ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

โดย BRD Analysis I ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม
  • นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว
  • ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

กัมพูชา :เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น แม้ภาคส่งออกจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะจากจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

สปป.ลาว : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนภายนอก เนื่องจากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

เมียนมา : ยากต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐประหารเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 4% ตั้งแต่ ปี 2566 จากความคาดหวังว่าความวุ่นวายในประเทศจะคลี่คลายลงได้

เวียดนาม : มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMVโดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5-7.0% ระหว่างปี 2564-2568 และจะเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2573

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

กัมพูชา : การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว โดยการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชา (สัดส่วนราว 5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ในปี 2563 ขยายตัวราว 220% เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โรงไฟฟ้า : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกัมพูชายังมี Supply ของไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สปป.ลาว : การลงทุนใหม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคาดหวังกับการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ : ยังคงเป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว แต่โครงการใหม่ในระยะข้างหน้าต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเผชิญข้อจำกัดทางการเงิน

ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง สปป.ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน : โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 จะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของ สปป.ลาว ได้ในอนาคต

เมียนมา : ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาเน้นประคองธุรกิจ ขณะที่การลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

ภาคการผลิต : การผลิตเพื่อส่งออก (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) หยุดชะงัก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับเมียนมา จนผู้ประกอบการต่างชาติบางส่วนอาจถอนการลงทุน ขณะที่การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ เผชิญกับความต้องการที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจเมียนมา

โรงไฟฟ้า : นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน และเป็นโอกาสที่จีนจะมีบทบาทในเมียนมามากขึ้น

เวียดนาม : หลายอุตสาหกรรมในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนของไทย อาทิ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป : เนื่องจากความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม

โรงไฟฟ้า : ยังเติบโตจากความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% และ 7.2% ในช่วงปี 2564-2568 และ 2569-2573 ตามล าดับ ซึ่งเวียดนามจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210512113428ที่มา :

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ปี 64 เศรษฐกิจเมียนมาเจอมรสุมหนัก! คาด หดตัว 8.5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวดี เศรษฐกิจเมียนมากลับเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างหนัก ภาพลักษณ์ของเมียนมาในสายตาชาติตะวันตกกำลังมีบทบาทลดน้อยลง จากการที่สหรัฐฯ ประกาศระงับความตกลงการค้าและการลงทุนกับเมียนมาที่มีมาตั้งแต่ปี 2556 ทำให้มียนมาต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA รวมถึงนานาชาติจะเพิ่มแรงกดดันด้านต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรค์ต่อการทำธุรกิจในอนาคต

ตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการแสดงอารยะขัดขืนเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงัน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวชะลอตัวลงมากกว่าคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 อาจจะหดตัวลึกขึ้นมาอยู่ที่ราว -8.5% (กรอบประมาณการ -9.8% ถึง -7.2%) หากการประท้วงไม่ขยายวงกว้างกว่านี้และทางการสามารถควบคุมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองช่วงครึ่งปีหลังให้ดีขึ้นได้ เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 คาดว่าจะโน้มเอียงสู่กรอบบนประมาณการที่ -7.2% แต่หากความขัดแย้งรุนแรงลากยาวตลอดปี เศรษฐกิจอาจทรุดตัวเข้าใกล้กรอบล่างที่ -9.8%

การส่งออกผ่านชายแดนจากไทยไปเมียนมาเดือนก.พ. 2564 กลับมาหดตัวสูงที่ -21.4% ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 ลุกลามอีกครั้ง และบางส่วนเพราะความไม่สงบในเมียนมาทำให้สินค้าส่วนใหญ่เริ่มหดตัวชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้ความไม่สงบในเมียนมาอาจส่งผลมายังช่องทางการค้าบริเวณพรมแดน แต่ไม่กระทบการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากนักเพราะเมียนมาต้องพึ่งสินค้าไทยหลายชนิด ขณะเดียวกันความกังวลต่อความไม่สงบในช่วงแรกทำให้มีการเร่งกักตุนสินค้าจากไทยค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่เหลือของปีด้วยกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่จะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ คงฉุดให้การส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาปีนี้หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ที่ -6.0% มูลค่าการส่งออก 81,890 ล้านบาท (กรอบประมาณการหดตัวที่ -8.0% หากเศรษฐกิจเมียนมาทรุดตัวตลอดปี ถึงหดตัวที่ -2.9% หากครึ่งปีหลังหลังสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้)​

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Myanmar-Eco-23-04-2021.aspx

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ

มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921209

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

EIC CLMV Outlook Q4/2020

เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปี 2020 แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดีด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (fiscal space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

  • กัมพูชา  อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังอ่อนแอจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา
  • สปป.ลาว ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นความท้าทายหลัก
  • เมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดขึ้นจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา
  • เวียดนาม แม้เผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

ที่มา : SCB EIC

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7175

โควิดทุบลงทุน ‘เมียนมา’ คลายมนต์ขลัง

การที่เมียนมาเปิดประเทศได้กลายเป็นขุมทรัพย์ที่คอยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ ณ เวลานี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ถือว่ามาแรงและเร็วที่สุดในอาเซียน โดยในช่วงเพียงชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อ “เมียนมา” ขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งส่งผลต่ออนาคตการเป็นแหล่งลงทุน ความเลวร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนมีการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ ยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปท่ามกลางอนาคตเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความมั่นคงทางการเงินและเสถียรภาพทางการคลังยังอยู่จุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

ล่าสุดธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจขยายตัวลดลงเหลือ 1% เปรียบเทียบกับกับเดือนเมษายนที่อาจจะขยายตัว 4.2% และจะฟื้นตัวในปี 2564 ที่สำคัญกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยต่างจากต่างชาติ (FDI) ที่อาจต้องชะลอตัวลง ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 134,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 99,904 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และโรงงานอุตสาหกรรม แต่จากเกิดภาวะดีมานด์-ซัพพลายช็อค และการระบาดของโควิด 19 ที่ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง

ก่อนหน้านี้ในรายงานเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก (WorldBank) ประจำปี 2563 ได้จัดอันดับให้เมียนมาอยู่ที่อันดับ 165 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แสดงถึงความน่าลงทุนน้อยที่สุดในอาเซียน จากปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นในระดับสูงและกฎระเบียบที่ยุ่งยาก ความตึงเครียดทั้งจากสถานการณ์โควิด 19 และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งวางนโยบายเพื่อดึงดูดทุนต่างชาติที่อาจจะหันเหไปประเทศเพื่อบ้านอย่าง ประเทศเวียดนาม ไทย หรือกัมพูชา

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังมีความได้เปรียบในการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ สามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงานต่ำ เพียงแต่สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติต้องการ คือการสร้างระบบกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจสร้างบรรยากาศการลงทุน ทั้งเรื่องการจัดตั้งธุรกิจที่สะดวกและรวดเร็ว การจ้างงาน การหาลูกค้า และนักลงทุนต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมหากเข้าไปลงทุนอีกด้วย

ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/en/covid-affects-myanmar-investment

ภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลัง COVID-19

หัวข้อสำคัญของเอกสาร มีดังต่อไปนี้

  1. ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2563
  2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
  3. แนวโน้มเศรษฐกิจเมียนมา หลัง COVID-19

ที่มา:

  • CEIC DATA
  • International Monetary Fund (IMF)
  • Statista
  • Directorate of Investment and Company Administration (DICA)
  • Ministry of Commerce (Myanmar)
  • Economic Intelligence Center (EIC)
  • Asian Development Bank (ADB)
  • World bank