‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ เผยสินเชื่ออสังหาฯ พุ่งต่อเนื่อง ปี 2558-2566

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยื่นส่งรายงานให้กับคณะผู้แทนสมัชชาแห่งชาติในเรื่องการจัดการตลาดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2558-2566 จากเอกสารรายงานระบุว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาฯ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.88 พันล้านล้านด่อง และได้มีการจัดสรรเงินไปยังกองทุนอสังหาฯ ประมาณ 1.09 พันล้านล้านด่อง และใช้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอีกราว 1.79 พันล้านล้านด่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าสินเชื่อคงค้างอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2558-2566 คิดเป็นสัดส่วนราว 18-21% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมดของเศรษฐกิจเวียดนาม และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องควบคุมกระแสเงินสดเข้าสู่ภาคอสังหาฯ และดำเนินการออกหนังสือเวียดนามเลขที่ 36, 22 และ 41 ซึ่งกำหนดว่าเงินกู้ระยะปานกลางและระยะยาวจะอยู่ในอัตรา 24-34%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-loans-increased-in-2015-2023-period-report-2271387.html

ธนาคารกลางกัมพูชาผลักดันการใช้สกุลเงินเรียลผ่านการจ่ายเงินเดือน

Governor Chea Serey ผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชา (NBC) เรียกร้องให้ภาคธุรกิจต่างๆ ภายในกัมพูชา ให้ความสำคัญกับนโยบายการจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นสกุลเงินเรียล (KHR) แทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า (GTF) ซึ่งธนาคารกลางกัมพูชาได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในกัมพูชา เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เงินสกุลเรียลแทนดอลลาร์ ในการจ่ายเงินเดือน โดยอุตสาหกรรม GTF ถือเป็นจุดสนใจสำคัญในการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากคิดเป็นประมาณกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า แม้เงินเดือนของแรงงานจะจ่ายเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ท้ายที่สุดแล้วการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการโอนเงินให้ครอบครัว ส่วนใหญ่ใช้เป็นสกุลเงินเรียล ด้านผู้ว่าการฯ ยืนยันว่ากรณีนี้เกิดขึ้นกับแรงงานประมาณร้อยละ 80 ในภาคอุตสาหกรรม GTF โดยปัญหานี้ทำให้แรงงานเสียเวลาและเสียเงินไปกับการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501465505/nbc-calls-for-more-salary-payments-in-riel/

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ แจ้งสถาบันผู้ออกบัตร เร่งตรวจสอบขั้นตอนการออกบัตร

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการทบทวนในเรื่องขั้นตอนการออกบัตรและการจัดการบัตรธนาคาร (Bank Card) ซึ่งธนาคารกลางให้ความสำคัญมากที่สุดในการรักษาความปลอดภัย สิทธิของผู้บริโภคและธนาคารที่ได้รับความคุ้มครอบภายใต้กฎหมายและระเบียบในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณดอกเบี้ย เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางอย่างเคร่งครัดและจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับแจ้งสิทธิและภาระผูกพันของตน โดยเฉพาะบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ธนาคารกลางเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ใช้มาตรการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและทราบถึงสิทธิของตน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652701/central-bank-told-card-issuers-to-review-procedures.html

‘เวียดนาม’ คาดสินเชื่อคงค้างในระบบ ไตรมาส 1 โตกว่า 4.4%

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คาดการณ์ว่าสินเชื่อคงค้างในระบบเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 4.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และมีมุมมองเชิงบวกตลอดทั้งปี โดยมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 14.2% สูงกว่า 40 จุด ที่คาดการณ์ก่อนหน้าที่ 13.8% ทั้งนี้ จากการสำรวจของหน่วยงาน พบว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวลดลง 30-40 จุด ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. และมองว่าเงินฝากจะเพิ่มขึ้น 2.6% ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าหนี้เสียจะลดลง แต่จากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อของกลุ่มธนาคาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/total-outstanding-loans-expected-to-expand-4-4-in-q1/

