‘อาเซียน’ เปิดฉากถกประเด็นด้านเศรษฐกิจ เร่งดันกฎระเบียบเอื้อเปิดเสรีภาคบริการ เล็งจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ

‘อาเซียน’ ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) อย่างเป็นทางการครั้งแรก ถกประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งผลักดันทำกรอบอำนวยความสะดวกด้านบริการ จัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เร่งติดตามความคืบหน้าการอัปเกรด FTA พร้อมคุยญี่ปุ่นหารือแนวทางจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/home

จีนเปิดประเทศ! ดันท่องเที่ยว ส่งออกและลงทุนของเวียดนาม

ตามรายงาน “2023 outlook: Three ripples from China’s re-opening” ของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ระบุว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยบวกจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ว่าจะมีความหวังในการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการค้า ทั้งนี้ เวียดนามและไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนราว 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเท่าไรนักหากเทียบกับประเทศไทย

ที่มา : https://vir.com.vn/chinas-re-opening-to-impact-vietnam-99304.html

ตลาด Food Delivery ในอาเซียนโตเหลือ 5% ในปีที่ผ่านมา อาจทำให้ธุรกิจนี้อยู่ยากขึ้น

Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับธุรกิจ Food Delivery ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่าอัตราการเติบโตของยอดขายทั้งหมด (GMV) เหลือเพียงแค่ 5% จากปี 2021 มายังปี 2022 ทำให้มูลค่าตลาดของ Food Delivery นั้นอยู่ที่ 16,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับข้อมูล มูลค่าตลาดของ Food Delivery ในอาเซียน ทาง Momentum Works ได้รวบรวมตัวเลขจากผู้เล่นรายสำคัญๆ ในตลาดไม่ว่าจะเป็น Grab และ Food Panda ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในละแวกนี้ GoTo ของอินโดนีเซีย LINE MAN Wongnai และ Robinhood ของไทย รวมถึงผู้เล่นรายอื่นๆ ในอาเซียน โดยตัวเลขการเติบโตของ GMV ที่ลดลงในปี 2022 อาจทำให้ตลาด Food Delivery ในอาเซียนนั้นอาจทำธุรกิจได้ยากมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยในปี 2022 ที่ผ่านมาผู้เล่นอันดับ 1 ที่ครองตลาด Food Delivery ได้แก่ Grab มีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 54% รองลงมาคือ LINE MAN ที่ 24% และ Foodpanda 16% ขณะที่ Robinhood นั้นมีส่วนแบ่งตลาด 6% และ Shopee Food มีส่วนแบ่งแค่ 3% เท่านั้น ขณะที่มองภาพใหญ่ในอาเซียนนั้น Grab ยังคงครอง GMV มากที่สุดในอาเซียนที่ 54% ขณะที่ Foodpanda อยู่ที่ 19% และ GoTo ที่ 12% ขณะที่ LINE MAN และ Shopee Food นั้นกลับมี GMV รวมเท่ากันในอาเซียนที่ 6% โดยเทรนด์ธุรกิจ Food Delivery ที่ Momentum Works มองในปี 2023 นี้ได้แก่การกลับมาทานอาหารในร้าน เรื่องของ Cloud Kitchen หรือการส่งสินค้าสด ระบบ POS สำหรับร้านค้าที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในปี 2023

ที่มา : https://positioningmag.com/1415760

ส.อ.ท. ชี้จีนเปิด ปท.กระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การที่ประเทศจีนเปิดประเทศแม้อาจมีความกังวลในเรื่องของโควิด-19 อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมแลกกันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และมั่นใจในกระบวนการคัดกรองของแต่ละประเทศที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายเกรียงไกร ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่าการเปิดประเทศของจีน ถือเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เมื่อภาคอุตสาหกรรมเดินหน้า ภาคบริการต่างๆ กลับมา ก็ทำให้ซัพพลายเชนต่างๆ ที่เคยมีปัญหาก็คลี่คลาย และจีนก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียนรวมถึงไทยด้วย ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจในอาเซียนแข็งแกร่งขึ้น พร้อมมองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยปีนี้จะอยู่ที่ 25 ล้านคน

