Fitch Solutions คาดการณ์ GDP ของเวียดนาม ปี 64 โต 8.6%

Fitch Solutions ได้ประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเวียดนามในปี 2564 เพิ่มขึ้น 8.6% จาก 8.2% ก่อนหน้านี้ เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เหตุจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงการค้าเสรี อาทิ EVFTA, UKVFTA และ RCEP เป็นต้น เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ของปี 63 คาดว่าจะเติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนไว้ที่ 2.7%YoY ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 4 นั้น เนื่องมาเศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น แต่ยังได้รับการส่งเสริมจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคบริการ ทั้งนี้ การผลิตอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ที่มีสัดส่วนร้อยละ 33.7 ของ GDP ในปี 63 ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศในปีนี้ โดยทางฟิทซ์คาดการณ์ว่าภาคการผลิตจะดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ จากการได้รับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ โดยเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร – เวียดนาม (UKVFTA) นอกจากนี้ เรื่องการเปิดตัววัคซีน จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวและเวียดนามจะรองรับอุปสงค์จากต่างประเทศสำหรับการส่งออกมากยิ่งขึ้น

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/fitch-solutions-revises-up-vietnam-gdp-growth-forecast-to-86-in-2021-315738.html

แบงก์เวียดนามเตรียมทำกำไรต่อเนื่องในปีหน้า

คุณ Le Dat Chi รองหัวหน้าสาขาวิชาการเงิน มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์โฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่าถึงแม้ธนาคารกลางเวียดนามสั่งผู้ให้กู้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาเงินกู้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จำนวนธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับสิทธิดังกล่าว ดังนั้น รายได้และกำไรของธนาคารยังคงไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 6 ในปีหน้า และมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายด้านสาธารณะสำหรับเมืองสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีโอกาสที่จะปล่อยกู้มากขึ้น ทั้งนี้ ตามรายงานของ VNDirect นายหน้าหลักทรัพย์โฮจิมินห์ซิตี้ เผยว่าเมื่อเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัว ความต้องการเงินกู้ก็จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ขณะที่ การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ อยู่ที่ราวร้อยละ 9 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13-14 ในปีหน้า

  ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-banks-to-continue-making-profits-next-year-experts-4210813.html

กัมพูชาคาดการณ์ GDP ต่อหัวสำหรับปี 2021

กัมพูชาคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศไว้ที่ 1,771 ดอลลาร์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 1,600 ดอลลาร์ ในปี 2020 ประกาศโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยการเติบโตดังกล่าวเกิดจากความพยายามต่างๆของรัฐบาล รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนอุตสาหกรรมหลักของประเทศมีการพัฒนา ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับหนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และจะจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบภายในประเทศหากวิกฤตยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าการส่งออกด้านการผลิตโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่การส่งออกจักรยาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์เสริมก็มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 2 ในปี 2020 แต่จะกลับมาเติบโตอีกร้อยละ 4 ในปี 2021 ตามการคาดการณ์ล่าสุดของธนาคารโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50796394/cambodia-anticipates-1771-per-capita-gdp-for-2021/

เศรษฐกิจปีหน้าจะโต 4% ต้องทำอะไรอีกมาก

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบ 12.1% แล้วก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดการระบาดวงกว้างรอบ 2 จนถึงระดับที่จะต้องประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าถึงระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การส่งออกที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยสูงก็ยังต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของการค้าโลกในปี 2564 ด้วย ซึ่งต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการในระยะยาวอาจต้องลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยนมาพึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911383

เอสแอนด์พี โกลบอล คาดเศรษฐกิจเวียดนามโตสูงที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 64 โต 10.9%

เวียดนามจะกลับมาบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในปีหน้า คาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 10.9 นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ นาย Vishrut Rana นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P) กล่าวว่าถึงว่าแม้มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดตัววัคซันในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ส่งผลไปในทิศทางที่เป็นบวกแก่กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก แต่เวียดนามก็ยังคงเป็นประเทศที่ขยายตัวได้ดีกว่าในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 6 ของ GDP และคาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายในปีหน้า ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนนั้น จะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆนี้ แต่การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวยังคงหดตัวลงอยู่ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องมาจากความต้องการสินค้าเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 ในปีนี้ และจะพุ่งขึ้นร้อยละ 6 ในปี 2564

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-gdp-to-record-highest-growth-in-asia-pacific-at-109-in-2021-sp-315173.html

รัฐบาลสปป.ลาวให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

รัฐบาลมีแผนที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจโดยกรอบของแผนจะเริ่มในปี 2564-2568 และแผนดังกล่าวรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตอย่างยั่งยืน มีการกำหนดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ต่อปีเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2564-2568 ขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน Mr.Sonexay Siphandone กล่าวว่า “มีเป้าหมายหลายประการที่จะบรรลุในอีกห้าปีข้างหน้าและยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพิ่มรายได้ของประเทศและการลดการรั่วไหลทางการเงิน” อีกด้านหนึ่งการปรับปรุงโครงสร้างของเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับ SMEs และการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจที่สำคัญของสปป.ลาว อย่างไรก็ตามความท้าทายอย่างหนึ่งของสปป.ลาวคือภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ผันผวนปัจจัยนี้เองจะเป็นอุปสรรคที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจของสปป.ลาวในการเติบโตให้ได้ตามเป้าในอีก5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_239.php

แบงก์ชาติเวียดนามหั่นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 หวังบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP

