เดือนต.ค. 65 ส่งออกข้าวเมียนมา พุ่งขึ้น 20.58% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2565 เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 136,205 ตัน เพิ่มขึ้น 20.58 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จีนยังคงเป็นนำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา คือมียอดการนำเข้าถึง 51,086 ตันหรือร้อยละ 37.5 ของยอดทั้งหมดของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวไปยังจีน ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป อินโดนีเซีย บังคลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา ประเทศในแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ในด้านเกษตรกรรม เมียนมาปลูกข้าวปลูกมากที่สุด รองลงมาคือถั่ว และถั่วพัลส์

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20221102/9de5ba59f4694ae79754c6e16980c946/c.html

25-26 ต.ค.65 ราคาหัวหอมในเมียนมา พุ่งสูงสุด เป็นประวัติการณ์

ราคาหัวหอมสูงตั้งแต่วันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2565 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดชายแดนที่เพิ่มมากขึ้น โดยในตลาดค้าส่งราคาหัวหอมพุ่งแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4,300 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) สาเหตุเกิดจากผลผลิตหัวหอมที่ลดลงในหลายภูมิภาคส่งผลให้ราคาในตลาดค้าส่งถีบตัวสูงขึ้น ในทำนองเดียวกัน ราคาหัวหอมจากจีนก็เพิ่มขึ้นจาก 1,800  จัตต่อ viss ในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 จัตต่อ viss ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ทำให้หัวหอมจากจีนเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาเพราะมีราคาถูกกว่าหัวหอมที่ปลูกในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/onion-price-heads-for-two-day-high/#article-title

“แบรนด์กาแฟสปป.ลาว” คว้าแชมป์เวทีระดับเอเชีย

เมาน์เทนคอฟฟี่ (Lao Mountain Coffe) แบรนด์กาแฟคุณภาพระดับพรีเมี่ยมจากประเทศสปป.ลาว คว้ารางวัลที่ 1 จากเวทีการแข่งขันระดับเอเชีย ซึ่งจากการแข่งขัน “World Coffee Challenge” จัดขึ้นที่เมืองโอว์แรนเซ (Ourense) ประเทศสเปน ตั้งแต่วันที่ 29-30 กันยายน ผู้มีเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 34 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป. ลาว ระบุว่ากาแฟเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของลาว และจำหน่ายไปแล้วกว่า 26 ประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือ ปัจจุบันรัฐบาลเร่งส่งเสริมการผลิตกาแฟในพื้นที่ 11 จังหวัด เพื่อตอบสนองความต้องการที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ สัดส่วนของตลาดส่งออกกาแฟสปป.ลาวในปีที่แล้ว พบว่าส่วนใหญ่ส่งออกกาแฟ (เมล็ดกาแฟดิบ) 56% ไปยังตลาดเวียดนาม รองลงมา 13% ญี่ปุ่น, (ไทย 12%), (กัมพูชา 3%), (เยอรมนี 2%), (จีน 1.5%), (สหรัฐฯ 0.9%) และ 11% ไปยังประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten193_Laocoffee.php

“เวียดนาม” ชี้ผู้ประกอบการค้าข้าวได้รับประโยชน์จากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากอินเดียจำกัดการส่งออกข้าว แต่เดิมอินเดียส่งออกข้าวไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลกและมีส่วนสำคัญต่อสัดส่วนการค้าข้าวโลกประมาณ 36.7% ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลกและเป็นแรงกดดันต่อราคาข้าวอีกด้วย ในขณะที่ฝั่งทางด้านผลผลิตข้าวยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศเลวร้ายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกหลัก ทั้งนี้ จากสภาพอากาศที่เลวร้ายในประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของเอเชีย ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตผลิตข้าวทั่วโลก ทำให้มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะปรับตัวลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) เปิดเผยว่าสินค้าคงคลังทั่วโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี มีอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อการบริโภคอยู่ที่เพียง 34.4% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 36.6% ในช่วงปี 2561-2565 ดันให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการค้าขาวบางรายของเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและการลดกำลังการผลิตของจีน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1338730/rice-companies-benefit-from-rising-prices.html

ถั่วลิสงเมียนมาล้นตลาด กดราคา น้ำมันถั่วลิสงลดลงเหลือ 11,000 จัตต่อ viss

ผู้ค้าถั่วตลาดมัณฑะเลย์ เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ราคาของน้ำมันถั่วลิสงลดลงเหลือ 11,000 วอนต่อครั้ง เนื่องจากผลผลิตถั่วลิสงสดออกมาจำนวนมากในตลาดมัณฑะเลย์ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา น้ำมันถั่วลิสงราคาพุ่งไปถึง 16,000 จัตต่อ viss (viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ส่วนราคาถั่วลิสงแตะ 6,500-7,500 จัตต่อ viss แต่เมื่อผลผลิตออกมาล้นตลาดส่งผลให้ราคาลดลงเหลือ 5,300-5,800 จัตต่อ viss นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ของชายแดนรุ่ยลี่ทำให้การค้าขายหยุดชะงัก ราคาจึงมีแนวโน้มลดลง เป็นผลดีต่อผู้บริโภค และถั่วลิสงจากภาคกลางและรัฐฉานกำลังจะถูกเก็บเกี่ยว ด้วยเหตุนี้ ราคาน้ำมันถั่วลิสงจึงไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยถั่วลิสงส่วนใหญ่ปลูกในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ซะไกง์ มะกเว และพะโค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/abundant-supply-of-peanut-drives-oil-price-down-to-k11000-per-viss/#article-title

