกับต้นตอของปัญหา ตลอดจนสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กสาวทั่วประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/02/15/laos-teen-pregnancy-rates-highest-in-southeast-asia-study-reveals-key-factors/

รัฐบาล สปป.ลาว ให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามแผนที่วางไว้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล สปป.ลาว พยายามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และก้าวขึ้นเหนือสถานะประเทศด้อยพัฒนาตามที่วางแผนไว้ในปี 2569 การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อ “เร่งดำเนินการตามผลการทบทวนระยะกลางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 เพื่อบรรลุ SDGs และ LDC Graduation” การประชุมดังกล่าวนี้มีนายคัมเจน วงศ์โพซี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน เป็นประธาน และนายบาโคดีร์ เบอร์คานอฟ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คนจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ กระทรวง องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ นายคำเจน ได้กล่าวในงานประชุมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ควบคุมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเข้มงวดมากขึ้น และลดความแตกต่างในการพัฒนา ระหว่างเขตเมืองกับชนบท

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_33_Govt_y24.php

ม.ค. 2024 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT โตเกือบ 22%

การส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21.64 สำหรับในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 967 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้หดตัวเกือบตลอดทั้งปีในปีที่แล้ว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) ซึ่งพบว่าทุกรายการสินค้าของกลุ่ม GFT ขยายตัวแทบทุกรายการ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. 2024 ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่ากัมพูชาสามารถบรรลุการเติบโตทางด้านการส่งออกถึงแม้จะมีอุปสรรคทางการค้า เช่น การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) โดยสหรัฐฯ และการลดผลประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ลงเกือบร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป (EU) โดยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501439379/cambodias-gft-exports-jump-22-amid-rising-hopes/

ทางการพร้อมผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจกัมพูชา-ญี่ปุ่น (CJSEZ)

รัฐบาลกัมพูชากำลังจัดเตรียมนโยบายในการเตรียมความพร้อมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชา-ญี่ปุ่น (CJSEZ) เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองประเทศเพื่อหารือและเตรียมเอกสารแนวคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศกัมพูชา นำโดย Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เป็นประธาน โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนของญี่ปุ่นมายังกัมพูชา รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาขีดความสามารถและทักษะให้กับแรงงานในท้องถิ่น อีกทั้งมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากกัมพูชามีตลาดเผื่อการส่งออกที่ขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับปัจจุบัน CDC ได้อนุมัติโครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 149 โครงการ ด้วยเงินทุนรวมประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนสิงหาคม 2022 โดยลงทุนในอุตสาหกรรมการเสื้อผ้า รองเท้า สินค้าสำหรับเดินทาง ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ แผงโซลาร์เซลล์ และอุตสาหกรรมประกอบจักรยาน เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501439391/cambodia-japan-sez-project-on-the-cards/

นายกฯเร่งส่งเสริมแข็งแกร่ง SMEs ไทยขับเคลื่อนอุตฯ MICE

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายในการส่งเสริม SMEs และ อุตสาหกรรม MICE ด้วยตระหนักดีว่าเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ และมีความสำคัญ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศเป้าหมายซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนด รวมทั้งกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ผ่านมาตรการส่งเสริม SMEs 9 ด้าน ที่จะผลักดันให้ GDP ของ SMEs ไทยเพิ่มจาก 35.2% เป็น 40% ได้ภายในปี 2570 พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เป็นอีกภาคส่วนที่มีศักยภาพรัฐบาลต้องการผลักดันเพราะเป็น อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศจากทั่วโลก และการอำนวยความสะดวกเรื่องการขอวีซ่าและสถานที่ ในการจัดแสดงสินค้าของประเทศในการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจสำหรับการจัดประชุมและแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ และพร้อมรองรับนักเดินทาง MICE ต่างชาติซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี พิจารณาถึงภาคส่วนที่ไทยมีศักยภาพ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาส ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งความสร้างสรรค์ และคุณภาพ พร้อมการแข่งขันกับทุกตลาด และการขับเคลื่อน MICE ไทยให้เป็นอีกจุดหมายสำคัญของการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของ MICE โลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทั้งสองอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างงานผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ภาพจาก : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_676866/

