กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศในช่วง 10 เดือนแรกของปี แตะ 4.11 ล้านคน

Mao Havannall รัฐมนตรีสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐกัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีผู้เดินทางซึ่งลงทะเบียนในระบบเดินทางทางอากาศมายังกัมพูชากว่า 4.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีสายการบินทั้งในและต่างประเทศประมาณ 32 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 41,596 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินตรงมากจาก 8 ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และมาจากจีน เกาหลีใต้ และกาตาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393834/cambodia-reports-4-11-mln-air-passengers-in-first-10-months-minister/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ลดลงเกือบ 17% หลังได้รับผลกระทบ

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งได้รายงานการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชาไว้ที่มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 10.78 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ภาคการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญได้ระบุเสริมว่านอกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกของกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์บางรายสินค้าจาก สิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาลดลงจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เหลืออยู่ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 และลดลงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393555/global-headwinds-keep-cambodias-gft-exports-down-nearly-17-percent/

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

โอกาสส่งออกของมะพร้าวเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ และจีน

คุณ Bui Duong Thuat ผู้อำนวยการของบริษัท Mekong Fruit Export กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องมาจากได้มีการนำเข้ามะพร้าวสดประมาณ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทเวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดสหรัฐฯ ราว 110-120 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตของมะพร้าวเวียดนามในตลาดดังกล่าวอีกมาก นอกจากนี้ ในพื้นที่ของจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) พบว่ามีบริษัท 5 แห่งที่ทำการส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน (จีน) ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น และยังมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อรับรหัสหีบห่อและรหัสพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยให้สามารถส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/opportunity-for-vietnams-coconut-exports-to-us-china-post131272.html

‘นครโฮจิมินห์’ ครองอันดับดัชนีความสามารถโลจิสติกส์ของประเทศ

สมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) ร่วมกับสถาบันวิจัยและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เวียดนาม (VLI) และศูนย์บ่มเพาะ จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LCI) และได้มีการประเมิน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวชี้วัด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ปริมาณสินค้าบรรทุก และจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่านครโฮจิมินห์ได้รับคะแนนสูงสุด อยู่ที่ 43.3-74.3 จากคะแนนเต็ม 100 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเมืองในการบูรณาการเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการให้บริการ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ รองลงมาเมืองไฮฟองและเมืองบิ่นห์ดิ่นห์ (Binh Dinh)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/hcmc-tops-logistics-competitiveness-index/

ราคา FOB ของถั่วดำ ถั่วมะแฮะ และถั่วเขียว ลดลงเล็กน้อย

ราคา FOB ของถั่วดำ ถั่วมะแฮะ และถั่วเขียว ลดลงอีกครั้งในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2566 โดยราคา FOB ของถั่วดำมีราคาอยู่ที่ 1,060-1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ราคาถั่วมะแฮะอยู่ที่ 1,250-1,270 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ถั่วเขียวที่มาจากเมียนมาร์ตอนกลางราคาอยู่ที่ 700-720 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และถั่วเขียวพันธุ์ชเววา ราคาอยู่ที่ 880-910 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งถั่วดำมีราคาลดลงจากเดิม 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ถั่วมะแฮะราคาลดลง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถั่วเขียวราคาลดลง 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน สำหรับถั่วเขียวที่มาจากเมียนมาร์ตอนกลาง และถั่วเขียวพันธุ์ชเววา ราคาลดลง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน อย่างไรก็ดี ในตลาดย่างกุ้งราคาถั่วดำยังคงผันผวนอยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านจ๊าดต่อตัน (สำหรับถั่วดำคุณภาพเฉลี่ย) ในขณะที่ราคาถั่วดำคุณภาพดีผันผวนอยู่ที่ประมาณ 3.14 ล้านจ๊าดต่อตัน ส่วนราคาถั่วมะแฮะอยู่ที่ 3.25 ล้านจ๊าดต่อตัน ถั่วเขียวที่มาจากเมียนมาร์ตอนกลางราคาอยู่ที่ 500-2,835 จ๊าดต่อviss และถั่วเขียวพันธุ์ชเววา ราคาอยู่ที่ 3,465 จ๊าดต่อviss

