ญี่ปุ่นช่วยฟื้นฟูชุมชนสปป.ลาวจากอุทกภัยทางธรรมชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคเงิน 180 ล้านเยนญี่ปุ่น (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงสองปีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงทางตอนใต้ของสปป.ลาว ภายใต้ข้อตกลงระหว่างปี 2564 ถึง 2565 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสถานทูตญี่ปุ่นประจำสปป. ลาวและโครงการอาหารโลก (WFP) จะแจกจ่ายข้าวให้กับประชาชนประมาณ 35,000 คน เพื่อสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูด้านวามมั่นคงของอาหารนอกจากนี้ WFP รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร รวมถึงแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มั่นคงและมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_36.php

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

International Finance Corporation เสนอแผนปฏิรูปด้านการลงทุนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

International Finance Corporation เผยแพร่รายงานที่เกี่ยวข้งกับการลงทุนในสปป.ลาว โดยมีรายละเอียดในเรื่องการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนแบบองค์รวมควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องของสปป.ลาว จะช่วยให้สปป.ลาวดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลากหลายและมีคุณภาพสูงขึ้น แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้สปป.ลาวสามารถขยายเศรษฐกิจและสร้างงานเพิ่มขึ้น การปฏิรูปด้านการลงทุนมีเป้าหมายเพื่อให้ตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกของการลงทุนโดยตรงต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา FDI เป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสปป.ลาว อย่างไรก็ตามรายงานเผยว่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในทรัพยากรธรรมชาติทำให้เกิดโอกาสในการทำงานที่ จำกัด และไม่สามารถปลดล็อกศักยภาพของ FDI ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สปป.ลาวจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อโอกาสในการดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมวึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_New35.php

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

การสำรวจวิสาหกิจในสปป.ลาว พบ ผู้ประกอบการรายย่อย มีสัดส่วนสูงถึง 94.2 %

ผลสำรวจสปป.ลาวในฐานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ยังคงมีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยสูง ซึ่งคิดเป็น 94.2 % ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศ โดยในปี 62 มีวิสาหกิจทั้งหมด 133,997 แห่ง เพิ่มขึ้น 9,124 เมื่อเทียบกับปี 56 จากการสำรวจสำมะโนเศรษฐกิจครั้งที่ 3 จัดทำโดยสำนักงานสถิติสปป.ลาวในปี 62-63 ตัวเลขทั้งหมดประกอบด้วยผู้ประกอบการรายย่อย 126,168 แห่ง วิสาหกิจขนาดเล็ก 6,600 แห่ง ( 4.9% ) วิสาหกิจขนาดกลาง 954 แห่ง (0.7%) และวิสาหกิจขนาดใหญ่ 276 แห่ง (0.2%)  การสำรวจระบุว่าผู้ประกอบการรายย่อยแสดงถึงเปอร์เซ็นต์ที่น้อยที่สุดในแง่ของการเข้าถึงการเงินจากธนาคาร แม้ว่าจะมีจำนวนมากที่สุดในทุกประเภทก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางมีเงินกู้ยืมจากธนาคารมากที่สุด 29.7% วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กคิดเป็น 27% และ 24.6% ตามลำดับ ผู้ประกอบการรายย่อยมีการเข้าถึงเงินกู้ เพียงร้อยละ 8.7  ทั้งนี้ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกถือเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนมากที่สุด รองลงมาคือร้านซ่อมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมีสัดส่วนรวมกัน 61.2% โรงงานแปรรูป 14.7% ในขณะที่ธุรกิจบริการ 10.6%  จากการสำรวจสถานประกอบการมีการจ้างงาน 490,373 คนซึ่งเป็นผู้หญิง 50.1% และ 90.6% ขององค์กรทั้งหมดจ้างคนงานเพียง 1-5 คน ซึ่งในปี 61 มีทุนจดทะเบียนวิสาหกิจทั้งหมด 649,000 พันล้านกีบและมีรายได้รวม 107,584 พันล้านกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Micro34.php

ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 133,997 หน่วยในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติสปป.ลาวเผยข้อมูลจำนวนหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานในสปป.ลาวเพิ่มสูงถึง 133,997 หน่วยในปี 2019 เพิ่มขึ้น 9,124 หน่วยจาก 124,873 หน่วยที่บันทึกไว้ในปี 2013 ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลที่ทางหน่วยงานทำการจัดเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อประสิทธิภาพสำหรับการนำมาใช้ในภายภาคหน้า อย่างไรก็ตามสปป.ลาวยังพบความท้าทายอีกประการหนึ่งในการจัดทำข้อมูลสารสรเทศคือการขาดความสามารถและความเข้าใจเชิงลึกในส่วนของจัดเก็บของหน่วยงานท้องถิ่นและความยากลำบากในการจัดเก็บของมูลบางอย่าง ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Number_33.php

เงินเฟ้อชะลอตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่สูง

 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง แต่อย่างไรชาวเวียงจันทน์จำนวนมากกล่าวว่ารายได้ของพวกเขาไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคายังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ค่าครองชีพในการดำเนินชีวิตยังคงสูงทำให้คุณภาพการชีวิตของพวกเขายังคงยากลำบาก ตามรายงานข้อมูลจากสำนักงานสถิติสปป.ลาว ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 113.95 จุดในเดือนมกราคมขยายตัวร้อยละ 2.01 เมื่อเทียบกับปี 63 ชะลอตัวจากเดือนธันวาคมที่ขยายตัวร้อยละ 3.19 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งค่าเงินกีบที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงเติบขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Inflation_32.php