“เวียดนาม” เผย พ.ค. ส่งออกโต 4.3%

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในเดือน พ.ค. ปรับตัวดีขึ้น ขยายตัว 4.3% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่มีมูลค่า 29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามทำรายได้จากการส่งออก 136.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากถึง 88% ของมูลค่าทั้งหมด โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรี อาทิเช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ได้อำนวยความสะดวกในการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังตลาดอียู โดยจากข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่าการส่งออกข้าวของเวียดนาม ม.ค.-พ.ค. เพิ่มขึ้น 40.8% ในเชิงปริมาณ และ 49% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-exports-grow-4-3-in-may/

“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ดันส่งออกพุ่ง 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 66-67

ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวไปยังตลาดต่างประเทศในเดือน พ.ค. มากกว่า 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2566-2567 รวมทั้งข้าว 46,786 ตัน และปลายข้าว 63,920 ตัน ทั้งนี้ ช่องทางการส่งออกข้าวส่วนใหญ่ของเมียนมาผ่านทางทะเล 102,801 ตัน ในขณะที่ผ่านทางชายแดน 7,905 ตัน นอกจากนี้ เมียนมาได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566 และทำรายได้จากการส่งออกข้าวราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจีนเป็นประเทศหลักของการส่งออกข้าวของเมียนมา ด้วยปริมาณมากกว่า 775,000 ตัน รองลงมาเบลเยียม 323,000 ตัน บังกลาเทศ 239,000 ตัน และฟิลิปปินส์ 202,000 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมียนมาตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการส่งออกข้าว 10% ต่อปี โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวเกรดสูงและเพิ่มปริมาณการส่งออก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-over-110000-tonnes-of-rice-in-may-2023-2024-fy/#article-title

ด่านชายแดนมุต่อง “เมียนมา-ไทย” ดันส่งออกผลไม้พุ่งทะยาน เดือน พ.ค.

ตามรายงานระบุว่าผลไม้ที่จะส่งออกไปยังอำเภอมะริด เขตตะนาวศรี ผ่านด่านมุต่อง (Mawtaung) บริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย ในเดือน พ.ค. นับว่าเป็นการส่งออกผลไม้ครั้งใหญ่ที่สุดของเมียนมา โดยผลไม้ที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ชมพู่ ส้ม สละ ขนุน และแก้วมังกร ราคาปัจจุบันของชมพู่กิโลกรัมละ 19.44 บาท ส้มกิโลกรัมละ 9.69 บาท สละกิโลกรัมละ 6.45 บาท และแก้วมังกร 6.81 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ค่ายด่านมุต่องได้กำหนดว่าต้องนำเข้าผลไม้ 24 ตัน นับตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พ.ค.

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailands-mawtaung-border-exports-most-fruits-in-may/#article-title

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าการส่งออกลิ้นจี่และลำไย รุกตลาดต่างประเทศ

คุณ Tran Quang Tan ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดบั๊กซาง กล่าวว่าผลผลิตลิ้นจี่ของจังหวัดในปีนี้ คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 180,000 ตัน นอกเหนือจากตลาดดั้งเดิม (จีน) พบว่าตลาดอื่นๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ตะวันออกกลาง ไทยและฮ่องกง ในขณะเดียวกัน คุณ Tran Van Hao Tan ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดหายเซวือง กล่าวว่าในปัจจุบันทางจังหวัดมีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่ ประมาณ 9,000 เฮกตาร์ และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราว 61,000 ตันในปีนี้ โดยประมาณ 31,000 ตันเป็นลิ้นจี่สุกก่อนกำหนด

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-seeks-to-expand-overseas-markets-for-lychees-longans-post125992.html

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชา ได้รับการอนุมัติในการส่งออกไปยังจีน

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ให้สามารถส่งออกไปยังจีนได้ แถลงการณ์โดยสถานทูตจีนประจำกัมพูชาในวันพุธที่ผ่านมา (31 พ.ค.) โดยถ้อยแถลงระบุว่า สำนักงานศุลกากรจีนได้ปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนของผู้ผลิตอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการส่งออกไปยังจีน ด้าน บริษัท Kim Chou Co., Ltd. บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจ นำเข้า-ส่งออก รวมถึงให้บริการขนส่งระหว่างประเทศของกัมพูชา ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังจีนเป็นบริษัทแรก โดยปัจจุบันสัตว์น้ำของกัมพูชาได้รับการอนุมัติในการส่งออกไปยังจีนแล้ว 12 ชนิด ซึ่งรวมถึงกุ้ง ปลา ปลาไหล และหอยทากแม่น้ำ เป็นส่วนสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501300300/cambodias-wild-aquatic-products-get-approval-for-access-to-china/

