การส่งออกภาคการผลิตสร้างรายได้ 5.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์เผยว่า มูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตมีมูลค่ามากกว่า 5.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายนในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 โดยสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกลดลง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปโดยภาคเอกชนมีมูลค่าประมาณ 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกที่ดำเนินการโดยภาครัฐมีมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ได้แก่ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาล ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอื่นๆ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 10 อันดับแรก รวมถึงก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-exports-generate-us5-87-bln-as-of-17-november/

256 CEO 76 จังหวัด ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนผลิต-ราคาสินค้าพุ่ง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 เดือน พ.ย. 66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป  รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11 – 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด  ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน  และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้ว ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริงซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน

ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/business/economy/582122

สนค. แนะไทยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ชิงแหล่งทุนจากทั่วโลก แห่ใช้อาเซียนฐานผลิตแห่งใหม่

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะสภาพแวดล้อมหมาะสม การย้านฐานผลิตของจีน หลังเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-จีน และไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากการเกิดโควิด-19 อาเซียนมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าของโลกอย่างรวดเร็ว จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ตุลาคม 2566 คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะขยายตัว 4.5% และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3% และ 2.9% ตามลำดับ

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์  https://www.matichon.co.th/economy/news_4304946

 

‘ฮานอย’ ต้อนรับนักท่องเที่ยว 22.6 ล้านคน

กรมการท่องเที่ยวของกรุงฮานอย รายงานว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 กรุงฮานอยต้อนรับนักท่องเที่ยว 22.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจากกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้าประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ มีจำนวน 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำรายได้มากกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 58.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ เงีย เฮือง ซาง (Dang Huong Giang) ผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยวฮานอย กล่าวว่าเมืองฮานอยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งมีการใช้โมเดลส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงจัดแพ็คเกจทัวร์กิจกรรมทางน้ำและศูนย์หัตถกรรม นอกจากนี้ยังได้สร้างแผนที่การท่องเที่ยวดิจิทัลในหลายภาษาที่นำร่องในบางเขต และได้นำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการนักท่องเที่ยว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-welcomes-226-mln-tourists-in-11-months/271935.vnp

กัมพูชาจัดทำระบบ “e-Arrival” ณ สนามบินแห่งชาติ 2 แห่ง ภายในปี 2024

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา (GDI) จ่อเปิดตัวระบบใหม่ภายใต้ชื่อ “Cambodia e-Arrival” ณ สนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพระสีหนุและสนามบินนานาชาติพนมเปญเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าระบบจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาในการกรอกแบบฟอร์มที่จำเป็นล่วงหน้า ผ่านแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลทางด้านวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง ใบรับรองการเข้าเมือง และใบศุลกากร เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวจะเปิดให้บริการที่สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ ภายในปี 2024 ตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต โดยได้กล่าวไว้ในขณะที่เป็นประธานในพิธีเปิดสนามบินแห่งใหม่เมื่อเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398559/cambodias-two-airports-to-have-e-arrival-system-in-2024/

สระแก้วถือมีบทบาทสำคัญต่อภาคโลจิสจิสติกส์ระหว่างกัมพูชา เวียดนาม และจีน

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หวังหารือเกี่ยวกับความสำคัญของจังหวัดในด้านเครือข่ายการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยสามารถรองรับการจราจรและการค้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนข้ามแดนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 110,000 ล้านบาทต่อปี ด้านนายกฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสามารถของจังหวัดสระแก้วในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับประเทศที่มีชายแดนติดกันกับไทย อย่าง กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย อีกทั้งยังมีแนวนโยบายในการจัดทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวสระแก้ว เพื่อให้สามารถข้ามชายแดนได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ภายใต้การดำเนินงานของด่านผ่านแดนคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางในเขตพื้นที่ดังกล่าวหวังดันการค้าและการเดินทางเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398538/sa-kaeo-plays-crucial-role-in-logistics-sector-commercial-relationships-with-cambodia-vietnam-and-china/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 67 ทะลุ 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ตั้งเป้าหมายยอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2567 มีมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเห็นสัญญาณเชิงบวกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้เผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มืดมน ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์โลกที่ลดลง แต่ความสำเร็จของการส่งออกสิ่งทอเวียดนาม เป็นผลมาจากความพยายามของภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้กว่า 104 ประเทศทั่วโลก นับเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมฯ แสดงให้เห็นว่าในเดือน ก.ย. สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าราว 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-44-billion-usd-in-textile-apparel-export-turnover-in-2024-vitas/271937.vnp

อัตราเงินเฟ้อของลาวลดลงเล็กน้อยเป็น 25.24% ในเดือนพฤศจิกายน

สำนักงานสถิติ สปป.ลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาวในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 25.24 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 25.8 ในเดือนตุลาคม เงินกีบที่อ่อนค่าถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้ จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน พบว่า ราคาสินค้าในหมวดโรงแรมและร้านอาหาร อยู่ร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ราคาอาหารปรุงสุก เช่น ปลาย่าง ยำเนื้อรสเผ็ด และก๋วยเตี๋ยว รวมถึงราคาเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ผลักดันราคาสินค้าหมวดนี้ หมวดอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ร้อยละ 31.8 หมวดเครื่องมือทางการแพทย์และยา ร้อยละ 26.5 หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 26.4 หมวดของใช้ในครัวเรือน ร้อยละ 25.3  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหมวดยาสูบ ร้อยละ 24.5 ส่วนหมวดการสื่อสารและการขนส่ง ร้อยละ 22.1 ต้นทุนสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 41.26 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปัจจัยบวกประการหนึ่ง คือ การที่ สปป.ลาว เกินดุลการค้ามากกว่า 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยมีการส่งออกมากกว่า 5.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 5.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.news.cn/20231128/386e00e66b6145809ca4526bc42744fb/c.html