สถานการณ์ภาคการเกษตรกัมพูชาในปีที่ผ่านมา

กระทรวงเกษตรตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลิตภาพในส่วนของภาคการเกษตรภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งเครื่องจักรกลการเกษตรที่เข้ามาคาดว่าจะแทนที่แรงงานคนและสัตว์เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตข้าวและพืชอุตสาหกรรมเกษตร จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรกัมพูชาปัจจุบันมีรถแทรกเตอร์ 32,094 คัน รถคูโบต้า 498,119 คัน และรถเกี่ยวข้าว 6,796 คัน ในภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2020 กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวมกว่า 4.037 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นการส่งออกข้าวสารมากกว่า 690,000 ตัน ในปี 2020 ไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก และข้าวเปลือกอีกมากกว่า 2,800,000 ตัน ถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม รวมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ร่วมด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802183/2020-was-a-bumper-year-for-agriculture/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมูลค่ารวม 6,059 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานการส่งออกของกัมพูชา แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6,369 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบเป็นรายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯไปยังกัมพูชาลดลง ซึ่งกัมพูชานำเข้าสินค้าอยู่ราว 312 ล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพียงเดือนเดียว แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ 526 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 42 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในทิศทางเดียวกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802292/cambodian-exports-to-us-rising/

รัฐบาลกัมพูชาเร่งประชุมทางเทคนิคในการจัดซื้อวัคซีน COVID-19

รัฐบาลกัมพูชาเรียกคณะทำงานประชุมทางเทคนิคครั้งแรกเพื่อหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์และแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับฉีดให้คนกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยการประชุมได้พิจารณาถึงพื้นฐานที่เชื่อถือได้และปริมาณสำหรับการซื้อวัคซีน ตลอดจนวิธีการแจกจ่ายสำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินและในกรณีทั่วไป ซึ่งพิจารณาจากซัพพลายเออร์ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนหลายรายที่อาจได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในอนาคตอันใกล้ โดยมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวกัมพูชา อีกทั้งการประชุมยังได้ศึกษาทางเลือกในการจัดหาเงินทุนที่เป็นไปได้ รวมทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน ให้ความช่วยเหลือและเงินกู้สัมปทานจากหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการระบาดในครั้งนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802014/cambodia-covid-19-containment-policy-first-technical-meeting-to-procure-covid-19-vaccine-convened/

รัฐบาลกัมพูชาจัดหาเงินเพิ่มสำหรับการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับจากไทย

รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเพิ่มงบประมาณจัดสรรให้กับ 4 จังหวัดชายแดนสำหรับการกักกันแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยจำนวน 700 ล้านเรียล (170,000 ดอลลาร์) รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าจังหวัดพระตะบองและบันเตียเมียนเจยได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเรียล (49,000 ดอลลาร์) จังหวัดอุดรมีชัยได้รับเงินเพิ่มอีก 100 ล้านเรียล (24,000 ดอลลาร์) สำหรับการต่อสู้กับ โควิด-19 ในภูมิภาค โดยรายงานอ้างว่าแม้ว่าจุดผ่านแดนของไทยจะยังคงถูกปิด แต่ก็ยังคงเปิดรับแรงงานกัมพูชาที่มีความประสงค์เดินทางกลับมายังกัมพูชา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกักกัน 14 วัน ถึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับไปยังบ้านพักได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802078/government-provides-additional-700-million-riels-for-quarantining-of-workers-returning-from-thailand/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาลงนาม MoU ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจการเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ และ บริษัท Yamato Green ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตผักปลอดสารพิษจากญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการร่วมพัฒนาภาคการเกษตรเมื่อวานนี้เพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสำหรับการผลิตสินค้าภาคธุรกิจเกษตรในกัมพูชา โดยเชื่อว่าการลงนามฉบับนี้จะสร้างความร่วมมือที่ดีในการรับมือกับความท้าทายในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเสริมสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งเชื่อว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงชุมชนเกษตรกรจะสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในด้านการเจาะตลาดและกระจายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50801454/commerce-ministry-signs-agri-business-value-chain-development-mou/

สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา (GMAC) กล่าวถึงการสิ้นสุดของ GSP จากสหรัฐฯ

                สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา (GMAC) ได้ตอบสนองต่อการยุติสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จากทางสหรัฐฯ โดย GSP ดังกล่าวสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่สามารถต่ออายุได้ก่อนที่จะมีการปิดเซสชันของรัฐสภาสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้รับการลงมติและรับรองของการสิ้นสุดลงของสิทธิพิเศษทางภาษีที่มีผลต่อประเทศผู้รับผลประโยชน์ทั้ง 119 ประเทศ ซึ่งถ้อยแถลงของ GMAC หวังว่าสหรัฐฯจะอนุมัติสิทธิพิเศษทางภาษีอีกครั้งแก่กัมพูชา โดยในปี 2016 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐได้ประกาศการขยายสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการค้าที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในกัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของ GSP ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดนำเข้าสินค้าด้านการท่องเที่ยวมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ในสหรัฐฯได้ดี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50801455/gmac-reacts-to-expiration-of-us-trade-programme/

กัมพูชาส่งออกยางพาราเป็นมูลค่ากว่า 459 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

กัมพูชาส่งออกยางพาราถึง 340,000 ตัน ในปี 2020 สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 459 ล้านดอลลาร์ให้กับประเทศ รายงานโดยกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง ซึ่งกัมพูชามีพื้นที่สำหรับทำสวนยางพารารวม 401,914 เฮกตาร์ โดย 240,811 เฮกตาร์หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ถือเป็นการทำสวนยางพาราในรูปแบบอุตสาหกรรม และ 161,103 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 เป็นการทำสวนยางพาราในครัวเรือน โดยกัมพูชามีการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 282,071 ตัน ในปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จาก 217,501 ตันในปี 2018 ซึ่งตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของกัมพูชาคือมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800901/cambodias-rubber-export-reach-459-million-in-2020/

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินเยียวยาแก่แรงงานอันเนื่องมาจากโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินจำนวน 23 ล้านดอลลาร์กระจายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คนงานอีกจำนวน 8,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินเยียวยารอบใหม่ออกมา ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 129 แห่ง ที่จำเป็นต้องปิดกิจการลง โดยในวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงได้ประกาศเปิดรับผู้ที่ต้องการได้รับเบี้ยเลี้ยงจากผลกระทบข้างต้นครั้งที่ 45 ซึ่งมีผู้ยื่นความประสงค์กว่า 8,400 ราย เฉพาะในแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยว โดยกระทรวงกล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นจำนวน 40 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับคนงานในภาคสิ่งทอและผลิตภัณฑ์การเดินทางต่อไปอีกสามเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 ในขณะที่เจ้าของโรงงานในภาคเหล่านี้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์ต่อคนงานจนครบกำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800806/govt-gives-23mil-to-workers-who-lost-jobs-over-pandemic/