โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก      

  • กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
  • เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
  •  เมียนมา  เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
  • สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx

อัพเดท สถานการณ์ COVID-19 เวียดนาม วันที่ 23.04.2563

พัฒนาการที่สำคัญดังนี้

  • เวียดนามยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
  • เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 นายกรัฐมนตรีเวียดนามเห็นชอบให้ลดระดับกรุงฮานอยนครโฮจิมินห์ จ.บั๊กนิงห์ จ.เหิ่วซาง จากกลุ่มเมืองจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมาก เป็น ความเสี่ยงปานกลาง และผ่อนผันมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม
  • กระทรวงคมนาคมอนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบินระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ และเปิดเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างจังหวัดอื่นๆ
  • โรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยในกรุงฮานอยเตรียมจะเปิดเรียนในวันที่ 4 พ.ค. 2563 สำหรับโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมจะเปิดเรียนในวันที่ 11 พ.ค. 2563
  • รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบแผนงานที่จะเลื่อนการจัดเก็บภาษีเงินได้และค่าเช่าที่ดินเป็นเงิน 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ มาตรการของภาครัฐและประมาณการเศรษฐกิจเวียดนาม

วิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันการส่งออกไทยในเวียดนาม

เจาะตลาดเวียดนาม 5 ช่องทางการขายที่คุณต้องรู้

โดย IH DIGITAL

เวียดนามถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ด้วยประชากรกว่า 90 ล้านคนและส่วนใหญ่ก็เป็นหนุ่มสาววัยทำงานที่กำลังช่วยพัฒนาประเทศ แน่นอนว่าด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ ย่อมทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้นและต้องมีนักลงทุนที่อยากไปเจาะตลาดเวียดนาม ทั้ง 5 ช่องทางนี้ เหมาะกับผู้ประกอบการ ดังนี้

  1. ใช้ผู้แทน/ตัวแทนจำหน่าย เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่มีประสบการส่งออกน้อย ควรเลือกใช้ตัวแทนจำหน่าย (Distributor)
  2. เปิดร้านค้าใน E-Commerce เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการขายของออนไลน์เป็นอย่างดี เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม ได้แก่ Lazada, Shopee, TIKI, LOTTE, Sendo.VN
  3. เปิดร้านค้าผ่าน Social Media คล้ายกันกับข้อที่ 2 – ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในด้าน E-Commerce สามารถขายได้บนช่องทาง Social Media โดยแพลทฟอร์มที่ได้รับความนิยมในเวียดนามคือ FACEBOOK และ Instagram
  4. การส่งออก สำหรับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์การส่งออกสูง
  5. ก่อตั้งบริษัทการค้า เหมาะสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีภาพลักษณ์ของแบรนด์มั่งคงและน่าเชี่อถือในตลาดเวียดนาม

แต่อย่างไรก็ตาม แผนการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกการโปรโมทสินค้าด้วยการแจก หรือให้ส่วนลดพิเศษต่าง ๆ ที่ดูฮาร์ดเซลส์ เมื่อเข้าสู่ตลาดเวียดนามในระยะแรก ส่วนในระยะยาวอาจใช้โฆษณา ป้ายประกาศ หรือช่องทางออนไลน์เพื่อให้คนเวียดนามจดจำตัวสินค้าและซื้อมาบริโภค  “สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะพลาดคือไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับแผนการตลาด”

ที่มา : https://www.ihdigital.co.th/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1-5-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97/

สอดส่ายหาโอกาสธุรกิจขนมขบเคี้ยวในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

จากการสำรวจของบริษัท The Harris Poll and Mondelez International เผยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในเวียดนาม ขนมขบเคี้ยวกำลังเข้ามาแทนที่มื้ออาหารดั้งเดิม เนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ขนมขบเคี้ยวสามารถสร้างกำไรทั่วโลกรวมทั้งในเวียดนาม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโฮจิมินห์ ระบุว่าขนมขบเคี้ยวมียอดขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนและพนักงานออฟฟิสนิยมซื้อในช่วงพักและตลาดกำลังมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านผลกระทบและโอกาสของผู้ประกอบการไทย ปัจจุบันตลาดของขนมขบเคี้ยวของเวียดนามมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว เป็นโอกาสของสินค้าและบริการจากไทยในการขยายตลาดเข้าสู่เวียดนาม ขณะเดียวกันเวียดนามมีผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากต่างชาติ เช่น Nestle หรือ Lay’s เป็นต้น สำหรับขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทยที่มีวางจำหน่าย เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ขาไก่โลตัส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทยอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ตลาด ดังนี้

