กัมพูชาวางแผนลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลักภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาภาคการเงินในประเทศ โดยกล่าวถึงความมั่นคงของค่าเงินเรียลที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในด้านเสถียรภาพทางเงิน ซึ่งคำนึงถึงปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเป็นสำคัญ โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ตัดสินใจที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการและเข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา NBC มีส่วนในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ประมาณ 4,050 เรียลต่อดอลลาร์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 4 และเป็นการลดความผันผวนที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้าและส่งออกภายในประเทศกัมพูชาที่จะต้องทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์กลับมาเป็นสกุลเงินเรียล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50829303/de-dollarisation-finds-willing-and-eager-base-in-rural-communities/

Cambodia Economic Factsheet : JANUARY 2020

เศรษฐกิจภาพรวมกัมพูชา ณ เดือน มกราคม 2020
– ดัชนีราคาผู้บริโภค
– รายรับรายจ่ายภาครัฐบาล
– นำเข้า ส่งออก
– จำนวนนักท่องเที่ยว
– หนี้สินส่วนบุคคลเพื่อการบริโภค
– หนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยภาคครัวเรือน
– เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
– อัตราแลกเปลี่ยน
– ส่วนสรุปรายงานภาวะเศรษฐกิจกัมพูชา

จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเตอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นในปี 2020

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกัมพูชาเพิ่มขึ้นในปีที่แล้วเนื่องจากมีความต้องการใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานซิมการ์ดภายในประเทศลดลง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (MPT) กล่าวว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 16 ล้านคน ในกัมพูชาได้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือและโทรศัพท์พื้นฐาน โดยการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมาจากการได้รับการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก และเนื่องจากการแพร่ระบาดทำให้ผู้คนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์มือถือ 5 ราย ในกัมพูชา ได้แก่ Smart, Cellcard, Viettel, Cootel และSeaTel และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพื้นฐานอีก 42 ราย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828681/number-of-registered-internet-subscribers-increases-in-2020/

บริษัท ซีพี (กัมพูชา) ลงทุน 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตอาหารสัตว์

ซีพี (กัมพูชา) ลงทุนมากกว่า 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตและแปรรูปอาหารจากสัตว์ รวมถึงโรงฆ่าสัตว์ในกัมพูชา โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาภาคเกษตรของรัฐบาลกัมพูชาปี 2019-2023 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MAFF กล่าวว่าปัจจุบัน ซีพี (กัมพูชา) มีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงสปือและจังหวัดไพลิน ซึ่งโรงงานทั้งสองแห่งนี้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้ 55,000 ตันต่อเดือน และผลิตข้าวโพดแดงได้รวม 200,000 ตัน รวมถึงมันสำปะหลังแห้งอีกกว่า 100,000 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นภายในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งการลงทุนในระยะนี้ ซีพี (กัมพูชา) ได้ขออนุญาตกระทรวงฯ ในการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่ไก่ที่คาดว่าจะสามารถผลิตลูกไก่ได้สูงถึง 700,000 ตัวต่อสัปดาห์ และการนำเข้าแม่พันธุ์สุกรเพื่อให้เพียงพอที่จะผลิตลูกสุกรให้ได้ถึง 20,000 ตัวต่อสัปดาห์ ภายใต้แผนที่จะเพิ่มการผลิตอาหารและสัตว์อีกร้อยละ 15 ถึง 20 เพื่อรองรับกับตลาดในประเทศที่เติบโตขึ้นทุกปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828866/cp-cambodia-invests-67-mn-in-animal-food-production/

กัมพูชาวางแผนส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศ

กัมพูชารายงานการศึกษาภูมิทัศน์ทางธุรกิจโดยรวมภายในประเทศ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้ทำการรายงานในงานประชุม Inclusive Business Champions Meeting โดยจัดขึ้นภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งมีจุดประสงค์ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจภายในประเทศกัมพูชา จากการจัดหาข้อตกลงทางการค้าเสรีเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน มีส่วนในพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภายในประเทศให้มีศักยภาพทันต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนและในภูมิภาค

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828275/cambodia-boosting-inclusive-businesses/

การระบาดของโควิด-19 ส่งเสริมให้เกิดการใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้นในกัมพูชา

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมร้านอาหาร โดยเริ่มจากการสั่งซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้การสั่งซื้อก็ได้พัฒนาเข้าสู่การค้นหาเมนูผ่าน Quick Response (QR) บนแพลตฟอร์มจัดทำโดย Nham24’s ผู้ให้บริการสำหรับร้านอาหารหลายพันรายในกัมพูชา ที่เป็นตัวกลางแอปสั่งอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกัมพูชาที่มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา โดยบริษัทได้เปิดตัวฟีเจอร์ QR code ในการเข้าชมเมนูอาหารเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งนักพัฒนากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคาร ABA เพื่อให้ร้านอาหารแต่ละแห่งสามารถมีบัญชีของตนเองและรับการชำระเงินโดยตรงไปยังบัญชีธนาคารของตนแทนที่จะต้องผ่านคนกลาง สร้างความสะดวกและถือเป็นการลดต้นทุนในการทำธุรกิจอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828300/pandemic-gives-life-to-digital-menus/

แผนการซื้อหุ้นคืนของ PPSEZ กัมพูชา จ่อได้รับการอนุมัติ

ในช่วงสามวันที่ผ่านมาหุ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSEZ) แสดงถึงการซื้อขายภายในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) เป็นจำนวนมาก โดยมีปริมาณการซื้อขายรวม 308,838 หุ้น ระหว่างช่วงวันพุธถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งการซื้อขายในช่วงสามวันส่งผลให้ราคาหุ้น PPSEZ พุ่งสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของบริษัท โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ CSX กล่าวว่าปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นอาจเกิดจากการเสนอซื้อคืนหุ้นที่ทางบริษัทได้ประกาศไว้ในปลายปีที่แล้ว ซึ่ง PPSEZ ยืนยันว่าได้ส่งเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดไปยังหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา เพื่อทำการขออนุมัติซื้อหุ้นคืน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50827589/ppsez-buyback-approval-speculation-appears-to-be-driving-recent-high-trading-volume/