กัมพูชาส่งออกยางพาราเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

อธิบดีกระทรวงเกษตรกล่าวว่าการส่งออกยางของกัมพูชาคาดว่าจะสูงถึง 340,000 ตัน ภายในสิ้นปีนี้ โดยผู้อำนวยการฝ่ายการยางกล่าวว่าเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 280,000 ตัน ที่ส่งออกในปี 2019 และคาดว่าอัตราการส่งออกยางจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปีอยู่ในช่วง 30,000 และ 40,000 ตัน เนื่องจากต้นยางบางส่วนจะไม่สามารถสร้างน้ำยางได้อีกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยปัจจุบันกัมพูชามีการเพาะปลูกต้นยางพารากว่า 410,000 เฮกตาร์ ภายในประเทศ และอยู่ระหว่างการเพาะปลูกอีกประมาณ 290,000 เฮกตาร์ ซึ่งกัมพูชาส่งออกยางแปรรูปไปยังเวียดนามราวร้อยละ 60 โดยที่เหลือส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และยุโรป ซึ่งสมาคมพัฒนายางแห่งกัมพูชา (ARDC) กล่าวว่าขณะนี้ราคายางในกัมพูชามีแนวโน้มที่ดี โดยบริษัทในท้องถิ่นสามารถขายผลิตผลได้ถึง 1,700 ดอลลาร์ต่อตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50795539/kingdoms-rubber-exports-up-in-2020/

เวียดนามเผยเดือนพ.ย. ส่งออกเหล็กพุ่ง

ข้อมูลจากสมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) รายงายว่ายอดส่งออกเหล็กของเวียดนามในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.52 จากช่วงเดียวกันเดือนก่อน และร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยปริมาณมากกว่า 478,300 ตัน ในขณะที่ การผลิตเหล็กทุกชนิดสูงถึง 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การผลิตเหล็ก ยอดขายและการส่งออก ยังคงอยู่ในระดับทรงตัวหรือไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะการผลิตเหล็กในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบกับยอดขายลดลงราวร้อยละ 1 และการส่งออกลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ เศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ขณะเดียวกัน การดำเนินธุรกิจ การผลิต การค้าและการบริโภค ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันตลาดเหล็กไปข้างหน้า

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/steel-exports-surge-in-november/193498.vnp

เวียดนามก้าวเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่อันดับที่ 6 ไปสหราชอาณาจักร

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ อันดับที่ 6 ไปยังตลาดสหราชอาณาจักร (UK) มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของส่วนแบ่งการตลาดนำเข้า เฟอร์นิเจอร์ไม้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ คาดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ซึ่งเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในระยะเวลา 5 ปีจากภาษีปัจจุบันร้อยละ 2-10 ทั้งนี้ ความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้ของเวียดนามมีอยู่สูง เนื่องจากเทรนด์ของสินค้าดังกล่าวขายได้ดีในตลาดสหราชอาณาจักร สาเหตุสำคัญมาจากมีความสามารถทางด้านราคาในระดับสูงและเป็นสินค้าคุณภาพดี

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-becomes-sixth-largest-furniture-exporter-to-the-uk-825611.vov

DITP สั่ง“ทูตพาณิชย์” ชี้แจงผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สินค้าอาหารทะเลไทยมีคุณภาพ ปลอดโควิด-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สั่งการทูตพาณิชย์ที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไทย เร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในการสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตแล้ว

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9630000130044

เกษตรฯเร่งขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ

กระทรวงเกษตรฯ.รุกขยายตลาดสินค้าฮาลาลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สั่งเร่งลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดภาคใต้อีกทั้งเห็นชอบวิสัยทัศน์ฮาลาล เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 7/2563 ประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ร่วมกับ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐาน “ฮาลาล” ในภาคการเกษตรไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติทั้งระบบ ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” รายงานความก้าวหน้าของโครงการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาลของไทยผ่านดูไบ เพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกลุ่มตลาดที่สำคัญในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯเห็นชอบ”วิสัยทัศน์ฮาลาล” รวมถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และประเด็นสำคัญเรื่อง การแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอมปนเนื้อสุกร ซึ่งที่ประชุมได้สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะที่ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ ต่อมาตรฐานสินค้าเกษตรอาหารฮาลาลไทย

