สหรัฐผนึกอาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจ-พัฒนายั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤติซ้ำวิกฤติที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ทั้งโรคระบาดโควิด-19 และผลกระทบจากสงคราม ความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ น่าจะเป็นทางออก หรือ บรรเทาผลจากวิกฤติต่างๆ ได้ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 ตามคำเชิญของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 (ASEAN-U.S. Special Summit) ร่วมกับผู้นำอาเซียนชาติต่างๆ ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค รวมทั้งเป็นโอกาสให้พบกับภาคเอกชนสหรัฐเพื่อย้ำความพร้อมของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับสหรัฐ ด้านสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย การเดินทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ ได้ทราบถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อการเป็น Regional Hub ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงโปรโมท โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มเติม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1003673

กัมพูชาเร่งประชุมหารือร่วมประเทศอาเซียนช่วยเหลือเมียนมา

กัมพูชา ในฐานะ ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปี  2565 จะเป็นเจ้าภาพการประชุมปรึกษาหารือด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเมียนมาในวันศุกร์ที่ 6 พ.ค.2565 แบบไฮบริดผ่านการประชุมทางวิดีโอ โดยจะมี Mr. Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียน จะร่วมเป็นประธานการประชุม ณ กรุงพนมเปญ โดยการเข้าร่วมจะมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของอาเซียน หน่วยงานจากสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะหารือถึงวิธีการสนับสนุนด้านวัคซีนโควิด-19 ให้กับเมียนมา

 

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220505/87782e5aaf724b559804b1db
90fbaf82/c.html

“ททท.” เร่งบูสต์ตัวเลขนักท่องเที่ยว ตั้งเป้าไตรมาส 4 เดือนละ 1 ล้านคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 444,039 คน สร้างรายได้รวม 34,173 ล้านบาท โดยตลาดหลักที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยุโรป 265,888 คน สร้างรายได้ 21,894 ล้านบาท รองลงมาคือ เอเชียตะวันออก 85,362 คน สร้างรายได้ 4,674 ล้านคน อาเซียน 45,471 คน สร้างรายได้ 2,139 ล้านบาท เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 39,891 คน สร้างรายได้ 2,535 ล้านบาท และอเมริกา 33,875 คน สร้างรายได้ 2,691 ล้านบาท และประเมินว่าจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิก Test & Go 1 พฤษภาคม 2565 รอบนี้จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดย ททท.ตั้งเป้าว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศไทยไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อเดือน และตั้งเป้าว่าในช่วงไตรมาส 4 หรือในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มเป็นเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่ง ททท.จะเร่งทำการตลาดโดยเร่งด่วนทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล

ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-922701

นายกฯ พอใจส่งออกมะม่วงไทยอันดับ 2 ในอาเซียน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจมูลค่าการส่งออกมะม่วงสดของไทย ซึ่งปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก สะท้อนความนิยมของผลไม้ไทยซึ่งมีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมสนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติมผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาขยายช่องทางการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติมในประเทศคู่เจรจา FTA รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาเพิ่มเติมรูปแบบ ช่องทางของสินค้าในการส่งออก ทั้งในด้านการออกแบบ การแปรรูปสินค้าเพื่อให้สามารถเพิ่มมูลค่า

ที่มา : https://tna.mcot.net/politics-930848

‘เวียดนาม’ เล็งขึ้นแท่นเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในอาเซียน ปี 2568

เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2568 ในขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซจะดึงดูดกิจการขนาดใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น ทางด้านคุณ Do Huu Hung ผู้อำนวยการของบริษัท Accesstrade มองว่าอีคอมเมิร์ซควรเป็นก้าวแรกของการเดินทางออนไลน์ ตามมาด้วยบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความมั่นในให้กับผู้บริโภคและปรับปรุงประสบการณ์การช้อปปิ้ง หากบริการด้านโลจิสติกส์ดีขึ้นแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 50-60% ของเศรษฐกิจเวียดนามในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ตามรายงาน “e-Commerce White Book 2020” เปิดเผยว่ารายได้ทั่วโลกจากอีคอมเมิร์ซแบบ B2C มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงปี 2562-2566 จากระดับ 1.94 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 2.88 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาซียน รวมถึงเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-become-second-largest-digital-economy-in-southeast-asia-in-2025-experts/225333.vnp

