เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 3/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 7.40%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.1% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ 7.09%Y โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว
  • การส่งออกเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตชะลอลง
  • ​ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจาก 9 เดือนแรกที่เติบโต 6.75%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.0% จากตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3/2567 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2024 มาอยู่ที่ระดับ 12.6% จากเดิม 7.5%
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-GDP-EBR4087-FB-07-10-24.aspx

‘IMF’ ชี้เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวแรง เหตุได้แรงหนุนจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ

จากการหารือในประเด็น 2024 Article IV ระหว่างวันที่ 12-26 มิ.ย. นำโดยนาย Paulo Medas นักวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หลังจากเผชิญกับอุปสรรคในปลายปี 2565 และต้นปี 2566

และจากการสัมภาษณ์ล่าสุดของเจ้าหน้าที่ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวได้ดีตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรก ขยายตัว 6.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนมาจากการส่งเสริมของภาครัฐ และธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (SBV) ที่ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การขับเคลื่อนการลงทุนของรัฐบาลและค่าจ้าง

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคงกังวลถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น บ่งชี้ให้เห็นว่าเวียดนามต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา : https://thoibaotaichinhvietnam.vn/vietnamese-economy-recovers-rapidly-thanks-to-drastic-actions-imf-expert-154872.html

‘เวียดนาม’ ส่องอนาคตสดใส ดึงดูดการลงทุน FDI

ศาสตราจารย์ ดร. เหงียน ไม นายกสมาคมวิสาหกิจการลงทุนต่างประเทศ (VAFIE) กล่าวว่ามีปัจจัยหลายประการที่ขับเคลื่อนการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีสิ่งประหลาดใจที่รออยู่ข้างหน้า โดยจากข้อมูลในเดือน พ.ค. พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัวราว 7% สูงกว่าไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้รับปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งมาจากการดึงดูดการลงทุน FDI

นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายดึงดูดการลงทุน FDI ของเวียดนาม ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทั้งจากการช่วยการฝึกอบรมวิศวกร 50,000 คน และแรงงาน 500,000 คน และส่งเสริมกิจการขนาดใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ VinGroup, FPT ที่มีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้การสนับสนุนอย่างมากต่อการดึงดูด FDI ของเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/bright-prospects-in-vietnams-fdi-attraction-post289718.vnp

‘ฮานอย’ ตั้งเป้าครึ่งปีแรก GRDP โต 6%

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติฮานอย เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเมืองส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือน ม.ค.-มิ.ย. เพิ่มขึ้น 5% และดัชนีผลผลิตอุตฯ ในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ เมืองฮานอยได้ตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์ภูมิภาค (GRDP) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเมืองฮานอยเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับผลผลิตและขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ เมืองฮานอยมุ่งเน้นไปจะพัฒนาวัฒนธรรมและสังคม เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีวันปลดปล่อยของเมืองหลวง รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีการเชื่อมโยงกับทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ที่มา : https://en.nhandan.vn/hanois-grdp-estimated-to-grow-6-in-h1-post136905.html

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาด จากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาดจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9%YoY สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ แต่ก็มีปัจจัยฉุดจากการชะลอตัวของ FDI และการส่งออก
  • ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งแรกที่เติบโต 6.42%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.2% จาก 5.8%
  • ​อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EBR4069-KR-01-07-2024.aspx

‘GDP’ เวียดนามไตรมาสสองปี 67 โต 6.93%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ขยายตัว 6.93% นับว่าเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงสุดครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากภาคบริการที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัว 7.06% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 3.34% และภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.29% ในขณะที่เมื่อพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ GDP เวียดนาม ขยายตัว 6.42% ซึ่งต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขยายตัว 6.58%

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.39% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-gdp-grows-6-93-in-q2/

