ภาคเอกชนกัมพูชาเตรียมรับมือภาษี 36% ของสหรัฐฯ

ภาคเอกชนกัมพูชาได้เริ่มระดมความพยายามเพื่อตอบสนองต่อการยืนยันอัตราภาษี 36% สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยมีการจัดประชุมระดับสูงภายใต้กรอบ Government-Private Sector Forum (G-PSF) ในหัวข้อ “New US Tariff Impact and Export Competitiveness Measures” ซึ่งมี Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชาเป็นประธาน ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจาก 16 กลุ่มงานภาคเอกชน ผู้แทนจากองค์กรการค้าทั้งในและต่างประเทศ สมาคมธุรกิจ หอการค้าระหว่างประเทศ และผู้นำสำคัญจากสถาบันภาคเอกชนต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือและประสานงานการตอบสนองของภาคเอกชนต่อผลกระทบจากภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง เช่น การผลิตขนาดเบา, อุตสาหกรรมเกษตร, เครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, สินค้าเดินทาง, โลจิสติกส์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716428/private-sector-mobilises-efforts-to-respond-to-36-us-tariff/

‘เวียดนาม’ ไฟเขียวปรับขึ้นภาษีสุรา 90% ปี 2574

รัฐสภาเวียดนาม (NA) อนุมัติข้อเสนอที่จะปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอัตราเดิม 65% มาอยู่ที่ 90% ภายในปี 2574 โดยภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะกำหนดอัตราภาษีเบียร์และสุราที่มีแอลกอฮอล์ สูงถึง 70% ภายในปี 2570 ซึ่งล่าช้ากว่าข้อเสนอในครั้งก่อน 1 ปี ก่อนที่จะขยับขึ้นเป็น 90% ภายในปี 2574 และกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าเป้าหมายของการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษา KPMG ระบุว่าอุตสาหกรรมเบียร์ของเวียดนาม ผู้นำตลาดเบียร์ชื่อดังอย่างไฮเนเก้น (Heineken) รวมถึง Carlsberg Sabeco และ Habeco ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเมาแล้วขับที่มีความเข็มงวด ซึ่งกำหนดให้ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นศูนย์

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/asia/vietnam-parliament-approve-proposal-raise-tax-alcohol-90-cent-2031-5181876

กัมพูชา-สหรัฐฯ เตรียมเจรจาภาษีต่างตอบแทนรอบที่ 3

การเจรจารอบที่ 3 เกี่ยวกับภาษีต่างตอบแทนที่สหรัฐฯ กำหนดกับกัมพูชา จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ หลังการเจรจารอบที่ 2 ประสบความสำเร็จ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลายประเด็นของร่างความตกลงการค้า (ART) หลังจากการเจรจาระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2025 ณ Washington, DC โดยฝ่ายกัมพูชานำโดย Sun Chanthol และ Cham Nimul ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ นำโดย Sarah Ellerman ทั้งสองฝ่ายตกลงจะเจรจารอบที่ 3 ณ Washington, DC อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้ออกมาตรการป้องกันการปลอมแปลงแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกขอ “Origin Certification Letter” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้าน Dr. Jayant Menon จาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ให้ความเห็นว่า การเจรจาเรื่องภาษีภายใน 90 วัน (จนถึง 9 กรกฎาคม 2025) เป็นเรื่องยาก เนื่องจากกระบวนการคล้ายการทำ FTA ที่มักใช้เวลานานหลายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501696866/cambodia-us-trade-talks-round-three-in-near-future/

กัมพูชาขยายความสัมพันธ์ทางการค้าท่ามกลางการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ

กัมพูชากำลังเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ในขณะที่ต้องเผชิญกับมาตรการภาษีตอบแทนใหม่จากสหรัฐอเมริกา โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการปราศรัยของ นายกฯ ฮุน มาแณต ต่อที่ประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.) ซึ่งมีผู้นำจากสหภาพแรงงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบและสมาคมเจ้าหน้าที่วิชาการถึง 5,000 คนเข้าร่วม เนื่องในโอกาสครบรอบ 139 ปี วันแรงงานสากล (1 พ.ค.) โดยนายกฯ ได้เน้นย้ำถึงความพยายามของกัมพูชาในการกระจายความร่วมมือทางการค้า นอกจากนี้ ยังระบุว่าได้หารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือทางการค้ากับนายกรัฐมนตรีไทยระหว่างการเยือนกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ และมีแผนที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าต่อไป ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะมาถึง เพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติม แม้สหรัฐฯ จะมีนโยบายในการปรับขึ้นภาษีกับกว่า 200 ประเทศ ซึ่งต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้นโยบาย “ภาษีศุลกากรตอบโต้” โดยปัจจุบันถูกระงับไว้ 90 วัน ภายใต้นโยบายนี้ สินค้าจากกัมพูชาจะถูกเก็บภาษีสูงสุดถึงร้อยละ 49 เมื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501675690/cambodia-expands-trade-ties-amid-u-s-reciprocal-tariffs/

‘นายกฯ ญี่ปุ่น’ เดินทางเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ รับมือกำแพงภาษี

ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนเวียดนามและฟิลิปปินส์ เป็นระยะเวลา 4 วัน เพื่อหารือเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและเสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาค โดยการเดินทางในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน เดินทางมาเยือนกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นทางเลือกที่มีความมั่งคง แทนที่สหรัฐฯ

ทั้งนี้ นายกฯ ญี่ปุ่น กล่าวว่ากลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญที่กลายมาเป็นศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี เวียดนามและฟิลิปปินส์เผชิญกับผลกระทบครั้งใหญ่จากมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง รวมไปถึงผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการอยู่ในภูมิภาคนี้

ที่มา : https://www.bssnews.net/international/267231

‘ลดวันทำงานหรือเร่งผลิต’ ผู้ส่งออกเวียดนามเผชิญภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ท่ามกลางมรสุมภาษี

ผู้บริหารอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าโรงงานบางแห่งในเวียดนาม ได้รับคำสั่งให้ผลิตสินค้ามากขึ้นเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขณะที่อีกหลายโรงงานต้องลดจำนวนกะการทำงานลงเหลือสัปดาห์ละ 3 วัน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ถูกเลื่อนหรือยกเลิก จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความวุ่นวายของผู้ส่งออกเวียดนาม ซึ่งประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีสินค้าจากเวียดนามสูงถึง 46%

ทั้งนี้ Calvin Nguyen หัวหน้าบริษัทโลจิสติกส์ WeDo Forwarding ของเวียดนาม กล่าวว่าโรงงานต่างๆ เปลี่ยนแผนการผลิตและการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ โดยแบ่งกะการทำงานเป็นวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ และวันอังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์ แทนที่จะทำงานเต็มเวลา เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจำนวนมากถูกระงับ

อีกทั้ง ยังได้อ้างบริษัทอีก 3 แห่งที่ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเกษตรที่เปลี่ยนแผนการดำเนินงานของธุรกิจ เนื่องจากคำสั่งซื้อถูกเลื่อนออกไป แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะระงับภาษีศุลกากรต่างตอบแทน

ที่มา : https://www.straitstimes.com/asia/cut-shifts-or-ramp-up-output-vietnams-exporters-face-dilemma-amid-tariff-chaos

‘ภาษีทรัมป์’ ฉุดผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์เวียดนาม แข่งขันกับเวลา 90 วัน

พอล หยาง รองประธานของโรงงานที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามให้กับบริษัทชั้นนำ เช่น Williams-Sonoma และ Crate & Barrel Holdings ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าชาวอเมริกันให้ทำการจัดส่งเร็วขึ้นในช่วงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก่อนที่ได้รับความเสี่ยงจากการจัดเก็บภาษีสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะพุ่งสูงเกินควร สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสุดท้ายในการสร้างรายได้จากฐานลูกค้าที่มีมูลค่าต่อเศรษฐกิจเวียดนาม 400 พันล้านดอง หรือประมาณ 525 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเวียดนามไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก่อนที่สหรัฐฯ จะระงับเก็บภาษีสิ้นสุดลง

ที่มา : https://www.straitstimes.com/business/economy/us-china-trade-war-threatens-to-crush-vietnams-manufacturing-economy

‘เวียดนาม – เกาหลีใต้’ ให้คำมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ ท่ามกลางสหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษี

เกาหลีใต้และเวียดนาม ตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้น นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ระบุว่าทั้งสองประเทศ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี อยู่ที่ 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 ทั้งนี้ ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้ดำเนินธุรกิจในเวียดนามมาหลายปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตในจีนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองและการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ นายโชแทยูล รัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ได้เข้าพบกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เพื่อหารือแนวทางการรับมือต่อมาตรการภาษีศุลกากรที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้

ที่มา : https://www.thedailystar.net/business/news/south-korea-vietnam-pledge-cooperation-us-tariffs-loom-3872301

‘ก.คลังเวียดนาม’ เสนอขยายระยะเวลาชำระภาษีและค่าเช่าที่ดิน ปี 68

กระทรวงการคลังเวียดนาม (MoF) ดำเนินการระดมความคิดเห็นสาธารณชนเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาที่เสนอขยายเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าเช่าที่ดินในปี 2568 ทั้งนี้ ภายใต้ร่างพระราชกฤษฎีกา จะมีการเลื่อนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ออกไปเป็น 6 เดือนสำหรับยอดเงินที่ครบกำหนดชำระในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และไตรมาสแรกของปี 2568 ส่วนการชำระภาษีเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 จะขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือน คาดว่ายอดการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่เลื่อนออกไปทั้งหมด จะอยู่ที่ 62 ล้านล้านดอง โดยกำหนดเส้นตายการชำระภาษีขั้นสุดท้าย คือวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล กระทรวงฯ ได้เสนอให้ขยายระยะเวลาการชำระภาษีชั่วคราวออกไปอีก 5 เดือนสำหรับไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 โดยคาดว่ายอดรวมที่เลื่อนออกไปจะอยู่ที่ 36 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1692690/mof-proposes-tax-and-land-rent-payment-extension-for-2025.html

เงินดองอ่อนค่ามากสุดเป็นประวัติการณ์และมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี 2025

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เงินดองอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ โดยเงินดองอ่อนค่า 0.6%YTD มาที่ระดับ 25,535 ดอง/ดอลลาร์ฯ ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทำไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคม โดยปัจจัยหลักมาจากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ ที่เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2024 ประกอบกับธนาคารกลางเวียดนามยังปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงมาอยู่ที่ 24,522 ดอง/ดอลลาร์ฯ

ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดเวียดนามเกินดุลการค้าน้อยลงในปีนี้ส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันเงินดองอ่อนค่ารัฐบาลเวียดนามกำลังเผชิญแรงกดดันระหว่างการถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเวียดนามหรือต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองทางเลือกล้วนส่งผลให้การเกินดุลการค้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงิน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันค่าเงินดอง โดยปกติ เวียดนามจะมีเม็ดเงิน FDI ไหลเข้ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลบัญชีการเงิน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2023 มีกระแสเงินไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ เช่น ภาคการเงินการธนาคาร รวมมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงินซึ่งหลักๆ สะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในต่างประเทศตามการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงของเฟด ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของภาคการเงินเวียดนามที่ยังเปราะบาง

เงินดองยังมีแนวโน้มอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 25,600 ดอง/ดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2025 จากปัจจัยเสี่ยงมาตรการภาษีทรัมป์ และเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ส่วนโอกาสที่ธนาคารกลางเวียดนามจะเข้าพยุงค่าเงินดองคาดมีค่อนข้างจำกัด เพราะต้องรักษาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม โดยตั้งแต่เดือน ก.พ.-ต.ค. 2024 ธนาคารกลางเวียดนามใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ฯเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินดองส่งผลให้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 3.79 เดือน ในเดือน ก.พ. 2024 มาอยู่ที่ระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 2.45 เดือน ในเดือน ต.ค. 2024 (IMF ได้ให้เกณฑ์สากลว่าประเทศควรมีทุนสำรองสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้มากกว่า 3 เดือน)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 2025 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.63%YoY ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนามอยู่ในกรอบไม่เกิน 4.5%

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อ คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5% ไปจนสิ้นปี 2025 ภายใต้สมมุติฐานว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในปีนี้

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/VN-Dong-EBR4126-FB-2025-02-14.aspx