‘อาเซียน’ นัดประชุมรายสาขาด้านเศรษฐกิจครั้งแรก ตั้งเป้ายกระดับอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ การประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวม 23 ด้าน อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีผู้แทนจากเสาการเมือง เสาสังคมและวัฒนธรรม และผู้แทนภาคเอกชนของอาเซียน เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดผลได้จริง อาทิ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) และแนวทางการดำเนินการต่อไปในประเด็นแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สำคัญจากการประชุมที่ผ่านมา คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากมติที่ประชุม CoW สมัยพิเศษโดยแผนยุทธศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาประชาคมอาเซียนสู่ยุคดิจิทัลของทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดทำแผนดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3305016

‘พาณิชย์’ เตรียมนำสินค้าดาวเด่นทั่วไทย โชว์ศักยภาพในงาน FTA Fair พร้อมจัดเวทีเสวนา-จับคู่ธุรกิจ-คลินิกให้คำปรึกษา หนุนใช้เอฟทีเอขยายส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงาน “FTA Fair นำสินค้าไทย สู่ตลาดการค้าเสรี” นำเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า 40 บูธ ทั้งสินค้าเกษตร Future Food สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ พร้อมจัดเวทีเสวน า จับคู่ธุรกิจ และคลินิกให้คำปรึกษา สร้างแต้มต่อสินค้าไทยขยายส่งออกด้วยเอฟทีเอ 25 ก.พ. – 3 มี.ค. นี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 ด้านนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างแต้มต่อทางการค้าในการส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการไทย มีโอกาสและช่องทางขยายส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3300082

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting Retreat: AMM Retreat)

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers? Meeting Retreat: AMM Retreat) การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของปี โดยกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปี ๒๕๖๕ จะนำเสนอประเด็นสำคัญที่จะผลักดันภายใต้แนวคิดหลัก ?ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together? ที่เน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียน และการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้สามารถรับมือปัญหาท้าทายที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน รองนายกรัฐมนตรีฯ จะใช้โอกาสการเข้าร่วมการประชุมผลักดันความร่วมมือภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี และชูบทบาทนำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕ การเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/mfa/3298114

พณ.วางแผนปิดเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ในปี 65

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของไทย ในปี 2565 ว่า กรมฯเตรียมเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยและการใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ได้ตกลงเปิดเจรจาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างกำหนดแผนการเจรจาและคาดว่าจะนัดประชุมรอบแรกในเร็วๆ นี้ สำหรับการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ 2 ฉบับ คือ FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) กรมฯ ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่างกรอบการเจรจา ซึ่งดำเนินการใกล้เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังจากการเจรจาร่วมกัน โดยการจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะได้แต้มต่อทางการค้าจากการที่ประเทศคู่ค้าลดเลิกกำแพงภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_292724/

“สุพัฒนพงษ์” แจงสภาฯ ไทย รั้งอันดับ6 ใน8ประเทศอาเซียน ราคาพลังงานสูง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานตอบกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาฯ ต่อประเด็นปัญหาราคาค่าน้ำมันแพง ตั้งถามโดยนายกิตติกร โลห์สุนทร ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย  โดยยอมรับว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจมีความล่มแหลมและอาจนำไปสู่วิกฤตได้ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้คำนึงถึงและตระหนักต่อการแก้ไขปัญหา ทั้งการใช้กองทุนน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซล โดยปัจจุบันใช้กกองทุนไปแล้ว 1.5หมื่นล้านบาท และยังเตรียมที่จะกู้เงินอีก 2-3หมื่นล้านบาทเพื่อดำเนินการต่อ เบื้องต้นอยู่ในกระบวนการกู้เงิน และเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/987576

ม.ค. 2022 เพียงเดือนเดียว กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปแล้วกว่า 5.3 หมื่นตัน

ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวนกว่า 53,036 ตัน คิดเป็นมูลค่าสุทธิ 35.72 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งระบุว่าปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 54.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ด้วยการนำเข้าข้าวสารจากกัมพูชารวมกว่า 31,181 ตัน หรือร้อยละ 58.79 ของการส่งออกข้าวสารในช่วงเดือนมกราคม นอกจากนี้ กัมพูชายังได้ส่งออกข้าวเปลือกเป็นจำนวนกว่า 275,511 ตัน ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สร้างรายได้ 60.61 ล้านดอลลาร์ เข้าประเทศ ซึ่งในปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 617,069 ตัน มูลค่ารวมกว่า 418 ล้านดอลลาร์ ไปยังจีนและประเทศในสหภาพยุโรปรวม 24 ประเทศ และประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501019580/january-2022-sees-more-than-53000-tonnes-of-cambodian-rice-exports-worth-35-72-million/

‘เงินเฟ้อพุ่ง’ปัญหาเร่งด่วนของอาเซียน

ตอนนี้้ นอกจากจะรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19แล้ว ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง ซึ่งเป็นผลพวงจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกดัชนีซีพีไอเดือนม.ค.ของอินโดนีเซีย ทะยานสูงสุดในรอบ 20 เดือน  ส่วนสิงคโปร์อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.เพิ่มเป็น4% และมาเลเซีย เร่งควบคุมราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ทะยานขึ้นมากจนทำให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในเดือนธ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.2%

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/986461

“พิพัฒน์” จ่อเจรจาทราเวลบับเบิลจีน สทท.หนุนเพิ่มดีมานด์ตลาดอาเซียน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามกำหนดการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง 3-6 ก.พ.นี้ จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศจีน ถึงความเป็นไปได้ในการทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนโดยไม่ต้องกักตัว และปลายเดือน ก.พ. จะหารือกับทางการมาเลเซียเรื่องทำทราเวลบับเบิล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถิติการลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เมื่อ 1 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 9.00-24.00 น. ซึ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนประเภท Test & Go รอบใหม่เป็นวันแรก พบว่ามีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสรวม 35,046 ราย แบ่งเป็นประเภท Test & Go จำนวน 31,343 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3,290 ราย และ AQ หรือการกักตัว 413 ราย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/986185

สินค้าเกษตรไทยยังแข็งแกร่งในตลาดโลก เกษตรฯ เผย ปี 64 ส่งออกยังเติบโต ทั้งคู่ค้า FTA และอาเซียน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด – 19 ในปี 2564  โดยภาพรวมการค้าไทยกับทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 1,273,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 1,098,475 ล้านบาท  (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.96) หากพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งไม่นับรวมประชาคมอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการค้า อยู่ที่ 760,148 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.42)  โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย มีมูลค่ากว่า 597,634 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.81) ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 435,120 ล้านบาท

ที่มา : https://www.thailandplus.tv/archives/463973

ไทยใช้ FTA ปี 2564 10 เดือน ส่งออกโต 31% ทะลุ 6 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผย ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มูลค่า 63,104.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 31.67% โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เพื่อส่งออกไปอาเซียนยังคงครองอันดับ 1 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ สูงถึง 78.51% ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นทุกตลาดและตลาดที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อาเซียน (มูลค่า 21,539.08 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียนคือ เวียดนาม (มูลค่า 6,290.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) อินโดนีเซีย (มูลค่า 4,805.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) มาเลเซีย (มูลค่า 4,023.43 ล้านเหรียญสหรัฐ) และฟิลิปปินส์ (มูลค่า 3,806.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 2 จีน (มูลค่า 21,372.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 3 ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,891.79 ล้านเหรียญสหรัฐ) อันดับ 4 ญี่ปุ่น (มูลค่า 5,784.20 ล้านเหรียญสหรัฐ) และอันดับ 5 อินเดีย (มูลค่า 3,990.80 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับความตกลงการค้าเสรีที่มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA สูงสุด ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ FTA กับมูลค่าการส่งออกของสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ไทย-เปรู (100%) อันดับ 2 อาเซียน-จีน (96.06%) อันดับ 3 ไทย-ชิลี (94.54%) อันดับ 4 ไทย-ญี่ปุ่น (78.59%) และอันดับ 5 อาเซียน-เกาหลี (70.32%)

ที่มา : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-839857