‘เมียนมา’ เผยอุปสงค์จากต่างประเทศฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง หนุนราคาเมล็ดงาสูง

ราคาเมล็ดงาในตลาดมัณฑะเลย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยราคาเมล็ดงาดำจาก 340,000 จ๊าตต่อกระสอบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 365,000 จ๊าตต่อกระสอบ และราคางาขาวจาก 365,000-370,000 จ๊าตต่อกระสอบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 385,000-390,000 จ๊าตต่อกระสอบ ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวงาดำในฤดูกาลใหม่จากภาคกลางของประเทศกำลังไหลเข้าสู่ตลาด ผู้ซื้อชาวจีนยังคงซื้องาขาวและงาดำจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาเมล็ดงาเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมียนมาจึงส่งออกเมล็ดงาไปยังจีนผ่านชายแดนทางบก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/strong-foreign-demand-elevates-sesame-seed-price/#article-title

‘AMRO’ คาดเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 66 โต 4.5%

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะขยายตัว 4.7% และจะเร่งตัวขึ้นที่ 6% ในปี 2567 หลังจากชะลอตัวอย่างมากในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเวียดนามก็กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องมาจากได้รับสัญญาณจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นทางธุรกิจฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามในระยะสั้นยังคงมีความเปราะบาง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการเติบโตในระยะปานกลาง

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-economic-growth-projected-at-47-per-cent-in-2023-105916.html

‘หอการค้ายุโรป’ ชี้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสดใส

สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BCI) ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยูที่ระดับ 45.1 จากระดับ 43.5 ในไตรมาสที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีมุมมองเชิงบวกต่อสภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังนับเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกันที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 รวมไปถึงภาคธุรกิจยังคงระมัดระวัง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 22% ที่วางแผนจะขยายการดำเนินกิจการในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้ เมื่อประเมินความน่าดึงดูดการลงทุนทั่วโลก พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 63% มองว่าเวียดนามติดหนึ่งใน 10 อันดับของจุดหมายปลายทางการลงทุนจากต่างประเทศ และกลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งหนึ่งวางแผนที่จะลงทุนในเวียดนามภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่าง 59% เผชิญกับปัญหาจากกฎเกณฑ์ อุปสรรคในการขอใบอนุญาต และข้อกำหนดด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานที่เข้มงวดสำหรับแรงงานต่างด้าว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/bright-outlook-for-vietnams-economy-eurocham-report/

‘เมียนมา’ เผยราคาน้ำมันออกเทน 92 ดีดตัวขึ้น 2,000 จ๊าตต่อลิตร

ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 92 กลับมาดีดขึ้นที่ 2,015 จ๊าตต่อลิตรในเมื่อวันที่ 10 ต.ค. หลังจากราคาน้ำมันร่วงลง 5 วันติดต่อกัน ในขณะที่ราคาเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 2,115 จ๊าตต่อลิตร และราคาดีเซล 2,310 จ๊าตต่อลิตร ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับการนำเข้า การจัดเก็บและการจำหน่ายเชื้อเพลิง ระบุว่าดัชนีราคากำหนดโดยราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย (MOPS) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอิทธิพลต่อราคาเชื้อเพลิงในประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเดือน ส.ค. 2565 พบว่าราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดที่ 2,605 จ๊าตต่อลิตร และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 2,670 จ๊าตต่อลิตร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/octane-92-price-rebounds-to-over-k2000-per-litre/#article-title

ราคาน้ำมันเบนซินในกัมพูชาลดลง 250 เรียลต่อลิตร

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) ประกาศราคาน้ำมันเบนซินในช่วงสัปดาห์นี้ ลดลง 250 เรียลต่อลิตร อยู่ที่มูลค่า 4,300 เรียลต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซล ลดลง 200 เรียลต่อลิตร อยู่ที่ 4,650 เรียลต่อลิตร ซึ่งได้ประกาศราคาไว้สำหรับช่วงวันที่ 11-21 ตุลาคม 2023 ด้าน Pen Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า พลังงานเชื้อเพลิงโดยส่วนใหญ่ของกัมพูชานำเข้ามาจากสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในกัมพูชา ได้แก่ Tela Sokimex, Papa Savimex, Lim Long และบริษัทต่างชาติอื่นๆ ด้านผู้นำเข้าเชื้อเพลิงรายสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ Total, Caltex และ PTT โดยกระทรวงพาณิชย์จะประกาศราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกๆ 10 วัน เพื่อให้ทันต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501374895/gasoline-prices-down-250-riel-per-litre/

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือน

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 35,160 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมูลค่ารวม 1.69 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 5.9 เหลือมูลค่า 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี แคนาดา และสหราชอาณาจักร สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รองเท้า เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยาง ผลไม้ และสิ่งทอ ขณะในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และการนำเข้าสินค้ามูลค่า 2.99 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501374641/cambodias-international-trade-reaches-35-billion-in-nine-months/

EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆ ของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/2732127

‘ตลาดรถยนต์เวียดนาม’ ร่วงมาอยู่อันดับ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน (AAF) รายงานว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้นำตลาดที่มียอดขายรถยนต์ 505,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามมาด้วยไทย มียอดขายรถยนต์ 406,000 คัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลของคนในอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภครถยนต์ในเวียดนาม รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกำลังซื้อที่มีผลต่อยอดขายรถยนต์ลดลง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณายอดขายรถยนต์ในเดือน ส.ค. พบว่าปริมาณการขาย 22,540 คัน ลดลง 27% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากผู้บริโภคยังคงเข็มงวดในการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-automobile-market-slides-to-fifth-in-southeast-asia/269345.vnp