‘กัมพูชา’ ส่งออกไปเวียดนาม ม.ค. พุ่ง 116%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เปิดเผยว่ากัมพูชาส่งออกไปยังเวียดนามในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 373 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 116.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ นาย ลิม เฮง (Lim Heng) รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่าทิศทางการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กัมพูชามีข้อได้เปรียบทางด้านภาษีกับคู่ค้าหลายประเทศ ทั้งในรูปแบบข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี

นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 จากการที่สินค้าส่งออกของกัมพูชามีความหลากหลายและมีคุณภาพสินค้าที่แข่งขันด้านราคาได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/cambodian-exports-to-vietnam-soar-116-in-january-2024-post1076923.vov

‘ตะวันออกกลาง’ ผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนาม

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่ากลุ่มประเทศในตะวันออกกลางกลายมาเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนาม รองจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและกลุ่มตลาด CPTPP และเวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตะวันออกกลางเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกปลาทูน่าทั้งหมด โดยจากตัวเลขสถิติของกรมศุลกากร ชี้ให้เห็นว่าเมื่อปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกปลาทูน่าไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง มูลค่า 82 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศอิสราเอล เลบานอน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และตุรกี เพิ่มขึ้น 37%, 17%, 23% และ 73% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อียิปต์และซาอุดีอาระเบีย ลดลง 47% และ 78%

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650464/middle-east-the-fourth-largest-importer-of-vietnamese-tuna.html

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล สปป.ลาว แนะนำทุกภาคส่วนร่วมกันปรับปรุงการท่องเที่ยว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล สปป.ลาว ได้แนะนำให้ภาครัฐและเอกชนสร้างการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเพื่อปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว และบริการที่โรงแรม รวมถึงร้านอาหาร  ศาสตราจารย์ ดร.กิแก้ว เคยคำพิทูน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงฯ ประจำปี 2566 ว่า ควรมีการปรับปรุงเพื่อให้มั่นใจในการบริการที่มีคุณภาพ พัฒนากิจกรรมและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ของประเทศ ตลอดจนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยรัฐบาลและภาคธุรกิจควรร่วมมือกันในการโฆษณา พัฒนา และจัดการการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ การเกษตร และความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น สิ่งนี้จะกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยว และใช้ผลิตภัณฑ์ของลาว รวมถึงช่วยให้แน่ใจว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดได้รับการควบคุมที่ดีขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_32_DPM_y24.php

สปป.ลาว เปิดตัวระบบการเงินใหม่ เพื่อส่งเสริมการจัดการเงินตราต่างประเทศ

กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ และธนาคารแห่ง สปป. ลาว จะร่วมกันใช้ระบบทางการเงินใหม่ เพื่อช่วยติดตามและจัดการการไหลของเงินตราต่างประเทศในประเทศลาว ระบบนี้เรียกว่า Capital Flow Management System (CMS) ซึ่งจะเชื่อมโยงการจดทะเบียนธุรกิจ รหัส Asycuda และธุรกรรมของผู้ส่งออกและนักลงทุนกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลางของ สปป.ลาว ระบบนี้ยังจัดให้มีแดชบอร์ดสำหรับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามมูลค่าและผลิตภัณฑ์ของกิจกรรมการส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ ระบบจะมอบสิทธิประโยชน์หลายประการให้กับภาครัฐ ผู้ประกอบการ และธนาคาร ให้ได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการชำระเงินจากปลายทางที่เฉพาะเจาะจง วางแผนรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ลดเวลาในการโต้ตอบกับธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสินค้าและเวลาที่มาถึง สรุปบัญชีการลงทุนต่างประเทศในรูปแบบวัสดุและเงินสด และตรวจสอบข้อมูลกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_32_New_y24.php

รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรแตะ 2.8 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของเมียนมาร์มีมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจาก 3.108 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว โดยลดลงประมาณ 301.79 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เมียนมาได้ดำเนินยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อกระตุ้นการส่งออก ภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญของ NES ประกอบด้วยการผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/agri-export-earnings-hit-us2-8-bln-in-past-ten-months/