กระทรวงพาณิชย์เมียนมาจับมือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา ส่งออกข้าวโพดและข้าว กระตุ้นเศรษฐกิจ

มีรายงานว่า ข้าวโพดกว่า 5,400 ตันถูกส่งออกจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM) พร้อมด้วย 2,700 ตันจากท่าเทียบเรือ Shweme (SMJ) และข้าว 4,850 ตันจากท่าเรือ Wilmar International Port ซึ่งจุดเริ่มต้นด้านการส่งออกดังกล่าวนี้ ดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสหภาพสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีการส่งออกเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวโพด 71,900 ตัน และข้าว 6,000 ตันจากท่าเรือ Sule Port Wharves (SPW) ข้าวโพด 53,500 ตันจากท่าเรืออุตสาหกรรมเมียนมา (MIP), ข้าวโพด 58,400 ตัน และข้าว 12,500 ตันจากท่าเรือ Ahlon International Port Terminal (AIPT), ข้าวโพด 29,500 ตันจาก The Myanmar Terminal-TMT, ข้าวโพด 5,400 ตันจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM), 11,000 ตันจากท่าเทียบเรือนานาชาติย่างกุ้ง (YIGT) และข้าวโพด 2,700 ตันจาก Myanmar Five Star Line ( MFSL) ซึ่งการส่งออกเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-collaborates-with-umfcci-to-export-maize-and-rice-boosting-economy/

ไทยร่วมมือซาอุฯ ส่งเสริมพัฒนาสินค้าฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ นายมาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รมว.พาณิชย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียและคณะ เพื่อหารือความร่วมมือและแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซาอุดีอาระเบียมีความยินดีที่ได้ร่วมมือและดำเนินการร่วมกันในอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาลในภูมิภาคชาติอาหรับ อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมาก นับเป็นเรื่องสำคัญมากหากได้รับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้าฮาลาล รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย สามารถเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสินค้าฮาลาลระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดซาอุดีอาระเบีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากลยุทธ์และมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/804219

โครงการค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมข้าวกัมพูชา ดันการเพิ่มผลผลิตและการส่งออกข้าว

โครงการประกันสินเชื่อส่งออกข้าว (REGS) ได้รับการลงนามระหว่างองค์กรรับประกันสินเชื่อแห่งชาติ (CGCC) สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวในกัมพูชาอย่างโรงสีให้สามารถขยายการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บสต็อก เพื่อสีแปรรูป และส่งออก รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมภายในประเทศ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน สำหรับวงเงินโครงการอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์ โดยมีสถาบันการเงิน 7 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ AMK, Canadia Bank, FTB, Maybank, Prince Bank, Sathapana Bank และ Wing Bank ขณะที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชาแล้ว ทางการกัมพูชายังได้สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486350/rice-credit-guarantee-scheme-inked-to-boost-rice-productivity-and-export/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.48 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าในปัจจุบัน ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าทั้งสองฉบับทำให้สินค้ากัมพูชา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง เช่น ข้าวเปลือก กล้วยหอม มะม่วง ลองกอง มันสำปะหลัง และพริกไทย เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486365/cambodia-china-trade-continues-to-rise-in-jan-april/

‘เวียดนาม-มาเลเซีย’ จับมือส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ดันโอกาสครั้งใหญ่

คุณ Lê Phú Cường ที่ปรึกษาการค้าประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจ ปี 2567 ณ กรุงกัลป์ลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่มาเลเซียมีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนจำกัด หากเวียดนามร่วมมือกับมาเลเซียจะสามารถช่วยลดต้นทุนการวิจัยและได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655360/big-opportunities-remain-for-vietnam-and-malaysia-to-partner-in-new-technology-areas-official.html

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp

การสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ผ่านชายแดนเมียนมา-ไทย

กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2567 เพื่อเดินหน้าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไป-กลับ ย่างกุ้ง-เกาะสอง-ระนอง เพื่อการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งผู้ค้าสามารถสอบถามเกี่ยวกับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลใบอนุญาตมีการกล่าวถึงในระบบ Myanmar Tradenet 2.0 โดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเลือกย่างกุ้งในลำดับที่ 6 และ 7 สำหรับการนำเข้า และย่างกุ้งในลำดับที่ 6 และระนองในลำดับที่ 7 สำหรับการส่งออก นอกจากนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบอนุญาตส่งออกและนำเข้า และขอความช่วยเหลือด้านเทคนิค สามารถติดต่อฝ่ายส่งออกและนำเข้าผ่านหมายเลขติดต่อ 067 3408294 สำหรับการนำเข้า และ 067 3408325 สำหรับการส่งออก และฝ่ายสารสนเทศและเทคโนโลยี ผ่าน 067 3408221 และ 067 3408723

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/enquiry-available-for-container-shipping-process-via-myanmar-thailand-border/#article-title

เมียนมา-ไทยหารือการพัฒนาการเกษตรและการผลิตปศุสัตว์

วานนี้ 11 พ.ค. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสหภาพเมียนมา อู มิน น่อง เข้าพบ นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา และคณะ ณ ห้องประชุมกระทรวง ในการประชุมหารือการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนของไทยลงทุนในการผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ตามกฎหมาย การขยายพันธุ์โคนมและการผลิตผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อดึงดูดโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมา การส่งออกถั่วและถั่วชนิดต่างๆ จากเมียนมา การจัดตั้งเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับโคในประเทศเมียนมา การดำเนินการเขตควบคุมโรคในสัตว์ นโยบายในการส่งออกสัตว์ข้ามพรมแดน ข้อกำหนดสำหรับการพัฒนาบันทึกความเข้าใจสำหรับการส่งออกโค ความร่วมมือในการอนุรักษ์ปลาดุกหัวสั้น กระบวนการเพื่อการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ของทั้งสองประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่กรมกระทรวงร่วมประชุมด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-discuss-developing-agriculture-and-livestock-production/#article-title