‘S&P Global’ ประเมินอันดับเครดิตเวียดนามไว้ที่ BB+

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของโลก (S&P Global) รายงานว่าเวียดนามได้รับการปรับขึ้นอันดับเครดิตสู่ BB+ จาก B พร้อมกับคาดการณ์แนวโน้มมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเวียดนามจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากอุปสงค์โลกที่เพิ่มสูงขึ้น และประเทศต่างๆ เริ่มคลี่คลายอุปสรรคในประเทศ โดยอันดับเครดิตสะท้อนได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศ ตลอดจนระดับหนี้ของภาครัฐฯ ที่อยู่ในระดับคงที่ และปัจจัยภายนอกที่แข็งแกร่ง ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงได้รับการประเมินในเชิงบวก สาเหตุจากบริษัทข้ามชาติกระจายการลงทุนในภูมิภาคนี้ และเวียดนามได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เม็ดเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าไปสู่ภาคการผลิตในอีกหลายปีข้างหน้า

ที่มา : https://ven.congthuong.vn/vietnams-ratings-affirmed-at-bb-with-stable-outlook-51221.html

‘ไทย’ เตรียมเปิดเส้นทางเชื่อมโยงทางทะเลเวียดนามและกัมพูชา

นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดโครงการระเบียงเศรษฐกิจกัมพูชา-เวียดนาม-ไทย (CVTEC) ภายใต้ชื่องาน “CVTEC-Trat Business Roadshow 2024” โดยมีผู้แทนจาก 6 จังหวัดของ 3 ประเทศ

ในขณะที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ได้เร่งจัดการประชุมการเชื่อมโยงทางทะเล CVTEC ด้วยการที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นผู้จัดงานร่วมและผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยง 3 ประเทศ ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ “หนึ่งตลาด 3 จุดหมาย”

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่าถึงความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในครั้งนี้ และภายในกรอบการประชุม ทางด้านผู้แทนภาคเอกชนและภาครัฐฯ ของทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailand-looks-to-maritime-tourism-connectivity-with-vietnam-cambodia-post288678.vnp

‘สหรัฐฯ’ ยืนยันสถานะทางเศรษฐกิจเวียดนาม หนุนโอกาสส่งออก

ในช่วงต้นเดือน พ.ค.67 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จัดการประชุมการยอมรับทางเศรษฐกิจแบบตลาดของเวียดนาม พบว่าเวียดนามแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรุหลักเกณฑ์ 6 ข้อที่ไว้ในการเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดของประเทศ รวมถึงดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ และอื่นๆ ซึ่งจากการปะเมินของนักวิเคราะห์ ได้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่เปิดรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ดีและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าอินโดนีเซีย แคนาดาและฟิลิปปินส์

ในขณะเดียวกัน นาง Nguyen Thi Thu Trang ผู้อำนวยการศูนย์ WTO และหอการค้าและการอุตสาหกรรมของเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการที่เวียดนามคว้าโอกาสจากการยอมรับสถานะทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ประกอบการเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตและการส่งออก เนื่องจากได้รับการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ก็สามารถกระจายห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจได้มากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/early-us-recognition-of-market-economy-to-increase-opportunities-for-vietnamese-exports-post288493.vnp

‘ADB’ ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการหญิงในเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคาร Lien Viet Post (LPBank) ร่วมลงนามข้อตกลงโครงการจัดหาเงินทุนทางการเงินให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ (WSMEs) ในเวียดนาม มูลค่าเงินทุนสูงถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการจัดหาเงินทุนดังกล่าว ประกอบไปด้วยเงินกู้จากเงินทุนสามัญของธนาคารเอดีบี 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินกู้ร่วม 50 ล้านเหรียญสหรัฐที่มาจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (CEXIM) และความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ซูซาน กาบูรี ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่าความร่วมมือกับธนาคาร LPBank ในครั้งนี้ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการสตรีในเวียดนามและมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ตลอดจนยังช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจในเวียดนามที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-supports-financial-access-for-women-owned-businesses-in-vietnam-post288523.vnp