5 เดือนแรกของปีงบฯ 65 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าว พุ่งแตะ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย 5 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมย.-เดือนส.ค.2565) ของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 889,991 ตัน จากบริษัทผู้ส่งออกข้าวประมาณ 44 แห่ง ทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 302 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 731,590 ตันส่งออกผ่านทางทะเล ไปยังประเทศในแอฟริกาและสหภาพยุโรป ในขณะที่กว่า 158,400 ตัน ส่งออกผ่านชายแดนไปยังจีน ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาเมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 20 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นจีน (108,269 ตัน) และฟิลิปปินส์ (95,019 ตัน) ขณะที่ราคาข้าวเมื่อเดือนที่แล้ว ราคาข้าวเกรดพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นเป็น 60,000-90,000 จัตต่อถุง ส่วนราคาข้าวเกรดต่ำจะอยู่ระหว่าง 35,500-50,000 จัตต่อถุง ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาได้ส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-300-mln-from-rice-export-in-past-5-months/#article-title

จีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา

ตลาดจีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา โดยกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียกร้องให้ผู้ส่งออกและบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับตลาดทั้ง 2 แห่ง ด้าน Song Saran ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสหพันธ์มีความตั้งใจเป็นอย่างสูงในการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจีนและยุโรป เพื่อรักษาระดับการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชา และตลาดสหภาพยุโรปกินส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 30 จากการที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 89 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกข้าวสารไปยังสหภาพยุโรปอยู่ที่ปริมาณ 122,842 ตัน มูลค่า 86 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501145311/china-eu-remain-potential-markets-for-cambodias-agri-products/

ราคามะม่วง Yingwe ในเมียนมา ดิ่งลง เมื่อเทียบกับปีก่อน

เกษตรกรในรัฐฉานตอนใต้ เผย เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มะม่วง Yingwe  เกิดความเสียหาย ราคาดิ่งลงอยู่ที่ประมาณ 10,000 จัตต่อตะกร้าลดลงจากปีก่อนที่ 20,000 จัตต่อตะกร้า ทั้งนี้เกษตรกรในรัฐฉานส่วนใหญ่ส่งออกมะม่วง Seintalone และมะม่วง Machitsu ไปยังจีน ส่วนมะม่วง Yingwe ส่งไปขายยังตลาดย่างกุ้งเป็นหลัก จากสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปยังจีนได้ ทำให้เกษตกรมีรายได้ลดลงอย่างมาก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/price-of-yingwe-mango-weak-in-domestic-market/#article-title

เดือนเม.ย.-ก.ค.65 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 733,000 ตัน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย 4 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (เม.ย.-ก.ค.2565) เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 733,098 ตัน โดยมีรายได้ประมาณ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังพบว่าการส่งออกในเขตชายแดนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วสาเหตุความล่าช้าเกิดจากความเข้มงวดของชายแดนจีน ปัจจุบันมีการส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 10,000 ถุง ผ่านชายแดนมูเซไปยังจีนทุกวัน ส่วนใหญ่เมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 20 ประเทศ เช่น จีน (92,622 ตัน) และฟิลิปปินส์ (91,374 ตัน) เป็นต้น โดยราคาพันธุ์ข้าวขาวอยู่ที่ประมาณ 325-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และพบว่าราคาข้าวของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่งอย่างไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้ถึง 700 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตันไปยังต่างประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับเกาหลีใต้ หวังเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา (MAFF) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Korea Agro-Fisheries and Food Trade Corporation และ Orient Group ของกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.ค.) เพื่อปูทางให้ภาคเอกชนของกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น ด้าน Sokhon รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามีผลผลิตส่วนเกิน อาทิเช่น ข้าว มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง และยางพารา พร้อมที่จะส่งออก หลังจากมีสต็อกเพียงพอสำหรับป้อนตลาดภายในประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรยังได้ลงนาม MoU ไตรภาคีอีกฉบับหนึ่งกับมหาวิทยาลัยและ Orient Group เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรในกัมพูชา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เพิ่มผลผลิต ห่วงโซ่มูลค่าการผลิต การเพิ่มมูลค่า และความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และความปลอดภัย โดยปัจจุบันกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวม 111.35 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากคิดเป็นปริมาณการค้ารวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 421.33 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501124224/kingdom-inks-mou-to-export-agro-products-to-s-korea/