การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

EIC CLMV Outlook Q4/2020

เศรษฐกิจ CLMV ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนปี 2020 แม้กัมพูชาและลาวสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จ แต่เมียนมาและเวียดนามกลับเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 โดยเวียดนามกลับมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ในบางพื้นที่และสามารถควบคุมการระบาดได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ขณะที่เมียนมายังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้า ๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดีด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และการถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA บางส่วนจะยิ่งซ้ำเติมการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในกัมพูชา ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (fiscal space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข้มงวดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

  • กัมพูชา  อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังอ่อนแอจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา
  • สปป.ลาว ข้อจำกัดในด้านการทำนโยบายการคลังและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นความท้าทายหลัก
  • เมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดขึ้นจะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมา
  • เวียดนาม แม้เผชิญการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวได้ดี จากการควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็วและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

ที่มา : SCB EIC

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7175

ภาพรวมเศรษฐกิจของราชอาณาจักรกัมพูชา หลัง COVID-19

หัวข้อสำคัญของเอกสาร มีดังต่อไปนี้

  1. สรุปภาพรวมของประเทศกัมพูชา
  2. สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ
  3. สถานการณ์เศรษฐกิจ และผลกระทบจาก COVID-19
  4. ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  5. นโยบาย รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
  6. มาตรการป้องกันและรับมือกับการระบาดของ COVID-19

เรียบเรียงโดย : นายทัตเทพ เอี่ยมเวช

ที่มา : NBC, World bank, IMF, ADB, K-Reserch, CEIC data, DITP และ SCB EIC

โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก      

  • กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
  • เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
  •  เมียนมา  เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
  • สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx

วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันการส่งออกไทยในกัมพูชา

วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันการส่งออกของไทยในกัมพูชา Download

สร้างความสำคัญให้กับชายแดนไทย

ในอดีตความเจริญของชายแดนไทย เช่น ที่ด่านอรัญประเทศเมืองฝั่งตรงข้ามเมืองปอยเปต เมื่อ 30 ปีเป็นแค่ชุมชนเล็กๆ มีร้านค้าไม่กี่ร้าน มีตลาดขายสินค้าอุปโภค-บริโภคจากไทยอยู่แห่งหนึ่ง พอรัฐบาลกัมพูชาเปิดเปิดบ่อนคาสิโนที่นั่น ปรากฏว่าเมืองเจริญขึ้นทันที มีบ่อนใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ฝั่งอรัญประเทศมีแค่ขายสินค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ความเจริญไม่ได้ไหลเข้ามาสู่อรัญประเทศมากนัก ล่าสุดทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก ที่เคยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติมาใช้บริการร้านอาหารหรือโรงแรมเพิ่มแต่กลับน้อยลง เพราะข้ามฝั่งไปเมืองปอยเปตกันหมด อีกด่านหนึ่ง คือ ด่านเชียงแสน ตรงข้ามเมืองต้นผึ้ง ประเทศสปป.ลาว ซึ่งเกิดเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่มาบูมกันจริงๆ ไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา เพราะมีการย้ายบ่อนคาสิโนจากเมืองบ่อเตนข้ามมาที่นี่ สังเกตว่าเชียงแสนก่อนหน้า 30 ปีที่ผ่านมา จะมีสามเหลี่ยมทองคำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ และจะบูมมากในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา หลายค่ายของขุมกำลังทรัพย์ที่เป็นผู้ประกอบการ แต่พอนักท่องเที่ยวหดหายไปร้านค้าหรือกิจการก็ซบเซาลงทันที พอเริ่มมีบ่อนคาสิโนมาเปิดฝั่งตรงข้าม ความเจริญยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การค้าการขายที่เชียงแสนก็ไม่ได้อาณิสงค์ของเมืองบ่อนการพนัน จะมีแต่สิบสองปันนาของจีนเท่านั้น สังเกตว่าถ้าเมื่อใดที่น้ำในแม่น้ำโขงลด สินค้าส่งออกทั้งฝั่งเชียงแสนและอเชียงของจะเงียบเหงาทันที แต่พอปัจจัยทั้งสองแห่งที่เป็นไปในทางบวก ทุกอย่างก็จะคึกคักทันที ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบ่อนคาสิโนที่จะส่งผลต่อการค้าการส่งออกเลย

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/607834

ธุรกิจ Training center ด้านการโรงแรม โอกาสของไทยในกัมพูชา

ในปี 2018 มีเม็ดเงินลงทุนถึง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 16% ของการลงทุนทั้งหมด ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมทำให้ปัจจุบันขาดแคลนแรงงานภาคการบริการ Skilled labor เป็นจำนวนมาก จากผู้ประกอบการกว่า 1,700 แห่ง ไม่พอใจแรงงานถึง 78% พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ขาดทักษะที่สำคัญ อย่าง การให้บริการ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาษาและการสื่อสาร นี่จึงเป็นช่องทางของธุรกิจ Training center เพราะไทยมีขนาดอุตสาหกรรมติด 1 ใน 10 ของโลก โดยพื้นฐานหลักสูตรควรเน้นระดับพื้นฐานถึงระดับกลางอย่างเชฟ พนักงานขาย พนักงานต้อนรับถึงผู้บริหารระดับกลาง โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา การตั้งเป็นสถาบัน การเปิดการสอนแบบมอบใบประกาศนียบัตร หรือแบบ Training course และสำคัญที่สุดคือ การร่วมมือกับคนท้องถิ่น ร่วมมือกับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/news/582515?fbclid=IwAR3MbhOik1g0L2rSk0W_7Q8fhGuD84L9m9fgHSr5Mnb1sPwB9oCvgeQW2FM

7 มีนาคม 2562