‘เวียดนาม’ เปิด 3 scenarios การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวสูงสุด 6.5%

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้วางฉากทัศน์ (Scenarios) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณีในปี 2567 โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตสูงขึ้นที่ 6.5% ซึ่งการคาดการร์ดังกล่าวมาจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปี 2564-2568 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566

ทั้งนี้ ในกรณีที่ 1 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6% เป็นไปตามการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนโลกที่ยังคงเผชิญกับอุปสรรค ถึงแม้ว่าตลาดและบริการในประเทศจะมีทิศทางที่แข็งแกร่ง แต่การค้าต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมอาจไม่ฟื้นตัว

ขณะที่ในกรณีที่ 2 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6.5% เป็นไปตามเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ สถานการณ์ครั้งนี้จะคำนึงถึงอุปสงค์ การค้าและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

และในกรณีที่ 3 เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตที่ 6-6.5% สะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับโลกและในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1593945/ministry-projects-three-economic-growth-scenarios-for-2024-highest-at-6-5-per-cent.html

AMRO ปรับการเติบโต GDP ของกัมพูชาเหลือ 5.3%

องค์กรวิจัยเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ได้ปรับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กัมพูชา ลงเหลือร้อยละ 5.3 สำหรับการประมาณการครั้งที่ 3 ภายในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของกัมพูชามีอัตราการเติบโตที่ช้าลง และภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จึงทำให้ AMRO ปรับลดการเติบโตของ GDP ลงเหลือร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.7 ที่ได้คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 5.9 ในเดือนเมษายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501362523/amro-revises-down-cambodias-gdp-growth-to-5-3-for-2023/

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งแห่งเอเชีย

ศาสตราจารย์ คาร์ล เทเยอร์ (Carl Thayer) นักวิชาการด้านการศึกษาในเวียดนาม ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับปัจจัยหรือสาเหตุใดที่จะผลักดันให้เวียดนามกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย โดยเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของเวียดนามในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราการเติบโตทางการค้าเป็นตัวเลขสองหลัก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) แสดงความคิดเห็นว่าเวียดนามยังคงเป็นจุดสว่างทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าเวียดนามกลายมาเป็นดาวเด่นของเศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-is-a-rising-star-in-asia-professor-2187344.html

เมียนมาจ่อให้วีซ่าจีน-อินเดียหวังดึงนักท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ

โกลบอล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า รัฐบาลมีแผนให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียสามารถรับการตรวจลงตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเมื่อเดินทางมาถึงโดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวล่วงหน้า (visa on arrival) หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นเมื่อใดแต่มีกำหนดทดลองโครงการนี้เป็นเวลา 1 ปี ผู้ได้รับวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชมสถานที่ได้ทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่หวงห้ามเท่านั้นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ปัจจุบันพลเมืองของทั้ง 2 ชาติ ต้องยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่สถานทูตเมียนมา ขณะที่เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสายการบินเมียนมา แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชั่นแนล สายการบินแห่งชาติเริ่มเที่ยวบินตรงจากนครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ไปยังเมืองโนโวซีบีร์สก์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานนิวเคลียร์และเทคโนโลยีรายใหญ่

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2725600

‘วงใน’ ชี้การส่งออกและการลงทุน ตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

นาย โด๋ ทัง ฮ่าย (Do Thang Hai) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่าถึงแม้ภาวะการส่งออกจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6% ในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตจนถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 32.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี นับว่าเป็นการขยายตัว 4 เดือนติดต่อกัน สาเหตุมาจากการเติบโตของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน โทรศัพท์ เสื้อผ้า สิ่งทอและผลิตภัณฑ์จากไม้

นอกจากนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนภาครัฐ ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. มีมูลค่าเกินกว่า 299 ล้านล้านดอง เพื่อที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 42.5% ของแผนประจำปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/exports-investments-remain-vietnams-economic-growth-driver-insiders/267732.vnp

‘กองทุนสวิส’ เผยเวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่มีเสียรภาพของนักลงทุน

ซินเย่ว โหว (Xinyue Hou) ผู้จัดการกองทุนจาก Bellecapital สัญชาติสวิส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนามในกรุงเจนีวา เปิดเผยว่าเวียดนามมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่แรงงานเวียดนามมีชื่อเสียงในด้านความขยัน ความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ โดยสังเกตมาจากความพยายามของแรงงานที่ต้องการสะสมความมั่งคั่ง และแรงงานส่วนใหญ่เลือกที่จะกู้เงินทุนมากขึ้น เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง อีกทั้ง นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามจนถึงปี 2568 แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเสริมสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจมหภาคและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-remains-stable-destination-for-investors-swiss-fund/267721.vnp