“จุรินทร์” ผนึกเอกชนรุกส่งออกดันบวกได้ 1-2%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ ยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปทั่วโลกเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอ ตัวหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเศรษฐกิจถดถอย กระทบต่อกำลังซื้อในต่างประเทศส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกติดลบ หลายประเทศก็เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งไทยถือว่าติดลบไม่มาก แต่ทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินร่วมกับภาคเอกชน มีโอกาสทำให้ตัวเลขเป็นบวกอย่างน้อย ร้อยละ 1-2 ได้ ประเด็นสำคัญคือการเตรียมบุกตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้และจีน เมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศและมีกำลังซื้อดีขึ้น ไทยจะทำตัวเลขได้เพิ่มขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ โดยยังคงทำงานเต็มที่ร่วมกับภาคเอกชน ผลักดันอีก 350 กิจกรรม กระจายไปทั่วโลก หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจะมีส่วนช่วย และค่าเงินบาทอาจจะมีส่วนสำคัญ ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลงจะช่วยทำให้ตัวเลขส่งออกการแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ต้องมองเศรษฐกิจโดยรวมด้วยว่าเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องราคาสินค้าในประเทศหลายรายการปรับลดลงต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปรับลดลงมา ร้อยละ 50 และราคาปุ๋ยโดยเฉลี่ยลดลงประมาณ ร้อยละ 30 ผลจากราคาแก๊ส ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ซึ่งปุ๋ยเคมีต้องนำเข้า 100% ส่วนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ปรับลดลงอยู่ในระดับไม่เกินราคาโครงสร้างที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับต้นทุน

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_560066/

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกของปีนี้ เกินดุลการค้า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกของเวียดนาม อยู่ที่ราว 262.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ที่มีการส่งออก 136.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 126.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.6% และ 17.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้าประมาณ 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ โครงสร้างการส่งออกสินค้าของเวียดนาม พบว่าสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปทำรายได้จากการส่งออกมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 120.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นสัดส่วนราว 88.3% ของการส่งออกรวม รองลงมาสินค้าการเกษตร ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและเชื้อเพลิง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-posts-trade-surplus-of-9-8-billion-usd-in-five-months-2148607.html#vnn_source=news&vnn_medium=listtin11

กัมพูชา-สหราชอาณาจักร ลงนาม MoU บนข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ร่วมกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการจัดตั้ง Joint Trade and Investment Forum (JTIF) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงส่งเสริมการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังตลาดสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และจะเป็นการเพิ่มปริมาณการนำเข้า การลงทุนของอังกฤษไปยังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งการลงนามดังกล่าวนำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ Dominic Williams เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกัมพูชา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายใหญ่ของกัมพูชา โดยมีปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศในปี 2022 สูงถึง 977.43 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24.42 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297887/cambodia-uk-sign-trade-and-investment-mou/

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2023 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมูลค่าแตะ 7.23 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 4.9 จากมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าสำหรับการเดินทาง รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรเป็นสินค้าหลักสำหรับการส่งออกของกัมพูชา รายงานโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิต ได้รายงานเสริมว่า ปลายทางการส่งออก 5 อันดับแรกของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน กัมพูชาทำการนำเข้ารวม 7.92 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซ วัตถุดิบสำหรับเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเดินทาง ยานพาหนะ เครื่องจักร เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501297920/cambodia-exports-products-worth-7-23-billion-in-january-april-as-deficit-widens/

ช่วยฟื้นส่งออกขึ้นจากหลุม สศช.แนะรัฐบาลใหม่เร่งเจรจาการค้าเสรี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากในปี 2565 โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 3.4% จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าในประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่คงเผชิญกับแรงกดดันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายข้อไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และแรงกดดันทางด้านปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนส่งผลต่อปริมาณการส่งออกและการค้าโลก ด้าน สศช.คาดว่าปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.1% ลดลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 5.1% ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะหดตัวประมาณ 1% เมื่อคิดจากมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ฯ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่การส่งออกขยายตัวได้ 4.2% โดยในช่วงที่เหลือของปี 2566 รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน การแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อให้สามารถส่งออกนำเข้าสินค้าได้ง่ายขึ้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/feature/2694876