มกอช. นำทีมคณะผู้แทนไทย เป็นเจ้าภาพประชุม EWG-OA เร่งปรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับ 10 ประเทศอาเซียน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. พร้อมด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (Expert Working Group for Organic Agriculture : EWG-OA) ครั้งที่ 6 ผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ซึ่งในปีนี้สาธารณรัฐสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมีประเทศไทยทำหน้าที่รองประธาน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในอาเซียนที่ยั่งยืนมีระบบการจัดการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค ลดการสูญเสีย และลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการหารือประเด็นที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1. การปรับประสานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ให้เทียบเท่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (ASOA) 2. การปรับประสานระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดการยอมรับความเท่าเทียมของระบบของแต่ละประเทศ 3. การส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ASOA และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงได้

 

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000033951

กรมการท่องเที่ยว ชู 5 องค์ประกอบ ในแนวคิด DOT : Step up to New Chapter ก้าวสู่บทใหม่ที่ท้าทาย เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

กรมการท่องเที่ยว พลิกโฉมรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ด้วยแนวคิด DOT : Step up to New Chapter ก้าวไปสู่บทใหม่ที่ท้าทาย ด้วย 5 องค์ประกอบหลัก ทั้งการพัฒนาองค์กรด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ การบูรณาการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริการประชาชน การสร้างเครือข่าย และความเป็นมืออาชีพ ชูการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพตามมาตรฐานของอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals: MRA on TP)

 

ที่มา : https://www.pimthai.co.th/106043

‘อาคม’ เผยปมขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ไม่กระทบส่งออกอาเซียน ยัน อัตราว่างงานลดลงตามลำดับ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ในส่วนกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องฐานะการเงินของประเทศ แนวนโยบายในการบริหารโควิด-19 ก็เดินคู่กับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ เราพยายามจะรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ เห็นได้จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ GDP แต่ละไตรมาสที่ดีขึ้นตามลำดับ แม้ว่าจะมีโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม แต่ความรุนแรงไม่เท่าสายพันธุ์เดลต้า เพราะฉะนั้นกิจกรรมธุรกิจต่างๆ ยังสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ ประเด็นสำคัญคือการเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแต่ละครั้งนั้นสิ่งที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจของเราสามารถเดินต่อได้มี 2 เรื่อง คือเรื่อง ภาคเกษตร เป็นภาคที่สำคัญ เพราะกระทบต่อรายได้ของประชาชน กับเรื่อง การค้าขายชายแดน ซึ่งผมได้ลงไปในพื้นที่ชายแดนหลายจังหวัดพบว่าช่วงโควิด-19 นั้นการขนสินค้าข้ามแดนไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรายังพึ่งพาสินค้าอุปโภค-บริโภคกันอยู่” นายอาคมกล่าว

 

ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_3250986

โควิดปี 2020 ทำให้ชาวอาเซียนกว่า 4.7 ล้านคน ‘ยากจนขั้นรุนเเรง’ ตกงาน-ไม่มีรายได้

การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่เเล้ว มีส่วนทำให้ประชาชนในอาเซียนเข้าสู่ภาวะ ‘ยากจนขั้นรุนแรง’  (Extreme Poverty) เพิ่มขึ้นกว่า 4.7 ล้านคน เเละสูญเสียงานถึง 9.3 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสถานการณ์ก่อนโรคระบาด แม้ว่า ADB คาดว่าการเติบโต 5.1% ในปี 2022 จากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง แต่ก็เตือนว่าหากเกิดไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบใหม่ ก็สามารถลดการเติบโตได้มากถึง 0.8% ทั้งนี้ ADB เรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนจัดสรรเงินลงทุนเพิ่มเติมในระบบการดูแลสุขภาพ เพื่อปรับปรุงการเฝ้าระวังโรค และตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน อาจเพิ่มขึ้นอีก 1.5% หากการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้มีมูลค่าเเตะ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ จากปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 3%

 

ที่มา : https://positioningmag.com/1377981

เอดีบีชี้โควิด-19 ทำอาเซียนยากจนที่สุดปี 64

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) เผยแพร่รายงาน“การฟื้นตัวจากโรคระบาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในที่ประชุมเชิงสัมมนาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS) วันนี้ (16 มี.ค.65) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน อยู่ในความยากจนที่สุดในปี 2564 ขณะที่การจ้างงานในปีดังกล่าวหายไปถึง 9.3 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เอดีบี ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2565 ลดลง 0.8% ขณะที่คาดการณ์ว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้ยังคงต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิด-19 ระบาดมากกว่า 10% โดยในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ไม่มีทักษะ แรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล ซึ่งเอดีบี ระบุด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะสดใสขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าหรือทรัพยากรธรรมชาติ แต่ภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบต่างๆ ที่รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาคอขวดในระบบห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/993991