CGCC ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ค้ำประกันในการออกพันธบัตรรายแรกของกัมพูชา

สำนักงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SERC) ภายใต้องค์กรกลางในการกำกับดูแลระบบการเงิน (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) ได้ให้การรับรองแก่บริษัทประกันเครดิตแห่งกัมพูชา (CGCC) ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ให้สามารถเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับการออกพันธบัตรเป็นรายแรกของกัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในท้องถิ่นมีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นภายใต้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาที่เหมาะสม โดย CGCC ได้พัฒนากรอบนโยบายการค้ำประกันพันธบัตรที่ได้รับอนุมัติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MEF เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดเงินในประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศกัมพูชา โดยในระยะถัดไปทางการจะเริ่มจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจาก Rating Agency of Cambodia ซึ่งขณะนี้ธุรกิจภาคเอกชนสามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ (SMEs) ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ผ่านการค้ำประกันการออกพันธบัตร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357935/cgcc-accredited-as-cambodias-first-bond-issuance-guarantor/

กัมพูชา-จีน ลงนาม MoU เพิ่มอีก 6 ฉบับ ยกระดับความร่วมมือด้านการลงทุน

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) และกระทรวงพาณิชย์ของจีน จ่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลงทุนที่ครอบคลุม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงการก่อสร้างอาคารระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจก่อนหน้านี้เพื่อกำหนดกลไกในการเสริมสร้างการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน กล่าวโดย Zhong Jie ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญ ระหว่างเจรจาหารือร่วมกับ Chea Vuthy เลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชาของ CDC ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับการค้าทวิภาคีระหว่างกัน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ได้รายงานว่ามูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่มูลค่าประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนร้อยละ 25.6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่ารวมในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 27,000 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501358251/cambodia-china-to-sign-6-more-mous-to-enhance-investment-cooperation/

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกแตะ 15.7 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.3%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) รายงานภาวะการส่งออกของกัมพูชาส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวม 15.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากมูลค่า 15.64 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละถึงร้อยละ 16.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 804.6 ล้านดอลลาร์

ซึ่งรายงานระบุว่าจีนถือเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของกัมพูชาที่มีศักยภาพ เหมาะสมแกการผลักดัน รองจากสหรัฐฯ และเวียดนาม ด้านสินค้าส่งออกหลักที่กัมพูชาส่งออก ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง จักรยาน และสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง และลำไย ขณะที่ Penn Sovicheat รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังจีนอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลมาจากการที่กัมพูชามีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นภาคการส่งออกไปยังจีนและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบข้อตกลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501357435/cambodias-exports-worth-15-7-billion-in-8-months-up-0-3-pct/

‘สหรัฐฯ’ หวังยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนาม เสี่ยงจีนโกรธจัด!

สหรัฐฯ คาดหวังว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามขึ้นสู่ระดับสูงสุด ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางไปเยือนกรุงฮานอยในอีกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีนและจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ นายเล ฮอง เฮียป (Le Hong Hiep) นักวิเคราะห์ระดับสูงจากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) ของสิงคโปร์ กล่าวว่าความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่า จากการยกระดับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ และจีนมีความสัมพันธ์ที่แย่ลงไปอีก อย่างไรก็ดีผู้นำในระดับสูงของเวียดนาม มองว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นเวลาที่ดีที่สุด เนื่องจาก ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและจีนจะมีทิศทางที่แย่ลงในอนาคต

อีกทั้ง อเล็กซานเดอร์ วูวิง (Alexander Vuving) เจ้าหน้าที่อาวุโสศูนย์วิจัยความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐ กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนาม เนื่องมาจากเศรษฐกิจเวียดนามมีความจำเป็นที่ต้องจัดหาเงินทุน เทคโนโลยีและการเข้าถึงทางการตลาด นอกจากนี้ เรื่องพลังงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม เพื่อผลักดันให้เวียดนามมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และพลังงานลมนอกชายฝั่ง ถึงแม้ว่าเผชิญกับความล่าช้าในด้านบริหารและการจัดหาเงินทุน

ที่มา : https://www.fijitimes.com/us-expects-to-upgrade-vietnam-ties-risks-china-anger/