จับตา “บริษัทในอาเซียน” จำนวนมาก จ่อเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทในอาเซียน หลายแห่งกำลังพิจารณาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา โดยอาศัยความต้องการของนักลงทุนที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ สิ่งนี้เกิดขึ้นนอกเหนือจากแผนการที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ โดย VNG Corp บริษัทอินเทอร์เน็ตของเวียดนาม และ DoubleDragon Corp’s บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของฟิลิปปินส์ที่จะเข้าจดทะเบียนในสหรัฐฯ เป็นการเติมเต็มช่องว่างที่บริษัทจีนซึ่งหยุดชั่วคราว หลังจากความตึงเครียดทางการเมืองกับสหรัฐทวีความรุนแรงขึ้น จีนได้เข้มงวดการตรวจสอบบริษัทในประเทศที่แสวงหาการเข้าจดทะเบียนในต่างประเทศอย่างเข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวลง ทั้งนี้ บริษัทในอาเซียน ระดมทุนได้ประมาณ 101 ล้านดอลลาร์ผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐฯ ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วมากที่ 919 ล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าอัตราการระดมทุนจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มองหาแหล่งเงินทุนใหม่
‘เวียดนาม’ เปิด 3 scenarios การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวสูงสุด 6.5%
กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้วางฉากทัศน์ (Scenarios) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณีในปี 2567 โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตสูงขึ้นที่ 6.5% ซึ่งการคาดการร์ดังกล่าวมาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปี 2564-2568 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566
ทั้งนี้ ในกรณีที่ 1 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6% เป็นไปตามการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนโลกที่ยังคงเผชิญกับอุปสรรค ถึงแม้ว่าตลาดและบริการในประเทศจะมีทิศทางที่แข็งแกร่ง แต่การค้าต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมอาจไม่ฟื้นตัว
ขณะที่ในกรณีที่ 2 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6.5% เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ สถานการณ์ครั้งนี้จะคำนึงถึงอุปสงค์ การค้าและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
และในกรณีที่ 3 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6-6.5% สะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับโลกและในประเทศ
‘เวิลด์แบงก์’ ชี้การลงทุน FDI ในเวียดนามยังคงทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก
ธนาคารโลก (WB) ได้ออกรายงาน Vietnam Macro Monitoring ประจำเดือน ส.ค. 2566 ระบุว่ากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการเบิกจ่ายงบประมาณ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เหตุจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในประเทศและการส่งออก ในขณะที่ยอดค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้น 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด อีกทั้ง การลงทุน FDI ยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปยังเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 32% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.
‘เมียนมา’ เผย 4 เดือนปี 66 ส่งออกไปยังภูมิภาค ทะลุ 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์ (MoC) รายงานว่าการส่งออกของเมียนมาไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคในช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. มีมูลค่าเกินกว่า 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่การค้าอาเซียน-เมียนมา ผ่านเส้นทางทะเลและชายแดนทางบก มีมูลค่ากว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในภูมิภาค โดยมีมูลค่ามากกว่า 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์ (1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม อีกทั้ง สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าการเกษตรและประมง แร่ธาตุ ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และสินค้าอุปโภคบริโภค
ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว
ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ
สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง
8 เดือนแรกของปี กัมพูชานำเข้า น้ำมันและก๊าซ มูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์
สำหรับในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม ปีนี้ กัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซมูลค่ารวมกว่า 2.28 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยคาดว่าความต้องการในการใช้ผลิตภัณณ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 จากปริมาณ 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 100% ซึ่งมีแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่มาจากไทย เวียดนาม และสิงคโปร์
ด้าน OPEC, สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ล้วนคาดการณ์ถึงการขาดดุลของตลาดที่เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสหน้า เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่ควบคุมอุปทานการผลิตและการส่งออกทั่วโลก โดยคาดว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันจ่อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันในกัมพูชาล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) อยู่ที่ 1.12 ดอลลาร์ ต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลราคาอยู่ที่ 1.15 ดอลลาร์ ต่อลิตร
AMRO ปรับการเติบโต GDP ของกัมพูชาเหลือ 5.3%
องค์กรวิจัยเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กัมพูชา ลงเหลือร้อยละ 5.3 สำหรับการประมาณการครั้งที่ 3 ภายในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชามีอัตราการเติบโตที่ช้าลง และภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จึงทำให้ AMRO ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.7 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนเมษายนปีนี้
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362523/amro-revises-down-cambodias-gdp-growth-to-5-3-for-2023/