  1. แนวโน้มประชากรเวียดนามวัยรุ่นถึงวัยทำงานจำนวนมาก ด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น
  2. พฤติกรรมบริโภคที่เปลี่ยนไป (ขนมขบเคี้ยวเปลี่ยนไปเป็นการบริโภคทดแทนมื้ออาหาร)
  3. ตลาดเวียดนามมีความหลากหลายมากขึ้น
  4. คนเวียดนามเปิดกว้างต่อสินค้าใหม่ๆ

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-snacks

เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

โดย Soison Lohsuwannakul I วิจัยกรุงศรี Research Intelligence

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เป็นความตกลงแรกของเวียดนามที่เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า อีกทั้งยังครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ที่สำคัญจะช่วยให้เวียดนามเพิ่มแต้มต่อและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลข้างเคียงเชิงลบ โดยสินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU อาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและ EU มากขึ้นในระยะนับจากนี้

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 ทางการเวียดนามและสหภาพยุโรป (The European Union: EU) ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU- Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA)/1 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ความตกลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020

สำหรับความตกลง EVFTA ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ (1) ความตกลง EVFTA มีระดับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกือบ 100% สูงสุดในบรรดาความตกลงที่เวียดนามลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว/2 (2) เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU/3 และ (3) เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง/4 กับ EU ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเชิงปริมาณ (ในลักษณะของการลดอัตราภาษีนำเข้าหรือการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ) ยังรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

  1. การเปิดเสรีการค้าสินค้า EU จะลดภาษีให้เวียดนามในสัดส่วนสินค้าที่มากกว่าและกรอบเวลาที่สั้นกว่าเวียดนาม ดังนี้
  2. EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  3. เวียดนาม จะยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU เป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 98.3 ภายในระยะเวลา 11 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
  4. การเปิดเสรีด้านบริการ ภายใต้ EVFTA เวียดนามมีการเปิดเสรีในระดับสูงกว่าที่ตกลงไว้กับ WTO และสูงกว่าความตกลงอาเซียน
  5. การเปิดเสรีการลงทุน: ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามเปิดเสรีในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
  6. การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต เวียดนามและ EU เปิดเสรีการลงทุนเกือบทุกสาขา
  7. สำหรับการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาบริการ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการ และสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต
  8. การเปิดเสรีด้านอื่น ๆ : ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามมีอยู่ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานและสัญญาของรัฐได้ อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ การประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public contracts) เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานของรัฐได้ ภายใต้ความตกลง EVFTA นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาของรัฐ ที่อยู่ภายใต้อำนาจระดับกระทรวงของเวียดนาม

การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ภายใต้ EVFTA จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อเวียดนามในระยะยาว

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ความตกลง EVFTA พบว่า มีนัยสำคัญต่อการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่

  1. การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA เอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น
  2. การเปิดกว้างด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยนักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานของรัฐและเข้าร่วมโครงการลงทุนของภาครัฐได้เป็นครั้งแรก ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการสรรหาผู้รับงานที่หลากหลาย
  3. ความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ จะส่งผลเกื้อหนุนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลง EVFTA ยังมีประเด็นครอบคลุมถึงการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การลดการผูกขาดของรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ

EVFTA อาจส่งผลเชิงลบต่อไทย จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU

  • ผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะส่งผลสุทธิทางลบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไปเวียดนามและ EU

ผลจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการย้ายฐานการลงทุน (Investment relocation) ที่เกิดขึ้นจากความตกลง EVFTA จะทำให้ประเทศอื่นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบ

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 จากการสูญเสียความได้เปรียบทางภาษี

ในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับต้นๆ ของเวียดนาม เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านภาษีจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเมื่อเวียดนามเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA อัตราภาษีนำเข้าที่เวียดนามเก็บจากสินค้า EU จะลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 0 เวียดนามจึงมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก EU ทดแทนสินค้าจากไทย

ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและ EU จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 สำหรับในปีแรกที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้สัดส่วนสินค้าที่เวียดนามลดภาษีนำเข้าให้ EU ทันทีจะอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะแรก ได้แก่ โพรลิเอทิลีน, เครื่องส่งวิทยุ/โมเด็ม/แลนด์ไร้สาย, ไดโอด/อุปกรณ์กึ่งตัวนำและแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่เพียงผลเชิงบวกที่เวียดนามจะได้รับจากการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามไปยัง EU มีความได้เปรียบด้านราคาและสินค้าจากเวียดนามยังมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของ EU มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้ผลบวกเพิ่มเติมจากความพิเศษของ EVFTA ที่เหนือกว่าความตกลงอื่น ๆ ทั้งจากการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ การลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/ri-evfta