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/640268

เวียดนามตั้งเป้ายอดส่งออกเสื้อผ้า 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าภาคเครื่องนุ่งห่มได้ตั้งเป้ามูลค่าการส่งออก 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างแรงงานกว่า 3 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มต้องใช้ประโยชน์จากผลของข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามร่วมลงนามกับประเทศพันธมิตร ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป (EVFTA),  ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก, ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงทางสมาคมฯ จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจกับองค์กรระหว่างประเทศและลูกค้า เพื่อยกระดับตำแหน่งของเครื่องนุ่งห่มเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกกระโดดจาก 28.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 เป็น 38.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9.55 ต่อปี และคาดว่าในปี 2563 จะมีมูลค่าส่งออกถึง 3.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/garment-sector-targets-55-billion-usd-from-exports-by-2025/193053.vnp

เศรษฐกิจปีหน้าจะโต 4% ต้องทำอะไรอีกมาก

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2564 จะออกมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเศรษฐกิจไทยพ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ติดลบ 12.1% แล้วก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่เกิดการระบาดวงกว้างรอบ 2 จนถึงระดับที่จะต้องประกาศล็อกดาวน์อีกหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าถึงระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การส่งออกที่มีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยสูงก็ยังต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของการค้าโลกในปี 2564 ด้วย ซึ่งต้องส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศและกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ในขณะที่การท่องเที่ยวและธุรกิจบริการในระยะยาวอาจต้องลดการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยนมาพึ่งการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911383

เวียดนามส่งออกสิ่งทอลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เผยว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามคาดว่าจะลดลงร้อยละ 15 เป็นมูลค่า 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ นับว่าเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 ปี จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ไวรัสดังกล่าวยังคงรุนแรงในหลายๆประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เป็นต้น ทำให้ธุรกิจสิ่งทอประสบปัญหาขาดแคลนยอดคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ บริษัท Dony Garment ที่ตั้งอยู่ในโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่าในช่วงเริ่มต้นโควิด-19 ระบาดนั้น ทางบริษัทหันมารับคำสั่งซื้อหน้ากากหลายล้านชิ้นจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่ตอนนี้คำสั่งซื้อเหลืออยู่ที่ 36,000 ชิ้น ทั้งนี้ ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) กล่าวว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RECEP) จะช่วยให้ความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตในเวียดนามพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ซื้อชาวจีน

  ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/textile-exports-to-fall-for-the-first-time-in-25-years-4201885.html

รัฐบาลกัมพูชาพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศ

Cambodia Rice Federation (CRF) ได้ให้ความสำคัญกับการที่รัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมข้าวส่งผลให้การส่งออกข้าวสารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะที่ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมข้าวได้เข้าร่วมการประชุมข้าวโลกครั้งที่ 12 ประจำปี 2020 โดยรองประธาน CRF ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนผ่านธนาคารเกษตรและพัฒนาชนบท (ARDB) สำหรับภาคอุตสาหกรรมข้าว เช่น การให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับโรงสีข้าวเพื่อซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและในการพัฒนาในด้านอื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลยังจูงใจนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศ ซึ่ง ณ เดือนพฤศจิกายน 2020 กัมพูชาทำการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 17 ที่ 601,045 ตัน สร้างรายได้กว่า 415 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50789361/crf-highlights-governments-support-for-rice-sector-at-12th-world-rice-conference-2020/

ระบบขนส่งแบบใหม่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งสินค้าของเมียนมา

การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนจะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นด้วยการใช้ระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาค ขณะนี้มีการร่างข้อตกลงเกี่ยวกับระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยและฟิลิปปินส์ได้กำหนดกฎหมายส่วนเมียนมาเสร็จสิ้นขั้นตอนการร่างเรียบร้อยแล้ว การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีการผสมผสานระหว่างรูปแบบการเคลื่อนย้ายสินค้าที่แตกต่างกันอย่างน้อยสองรูปแบบภายใต้ใบส่งเพียงใบเดียวซึ่งหมายความว่าผู้ขนส่งต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการขนส่งทั้งหมดแม้ว่าจะดำเนินการในรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน เช่น ทางอากาศ ทางรถไฟ ถนนหรือทางทะเล หากนำระบบนี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่และคาดว่าจะอำนวยความสะดวกในการค้าข้ามแดนในอาเซียน นอกจากนี้ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับสินค้าซึ่งจะอนุญาตให้ผ่านโดยไม่มีข้อจำกัด

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/new-regional-transport-system-benefit-myanmars-freight-forwarders.html