เวียดนามวางแผนส่งเสริมการค้าข้ามพรหมแดนระหว่างกัมพูชา

อานซาง ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของเวียดนามในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการค้าผ่านชายแดนขึ้นร้อยละ 15 ในปี 2021-2025 สู่ 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจังหวัดอานซางมีพรมแดนติดกับจังหวัดตาแก้วและจังหวัดกันดาลของกัมพูชา รวมระยะทางเกือบ 100 กม. ซึ่งมีประตูชายแดนข้ามระหว่างกัมพูชาอยู่ 2 แห่ง โดยวางแผนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าผ่านชายแดนระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการไหลเวียนของสินค้า ความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค และการรวมกลุ่มระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำมาตรการทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียมมาช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีในปัจจุบัน รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าและการฉ้อโกงทางการค้าข้ามพรหมแดนอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50877301/an-giang-province-seeks-to-foster-cross-border-exports-with-kandal-takeo-international-border-gates/

กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 8 หมื่นคน ในช่วง 4 เดือนแรก

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาลดลงถึงร้อยละ 92.9 ในช่วง 4 เดือนของปีนี้ เหลือเพียง 82,839 คน ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว คิดเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 41,794 คน หรือร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในช่วงตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนและเวียดนามอยู่ในอันดับที่สองและสามด้วยจำนวน 25,986 และ 4,814 ตามลำดับ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวในกัมพูชาลดลงเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวและกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามแผนเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนสามารถเดินทางมาเยือนกัมพูชาได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ภายใต้แผนการต้อนรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50875825/cambodia-received-only-82839-foreign-visitors-in-first-four-months/

ธนาคารโลกชี้ เศรษฐกิจกัมพูชากำลังฟื้นตัวแต่ความไม่แน่นอนยังคงอยู่

ธนาคารโลกรายงานถึงเศรษฐกิจของกัมพูชาที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4 ในปี 2021 หลังจากหดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากการกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศอีกครั้งเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยภาคอุตสาหกรรมการเกษตรค่อนข้างยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีที่สุด เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชาและจีน ส่วนภาคการผลิตค่อยๆ ฟื้นตัวจากการปรับตัวตามสภาวะภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป และในด้านธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกก็กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางกลับกัน ภาคบริการบางส่วน เช่น ที่พัก ร้านอาหาร และการคมนาคมขนส่ง ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างประเทศ ส่วนในด้านของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงทรงตัวอยู่ในระดับปกติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50876332/world-bank-says-cambodias-economy-recovering-but-uncertainties-remain/

ภาคอสังหาริมทรัพย์กัมพูชากำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในกัมพูชากำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักลงทุนต่างชาติลดลงอย่างมาก โดย www.Realestate.com.kh กล่าวว่าตลาดได้เปลี่ยนจากผู้ซื้อชาวต่างประเทศและชาวกัมพูชากลุ่มชนชั้นกลางไปจนถึงระดับสูงไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมากขึ้น จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 ราย ซึ่งเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ (ร้อยละ 47) กล่าวว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19 เกือบร้อยละ 60 โดยราคากลับมาอยู่ในช่วงที่สามารถจับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป ในส่วนของตลาดการเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนนำไปสู่ราคาค่าเช่าลดลงมาเหลือ 2 ใน 3 ของราคาค่าเช่า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50875164/real-estate-sector-turning-away-from-foreign-buyers-survey-finds/

กัมพูชาเตรียมจัดตั้งสหพันธ์อุตสาหกรรมการเกษตร

กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรภายในกัมพูชาเตรียมจัดตั้งสหพันธ์ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเติบโตภายในอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลในการเพิ่มการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในอนาคต โดยคาดว่าสมาพันธ์จะมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรในกัมพูชาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ครอบคลุมพืชผลและภูมิศาสตร์ทุกประเภททั่วประเทศในอนาคตอันใกล้ ซึ่งกัมพูชาส่งออกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 6 อย่างรวม 8.55 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.32 พันล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50875165/cambodia-agro-industry-federation-to-be-established/

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP : ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (ในที่นี้จะเรียกโดยย่อว่า “CLMVIP”) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2020 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 หลายประเทศในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงราวร้อยละ 4-7 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ CLMVIP ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (i) ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ii) การส่งออกที่ได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (iii) กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMVIP จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ในรายประเทศอาจมีลำดับการฟื้นตัวที่แตกต่าง เวียดนาม มีโอกาสฟื้นตัวโดดเด่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง และรายรับจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี ผนวกกับข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรีสำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) รวมทั้งยังมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใน CLMVIP มีระดับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและกัมพูชา อาจฟื้นตัวเป็นลำดับถัดจากเวียดนาม แม้อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่คาดว่าภาคส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ผลบวกจากแผนการขยายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กัมพูชาอาจได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก นำโดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป ฟิลิปปินส์ แม้มีปัจจัยหนุนจากขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP   แต่การเบิกจ่ายยังเป็นไปอย่างล่าช้า และสถานการณ์การระบาดในประเทศค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และกระทบต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อบริโภคในประเทศ สปป.ลาว มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ อีกทั้งขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่เมียนมา เผชิญประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในระยะนับจากนี้ และอาจมีผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะยาวหยุดชะงักลงไปได้

อ่านต่อ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/regional-recovery-2021