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fob-prices-of-black-gram-pigeon-pea-green-gram-post-slight-decline/#article-title

‘สปป.ลาว เปิดตัวโลโก้ในฐานะประธานอาเซียนปี 2024’ อย่างเป็นทางการ

กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้เปิดตัวโลโก้ เว็ไซต์ และธีม ในฐานะประธานอาเซียนประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมพร้อมรับตำแหน่งประธานอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมปีหน้า ภายใต้หัวข้อ “อาเซียน: การเสริมสร้างการเชื่อมต่อและความยืดหยุ่น” สะท้อนถึงความปรารถนาของประธานอาเซียนในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือของกลุ่มในทุกด้านของการเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างดำรงตำแหน่งประธานของ สปป.ลาว จะมีการให้ความสำคัญสูงสุดในการเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน ลดช่องว่างในการหลบหนี และส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน สปป.ลาว จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคู่เจรจาของกลุ่ม ขณะเดียวกันก็รักษาความเกี่ยวข้องและการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทั้งนี้ โลโก้ที่ สปป.ลาว เปิดตัวสื่อถึงลูกโลกและสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์และความร่วมมือของอาเซียนกับพันธมิตรภายนอกทั่วโลก ซึ่งมี 4 สี ได้แก่ น้ำเงิน แดง เหลือง และขาว ที่เป็นสีของธงสัญลักษณ์ของอาเซียน 

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/laos-officially-launched-the-asean-chairs-logo-and-theme-of-2024/

‘รถไฟบรรทุกสินค้าด่วนพิเศษ จีน-ลาว-ไทย’ ขบวนแรกเดินทางออกจากเฉิงตู

ถไฟบรรทุกสินค้าด่วนพิเศษต้นทางประเทศจีน ผ่านมายัง สปป.ลาว และสิ้นสุดที่ประเทศไทย ขบวนแรกออกเดินทางจากสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตู เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พร้อมขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าในประเทศไทย การเปิดตัวบริการรถไฟด่วนพิเศษเส้นทางนี้ ช่วยลดเวลาในการขนส่งสินค้าจากเมืองเฉิงตูมายังประเทศไทยให้เหลือไม่เกิน 5 วัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงการเชื่อมต่อและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันระหว่างทั้งสามประเทศ  

ที่มา : https://news.cgtn.com/news/2023-11-19/First-China-Laos-Thailand-express-freight-train-departs-from-Chengdu-1oQZOYRv8cw/index.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกปลาทูน่าไปยังสหราชอาณาจักรลดฮวบ เหตุข้อบังคับที่เข็มงวด

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่าการส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังตลาดสหราชอาณาจักร (UK) อยู่ในภาวะชะลอตัวในเดือน ก.ย. ลดลง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่คนวงในอุตฯ ระบุว่ายอดการนำเข้าที่ลดลง เป็นผลมาจากเงื่อนไขหรือข้อบังคับที่เข็มงวดในเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของสหราชอาณาจักร ซึ่งเทียบเท่ากับเงื่อนไขของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม การส่งออกปลาทูน่าของเวียดนามไปยังตลาดในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/tuna-exports-to-uk-market-suffer-decline-on-strict-requirements-post1059542.vov

‘เวียดนาม’ เผย 10 เดือน ส่งออกเหล็กเติบโตในเชิงบวก

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกเหล็กมากกว่า 6.7 ล้านตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 201% ตามมาด้วยเหล็กกัลวาไนซ์ และท่อเหล็ก ขยายตัว 2.8% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดส่งออกเหล็กรายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของเวียดนามในปีนี้ ได้แก่ อิตาลี กัมพูชา สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เบลเยียม สเปน ไต้หวัน (จีน) และไทย ทั้งนี้ สมาคมเหล็กแห่งยุโรป ระบุว่าเวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้า 8.1% ของปริมาณการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปจากยุโรปในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดส่งออกเหล็กที่ใหญที่สุดของเวียดนามในช่วงเวลา 10 เดือนของปีนี้ มูลค่าเกินกว่า 539.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณเกินกว่า 730,000 ตัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-steel-exports-record-positive-growth-in-10-months-post1059565.vov