สวรรค์ของนักลงทุนไทย

หลายปีมาแล้วที่ทางภาครัฐและเอกชนพยายามส่งเสริมการค้า-การลงทุนไทยในต่างแดน เช่น มีการจัดสัมมนา จัดงานแสดงสินค้า อีกทั้งงานทำ Business Matching การทำ Networking ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผู้ที่จะลงทุนควรตระหนักคือ อย่างแรกเลย คือ เหมาะจะไปค้าขายหรือไปลงทุนแบบใด บางครั้งผู้ประกอบการมักไปจ้างผู้ผลิต OEM แต่ต้องศึกษาให้รอบคอบ ไม่ควรคิดว่าประเทศเพื่อนบ้านจะขาดแคลน สามารถผลิตหรือขายสินค้าได้หมด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมาก เช่น เวียดนาม ที่นั่นมีผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้าไปตั้งฐานผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบันทำให้ล้นตลาดไปแล้ว และงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ ของโลก จะมีสินค้าเวียดนามไปร่วมแสดงอยู่เสมอ บางผู้ประกอบการเอาสินค้าที่มีภาระต้นทุนด้านลอจิสติกส์สูงไปขาย แต่จะทำได้ไม่นานนัก เพราะผู้ประกอบการท้องถิ่นเห็นว่าตลาดกว้างมาก (High Market cap) จึงเข้าร่วมแข่งขันเพื่อแย่งตลาดแน่นอน แต่ถ้าสินค้านั้นเป็นแบรนด์ของตัวเอง มีแผนที่จะย้ายฐานผลิต สามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าไม่มีศักยภาพเพียงพอ การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะการกู้ยืมเงินไปลงทุนในต่างประเทศนั้นยากกว่าลงทุนในประเทศอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบที่สนใจการค้า การลงทุนต้องหาข้อมูลให้เยอะๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก่อนการตัดสินใจ

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/605826

จริงหรือไม่? เวียดนามผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

จากรายงานของ e-Conomy Southeast Asia 2019 จัดทำโดย Google Temask เปิดเผยว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เวียดนามกำลังเฟืองฟูและเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2562 เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราการเติบโต 38% นับตั้งแต่ปี 2558

ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นตัวขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตที่รวดเร็วของตลาดในประเทศ ได้แก่ Sendo, Tiki, Lazada และ Shopee ประกอบกับชาวเวียนามประมาณ 61 ล้านคนที่ใช้สื่อออนไลน์และใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชม. 12 นาทีต่อวัน และส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตา คือเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกของปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 กลายเป็น 1 ในภูมิภาคที่เติบโตทางธุรกิจออนไลน์ที่รวดเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากประชากรวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้นและนิยมใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน ซึ่งคาดว่าเวียดนามอาจแซงอินโดนีเซีย และขึ้นแท่นเป็นผู้นำการเติบโตสูงที่สุดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-digital-economy-asian

ส่องโอกาสธุรกิจร้านขายยาในเวียดนาม

เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนส่งเสริมการทำธุรกิจร้านขายยา อีกทั้ง มองว่าการที่เข้ามาลงทุนเปิดร้านขายยาของบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในเวียดนาม คาดว่าจะช่วยให้ตลาดนี้จะพัฒนามากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมยาเวียดนามมีศักยภาพสูงเพราะเวียดนามมีประชากรกว่า 90 ล้านคน พร้อมรายได้ที่สูงขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นนับเป็นทิศทางที่ดีสำหรับธุรกิจด้านยาและเวชภัณฑ์ โดยปัจจุบัน รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการผลิตยาในประเทศมากขึ้น จากการสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ภาษีการนำเข้าปัจจัยการผลิต และการใช้ที่ดิน เป็นต้น ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและโรงพยาบาล สำหรับกฎหมายใหม่ รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาหมายเลข 115/2018/ND-CP ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจด้านเภสัชกรรมในเวียดนามส่งผลให้บรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจในด้านดังกล่าวเปิดกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ โอกาสธุรกิจยาไทย ในการแก้ไขกฤษฎีกาในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทเวียดนามและบริษัทต่างชาติ สามารถนำเข้าเวชภัณฑ์ยามายังเวียดนามได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะยาเพื่อรักษาโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีความต้องการสูง สำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้านยาและเภสัชภัณฑ์ของไทยที่สนใจบุกตลาดเวียดนามควรมองแนวโน้มการพัฒนาและขยายตัวของการกระจายสินค้าแบบ Modern Trade และรีบคว้าโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vitenam-drugstore