จากการที่อัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลงในอีกไม่กีปีข้างหน้า เนื่องมาจากราคาเนื้อหมูลดลง ราคาน้ำมันและราคาก๊าซอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.5-3 ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ทางธนาคารกลางเวียดนาม ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ลงมาถึงร้อยละ 0.5 ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 4 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย rediscount rate ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5 เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยังสั่งให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดสำหรับระยะสั้น ลงเหลือร้อยละ 4.5 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและการส่งออก เป็นต้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-set-for-5th-policy-rate-cut-to-realize-gdp-growth-target-314966.html

เวียดนามส่งออกพุ่ง ดันเศรษฐกิจโตแซงเพื่อนบ้านใน ASEAN

โดย Marketeer

ทัพปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้โตจนประเทศเพื่อนบ้านต้องอิจฉา โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามจะโต 2.4% หลังสามารถสกัดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว และยอดส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ต่างจากชาติสมาชิก ASEAN ที่ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิด แม้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์และปิดประเทศ ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ ASEAN และอีกหลายประเทศทั่วโลก

ตามรายงานล่าสุดของ IMF ระบุว่า เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวใน ASEAN ที่เศรษฐกิจกลับสู่ขาขึ้น โดยปีนี้เศรษฐกิจจะโต 2.4% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จะโต 1.6% แม้เป็นอัตราที่น้อยแต่ยังดีกว่าสิงคโปร์กับมาเลเซียที่จะหดตัว 6% และไทยที่ยัง ‘’ป่วยหนัก’’ GDP ถดถอยถึง 7.1%

การกลับสู่ขาขึ้นของ เศรษฐกิจเวียดนาม มาจากหลายปัจจัย โดยนอกจากสกัดวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีแรงหนุนจากตัวเลขส่งออก ไตรมาส 3 ปีนี้การส่งออกโต 11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สินค้า Made in Vietnam ที่ได้เป็น ’พระเอก’ ในไตรมาสที่ผ่านมาคือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ที่ยอดส่งออกโต 20% หลังเกิดการระบาดรอบใหม่จนหลายประเทศต้องกลับมาทำงานและเรียนที่บ้านกันอีกครั้ง ทั้งนี้ เวียดนามยังเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลทางบวก โดยโรงงานในเวียดนามของ Foxconn และ Luxshare ที่ผลิต Smartphone และ Device เช่น ฟูฟัง ป้อนให้ Apple และ Samsung ต่างกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มตัว

ปัจจัยบวกทั้งหมดจะทำให้ปี 2021 เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัว 6.5% โดยแน่นอนว่าเมืองที่เงินลงทุนจากต่างชาติจะสะพัดและเงินในกระเป๋าของประชาชนจะเพิ่มขึ้นมากสุดคือ “Bac Giang” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://marketeeronline.co/archives/198699

INFOGRAPHIC : ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและจำนวนประชากร ในกลุ่มสมาชิกอาร์เซ็ป

จากข้อมูลของ Worldometer และ World Bank เปิดเผยว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสนธิสัญญาการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน และมี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 30% ของ GDP โลก

จำนวนประชากร ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 (ล้านคน) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562 (ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

  1. จีน – จำนวนประชากร 1,441 ล้านคน, GDP 14.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. เกาหลีใต้ – จำนวนประชากร 51.3 ล้านคน, GDP 1.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. ญี่ปุ่น – จำนวนประชากร 126.3 ล้านคน, GDP 5.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. อาเซียน – จำนวนประชากร 669.8 ล้านคน, GDP 2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  5. ออสเตรเลีย – จำนวนประชากร 25.6 ล้านคน, GDP 1.39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. นิวซีแลนด์ – จำนวนประชากร 4.8 ล้านคน, GDP 0.207 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันจันทร์ (4 พฤศจิกายน 2562) อินเดียถอนตัวจากข้อตกลง RCEP

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gdp-and-population-of-rcep-member-countries/190525.vnp

“สุพัฒนพงษ์” ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ลั่นปี’64 ปั๊มเศรษฐกิจเชิงรุก

“สุพัฒนพงษ์” ยิ้มรับ จีดีพี ไตรมาส 3 ฟื้นตัว มั่นใจไตรมาส 4 ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนให้ความร่วมมือตามนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวในประเทศ ลั่น ปี’64 ปีแห่งการลงทุน เร่งแผนปั๊มเศรษฐกิจเชิงรุก ลุยดึงดูดการลงทุนต่างชาติ วันที่ 16 พ.ย. 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 อยู่ที่ – 6.4% นั้นเป็นการประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ดีขึ้นกว่าที่คาดไว้ และจะส่งผลให้ไตรมาส 4 ดีขึ้นตามลำดับและตามซีซั่น พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ปี2563 จะอยู่ที่ -6.7% จากเดิมที่หลายฝ่ายประเมินว่าอาจติดลบ 9-12% โดยถือว่าอยู่ในระดับดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีความกังวลงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐปี64 จะต้องได้ 98% ของงบประมาณรายจ่ายนั้น มองว่า รัฐบาลต้องเร่งรัดประคองรายได้จากภาคการท่องเที่ยว กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และส่งออก อย่างไรก็ตาม ปีหน้า 2564 รัฐบาลจะเริ่มเปิดประเทศ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบตามมาตรการป้องกัน ควบคุมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตั้งเป้าว่า ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการดึงดูดการลงทุน ปฎิบัติตามแผนทำงานในเชิงรุก ประกอบกับการที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดการลงทุน เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ทั้งนี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นสิ่งสำคัญด้วย ” เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีนี้ ยิ่งประชาชนให้ความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนโครงการต่างๆตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบ้าง ยิ่งส่งผลดี อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ช่วงปลายปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปีหน้าจะเริ่มแผนเชิงรุกเพื่อดึงดูดลงทุนต่างชาติ”

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-556760