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_480456/

ADB ปรับลดการเติบโต GDP ของกลุ่มประเทศอาเซียนลง

เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยข้อมูล GDP ของประเทศในอาเซียนจะเติบโต 4.3% แต่ล่าสุดปรับลดลงเหลือ 4.2% นอกจากนี้ยังลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 จาก 4.9% ลดลงเหลือ 4.6% เนื่องจากการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อออกไป ทั้งนี้ ADB ยังได้ประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในสปป.ลาวจะอยู่ที่ประมาณ 23% ในปี 2565 และจะลดลงเหลือ 10% ในปี 2566

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/12/16/adb-lowers-gdp-growth-for-asia-in-latest-forecast/

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแทน โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก โดยข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุเสริมว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1042066

เมียนมาส่งออกถั่วทะลุ 1 ล้านตันในช่วง 8 เดือนของปี 65

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา  8 เดือนของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน-เดือนพฤษจิกายน 2565) เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 1.05 ล้านตัน เป็นการส่งออกทางทะเล 897,499 ตันผ่านเส้นทางทะเล และทางบก153,311 ตัน จากข้อมูลของสมาคมพ่อค้าถั่ว ถั่วพัลส์ และงาของเมียนมา พบว่า การส่งออกถั่วและงาของประเทศนั้นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 249,245 ตัน มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถั่วเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของเมียนมา รองจากข้าว และคิดเป็นร้อยละ 33 ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-brings-in-over-826-mln-from-pulses-exports-in-eight-months/

ห่วง ส่งออกไทยเริ่มติดลบ! ซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเมื่อเทียบอาเซียน

นางสาวจุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร สส. กทม. เขตบางรัก สาทร และ ปทุมวัน และ โฆษกคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมเริ่มติดลบที่ -4.4% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าห่วงว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มแผ่ว มีแนวโน้มอาจจะไม่สู้ดีนักในปลายปีนี้ และจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ขอตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ขยายได้ 4.5% นั้น แม้จะดูเหมือนดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำมากเพราะ ในไตรมาส 3 มาเลเซียขยายได้ 14.2% เวียดนาม 13.7% ฟิลิปปินส์ 7.6% อินโดนีเซีย 5.7% แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสิงคโปร์ยังขยายได้ 4.4% และถ้านับ 9 เดือนตั้งแต่ต้นปีไทยขยายได้เพียง 3.1% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นเช่นกันตามที่เสนอไว้แล้ว และต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นคืนที่เดิมจากการติดลบ 6.2% ในปี 2563 เพราะปี 2564 ขยายได้เพียง 1.5% ปีนี้ก็น่าจะได้เพียง 3% กว่า ซึ่งยังห่างจากที่เศรษฐกิจไทยที่ตกลงมาพอสมควร ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นในอาเซียนได้ขยายตัวเกินกว่าที่ตกลงมาไปมากแล้ว

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_629987

‘จุรินทร์’ เดินหน้าขยายความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าไทย-จีน ในโอกาสเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022

“จุรินทร์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้คำกล่าว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา โดยประกาศขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในดารจัดประชุม APEC 2022 พร้อมผนึกกำลังจีน เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ การค้า และรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ จากนโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน โดยผลักดันความร่วมมือภายใต้โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนานาประเทศตามรูปแบบการพัฒนาของจีน และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักว่าจีนมีขีดความสามารถและศักยภาพที่จะดำเนินความร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อเพื่อเสริมสร้างประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

ที่มา : https://www.naewna.com/relation/691045

‘นายกฯ’ เตรียมเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชา 10-13 พ.ย.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเยือนกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 โดยนายกรัฐมนตรีของไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ความร่วมมือเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อพัฒนาดิจิทัลในภูมิภาค

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/politics/982961/