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ มีแนวโน้มที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำนักข่าวเวียดนาม เผยแพร่รายงานที่อ้างอิงจากนายด่าว มีง ตือ (Dao Minh Tu) รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และมีทิศทางที่จะกำหนดนโยบายการก่อหนี้ใหม่ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในปีนี้ และมองว่าธนาคารกลางจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่จะไม่เพิ่มภาระต้นทุน และปรับสมดุลเพื่อเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค

ที่มา : https://english.news.cn/20240104/8a44ca486df74e57aa193e879684b11b/c.html

‘Seeking Alpha’ เผยเศรษฐกิจเวียดนาม โตแรงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รอบ 10 ปี

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ Seeking Alpha ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขยายตัว 5.3% โดยได้แรงหนุนจากภาคครัวเรือนที่นำเงินออมที่เก็บสะสมในช่วงการระบาดโควิด-19 ออกมาใช้ อย่างไรก็ตามเวียดนามยังคงเผชิญความผันผวนจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวยและการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนาม ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลักดันให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในภูมิภาค ถึงแม้ว่าภาวะการค้าของเวียดนามจะปรับตัวลดลงและความกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามก็กลับไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-posts-highest-gdp-growth-in-southeast-asia-in-past-decade-us-website-post1055494.vov

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

ธนาคารกลาง สปป.ลาว ออกนโยบายสินเชื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) ได้รายงานแจ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของนโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมติของสมัชชาแห่งชาติ โดยการประชุมเพื่อร่างวัตถุประสงค์ของนโยบายจัดขึ้นที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ซึ่งมี ดร.Bounleua Sinxayvoravong ผู้ว่าการ BOL เป็นประธาน ร่วมกับรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ รองผู้ว่าการมณฑลและนายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์เข้าร่วมการประชุม โดยนโยบายสินเชื่อมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคบริการ เป็นสำคัญ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการสร้างงาน การรักษาเสถียรภาพการเงิน และการเงินในระดับมหภาค ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากรายงานสรุปของ BOL ที่นำเสนอในที่ประชุม นโยบายสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 2 นโยบายย่อย คือ นโยบายสินเชื่อเพื่อเติมเต็มช่องว่างดอกเบี้ยงบประมาณ 5 แสนล้านกีบ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี และนโยบายสินเชื่อเพื่อกระจายแหล่งทุนสู่ท้องถิ่น จำนวนเงินสูงถึง 1,500 พันล้านกีบ ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 5 ปี ภายใต้สกุลเงินกีบ (LAK)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Central104.php

ธนาคารกลาง สปป.ลาว จ่อดำเนินการกับผู้ ซื้อ-ขาย เงินตราต่างประเทศผิดกฎหมาย

การซื้อและขายสกุลเงินต่างประเทศระหว่างบุคคลและนิติบุคคลใน สปป.ลาว ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเป็นสิ่งต้องห้าม ด้านธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) ได้เตือนว่ามีเพียงธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ โดยได้แถลงการร่วมกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน BOL ได้ปิดหน่วยแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 419 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงธนาคารกลางยังได้เรียกร้องให้ประชาชนในท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และชาวต่างชาติ ใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับธนาคารหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ด้านรัฐบาล สปป.ลาว ยังให้คำมั่นว่าจะควบคุมเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten79_Central_y23.php

“แบงก์ชาติเวียดนาม” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) เตรียมที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้และอื่นๆ เป็นต้น นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ธนาคารกลางทำการร่างข้อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและขยายกรอบระยะเวลา โดยบริษัทเวียดนามหลายแห่งในปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับอุปสรรค ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและภาวะการส่งออกที่หดตัว 11.9% ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ที่มา : https://www.investing.com/news/economy/vietnam-central-bank-plans-loan-restructuring-for-struggling-businesses-3062243