‘เวียดนาม’ คาดรับอานิสงส์ส่งออกปลาทูน่าไปยังสหราชอาณาจักรดีขึ้น

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่าการส่งออกปลาทูน่าไปยังสหราชอาณาจักร (UK) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีมุมมองชิงบวก เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักร – เวียดนาม รวมถึงข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ที่สร้างโอกาสอาหารทะเลของเวียดนาม โดยเฉพาะปลาทูน่าที่สามารถเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกปลาของเวียดนาม มีมูลค่าเกินกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-tuna-exports-to-uk-positive-in-coming-months-association/267929.vnp

ม.ค.-ส.ค. กัมพูชาส่งออกไปยังสิงคโปร์โตกว่า 555%

ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสิงคโปร์ขยายตัวกว่าร้อยละ 554.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากมูลค่า 72.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 476.90 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสิงคโปร์ อยู่ที่ 622.77 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 78.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีอยู่ที่ 1.10 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อมูล GDCE แสดงให้เห็นว่าการส่งออกไปยังสิงคโปร์มีการเติบโตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ที่กัมพูชามีการทำการค้าด้วย ขณะที่การส่งออกของกัมพูชา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่มูลค่าประมาณ 15.69 พันล้านดอลลาร์ โดยสิงคโปร์ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 6 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว การส่งออกของกัมพูชาไปยังสิงคโปร์มีการเติบโตร้อยละ 556.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 4.3 ล้านดอลลาร์ เป็น 28.8 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกสินค้าประเภท ไข่มุก หินมีค่า โลหะ สินค้าที่ผลิตมาจากยาง เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรองเท้า เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนชาวสิงคโปร์เข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพื่อผลิตและส่งออกเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359846/cambodias-exports-to-spore-rise-by-555-in-jan-aug/

‘ไทย’ คู่ค้าหลักของเมียนมาในภูมิภาค

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าทวิภาคีของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทย ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเมียนมาในกลุ่มประเทศอาเซียน และจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) การค้าทางทะเลและบริเวณชายแดน มีมูลค่าอยู่ที่ 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเมียนมาไปยังตลาดไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินค้าประมง ถ่านหิน มะพร้าวและอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ เครื่องจักร สินค้า อุตสาหกรรมและอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันเมียนมาได้ทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย) ผ่านชายแดนทางบก ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี มูด่อง ทิกิ เกาะสองและแมแซะ ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/thailands-top-trading-partner-with-myanmar-among-regional-countries/#article-title

ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491

‘เวียดนาม’ พร้อมส่งออกทุเรียนไปยังอินเดีย

Nguyen Thi Thu Huong รองผู้อำนวยการกรมการอารักขาพืช กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) กล่าวว่าหน่วยงานกำลังดำเนินการตามขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังอินเดีย และจากรายงานของทางการ พบว่าทุเรียนสดของเวียดนามส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ จำนวน 24 แห่ง และผลไม้แช่แข็ง 23 แห่ง ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนสดกว่า 3 แสนตัน ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงฯ พบว่ารายได้จากการส่งออกทุเรียน มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 30% ของมูลค่าการซื้อขาย และเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ของปีที่แล้ว (420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-completing-procedures-to-export-durian-to-india-official-post129303.html

การส่งออกโดยภาพรวมของกัมพูชาขยายตัวเล็กน้อย

การส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 15.69 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาสำหรับในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ ที่มูลค่าการส่งออก 6.11 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.8 จากมูลค่า 6.24 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ขณะที่ประเทศส่งออกหลักอื่นๆ ได้แก่ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และไทย โดยการส่งออกไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 1.46 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เป็น 939 ล้านดอลลาร์ จาก 804 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและไทยอยู่ที่มูลค่า 770 ล้านดอลลาร์ และ 646 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ แม้ว่าการส่งออกในปีนี้จะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่การเติบโตของการค้าของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากกัมพูชามีข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนและเกาหลี ซึ่งข้อตกลงการค้าต่างๆ ถือเป็นความได้เปรียบสำคัญในการส่งเสริมภาคการส่งออกของกัมพูชา และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358565/cambodias-total-exports-marginally-up/

‘วงใน’ ชี้การส่งออกและการลงทุน ตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

นาย โด๋ ทัง ฮ่าย (Do Thang Hai) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่าถึงแม้ภาวะการส่งออกจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6% ในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตจนถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 32.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี นับว่าเป็นการขยายตัว 4 เดือนติดต่อกัน สาเหตุมาจากการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน โทรศัพท์ เสื้อผ้า สิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากไม้

นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐ ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. มีมูลค่าเกินกว่า 299 ล้านล้านดอง เพื่อที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 42.5% ของแผนประจำปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/exports-investments-remain-vietnams-economic-growth-driver-insiders/267732.vnp

‘เมียนมา’ ชี้ช่วง 5 เดือนปี 66 ยอดการค้าต่างประเทศ พุ่ง 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (เม.ย.-ส.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีอยู่ที่ 6.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขการค้าในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการค้าปรับตัวลดลงราว 690.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์และป่าไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่และสินค้าอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน สินค้านำเข้าหลักของเมียนมา ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าจากบริษัท CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-foreign-trade-soars-past-us13-bln-in-last-five-months/#article-title

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยข้อมูลการส่งออก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ว่ากัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 1.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่ารวม 296 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกัมพูชา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระดับทวิภาคี เพื่อหวังผลักดันการส่งออก รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นมายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ลงนามใน RCEP และ AJCEP รองรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น สำหรับเมื่อปีที่ผ่านมาการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ JETRO คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาส่งมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501355347/kingdoms-exports-to-japan-top-1b/

‘เมียนมา’ เผยส่งออกถั่ว เม.ย.-ส.ค. พุ่ง 630,000 ตัน

สมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ถั่วพัลส์ ถั่วฝัก ข้าวโพด และงาแห่งเมียนมา รายงานว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ในช่วง เม.ย.-ส.ค. ปริมาณ 630,000 ตัน ทำรายได้เกินกว่า 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดอินเดียและจีน นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมา มีสัดส่วน 33% ขณะที่พื้นที่ปลูกถั่ว มีสัดส่วนเพียง 20% ของพื้นที่ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-630000-tonnes-of-beans-pulses-in-april-august/#article-title