กัมพูชาส่งออกมูลค่ารวมเกือบ 220 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

สหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) เปิดเผยในรายงานว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้ปริมาณรวมกว่า 302,592 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปริมาณ 278,184 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 219 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากมูลค่า 191 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปยัง 63 ประเทศ ผ่านบริษัทผู้ส่งออก 48 แห่ง ซึ่งจีนถือเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ที่ปริมาณการนำเข้ารวม 73,322 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งออกข้าวไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 26 ประเทศ มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 136,528 ตัน คิดเป็นมูลค่า 104 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ มีปริมาณ 65,412 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านดอลลาร์ และยังมีการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อีกราว 27,330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 22.9 ล้านดอลลาร์ ด้านสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวทั้งปี 2023 ไว้ที่ 750,000 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501502343/cambodia-nets-close-to-220-million-from-rice-exports-in-first-five-months/

สนามบินนานาชาติกัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวแตะ 2 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

อุตสาหกรรมการบินของกัมพูชายังคงฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินนานาชาติกว่า 2 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินของกัมพูชากำลังเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับในปี 2024 กัมพูชามีสายการบินภายในประเทศและต่างประเทศรวม 31 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินจาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่สนามบินนานาชาติของกัมพูชามีอยู่ 3 แห่งที่เปิดดำเนินการ ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ (PNH) สนามบินนานาชาติเสียมราฐอังกอร์ (SAI) และสนามบินนานาชาติพระสีหนุ (KOS) ซึ่งเมื่อปีที่แล้วกัมพูชาประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารทางอากาศ โดยมีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกกว่า 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501502407/cambodias-intl-airports-handle-2-million-air-passengers-in-the-first-five-months/

รายได้ท่าเรือ PAS เพิ่มขึ้น 24% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

Sihanoukville Autonomous Port (PAS) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา สร้างรายได้กว่า 35.2 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยท่าเรือ PAS ได้ดำเนินการขนส่งตู้สินค้ากว่า 296,685 TEUs (ตู้) จนถึงเดือนเมษายนของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปริมาณรวมกว่า 239,273 TEUs ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการเติบโตของรายได้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยวและการผลิตเสื้อผ้า ส่งผลทำให้การนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ท่าเรือเติบโตคือการสร้างอาคารเทียบเรือแห่งใหม่ที่เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2023 ทำให้ท่าเรือสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่และขนถ่ายสินค้าได้มากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501499470/pas-revenue-up-24-percent-in-first-four-months/

บริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ตยังคงตามหลังบริการธนาคารผ่านมือถือ

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานการทำธุรกรรมทางการเงินของชาวกัมพูชาว่าส่วนใหญ่ดูเหมือนจะนิยมทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันมือถือมากกว่าการใช้บริการธนาคารบนอินเทอร์เน็ต โดยจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ธุรกรรมธนาคารบนอินเทอร์เน็ตลดลงร้อยละ 7 เหลือมูลค่าทางการทำธุรกรรมรวม 18.22 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 จาก 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านระบบมือถือเติบโตกว่าร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่า 164 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 จากมูลค่า 183 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและธนาคารถยังได้ร่วมกันส่งเสริมการใช้งาน Bakong มากขึ้น ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของทางการกับพูชา นอกเหนือจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าการใช้งานมือถือมีมากกว่าการใช้งานแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในประเทศ จากรายงานของ Digital 2023 Cambodia ในไตรมาสแรกของปี 2023 โดยกัมพูชามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 11.37 ล้านคน ขณะที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านระบบมือถือของคนกัมพูชามีมากถึง 22.16 ล้านราย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501499458/internet-banking-lags-behind-as-mobile-banking-takes-off/

สปป.ลาว-สิงคโปร์-กัมพูชา ผนึกกำลังอำนวยความสะดวกการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาว และกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ร่วมมือจัดตั้งคณะทำงาน โดยมีหน้าที่กำหนดกรอบการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนภายในอาเซียน โดยเริ่มจากความร่วมมือระหว่างทั้งสามประเทศ นอกจากนี้ ยังจะปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลและขั้นตอนการออกใบอนุญาตสำหรับการผลิต การส่งออก และการนำเข้าไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งรวมถึงการลดความซับซ้อนของการสมัครและการอนุญาตให้มีกระบวนการสำรวจใต้ทะเลและการติดตั้งสายไฟใต้ทะเลข้ามพรมแดน ทั้งนี้ คณะทำงานจะสำรวจวิธีการอำนวยความสะดวกในข้อตกลงทางการค้า และส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและการส่งผ่านกระแสไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจว่าการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสามประเทศจะมีความราบรื่น

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/06/04/laos-singapore-cambodia-unite-to-facilitate-cross-border-electricity-trade/

บริษัท Vinci ได้รับสัญญาปรับปรุงและออกแบบโรงบำบัดน้ำของกัมพูชา

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยฝ่ายก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ (CGR) นำโดยบริษัท Vinci เพื่อขยายการให้บริการประปาแก่พื้นที่ต่างๆ ทางตอนเหนือของกรุงพนมเปญ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนประมาณ 750,000 คน มีน้ำสะอาดสำหรับดื่มกิน โดยนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทรัฐบาลกัมพูชาในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดทั่วประเทศภายในปี 2030 สำหรับโครงการส่วนต่อขยายนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการปรับปรุงจนถึงปี 2028 ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยขอบเขตงานของ บริษัท Vinci ครอบคลุมถึงการสร้างระบบรับน้ำดิบแห่งใหม่จากแม่น้ำโขงใกล้เคียง รวมถึงระบบท่อส่งน้ำใหม่ที่สามารถกรองน้ำได้ 195,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งการก่อสร้างบริษัทจะว่าจ้างแรงงานกว่าสูงถึง 1,600 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501499156/vincis-sustainable-initiatives-and-technology-to-be-used-in-e94-million-water-plant-extension-project-in-cambodia/

กัมพูชาดึงจีนลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

Nuth Un Vanra รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (GIC) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการกัมพูชา (CDC) ได้กล่าวถึงโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในระหว่างการสัมมนา ซึ่งจัดโดยสมาคมมิตรภาพกัมพูชา-จีน (CCFA) โดยมีนักลงทุนจีนเกือบ 100 คนเข้าร่วม ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในกัมพูชา รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประมาณกว่า 40 คน สำหรับทางการกัมพูชามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในการสร้างโรงประกอบรถยนต์และการพัฒนาวงการรถยนต์ในกัมพูชา โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทของ CDC ในการกระตุ้นการลงทุน รวมถึงความพยายามของรัฐบาลกัมพูชาในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาคาดว่าจะมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสองล้อและสามล้อกว่า 1 ล้านคันในประเทศภายในปี 2030-2040 และรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 100,000 คัน ภายในช่วงปี 2035-2042 ตามแผนแม่บทยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงโยธาธิการและคมนาคม (MPWT) เมื่อเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501498921/cambodia-seeks-chinese-investment-in-ev-sector/

กัมพูชา กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง ปากีสถานและบังกลาเทศ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับปากีสถาน เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อยกระดับความร่วมมือทางการค้า นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Zaheeruddin Babar Thaheem เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำกัมพูชา นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมบันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับอื่นที่จะลงนามกับบังกลาเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าข้าว ซึ่งในการกล่าวปาฐกถาในพิธีลงนาม รัฐมนตรีฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่ากัมพูชาและปากีสถาน มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับภาคเอกชน รวมถึงหอการค้าและสมาคมธุรกิจในทั้งสองประเทศ ความริเริ่มนี้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมกิจกรรมทางการค้าและเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้า ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างมาตรฐาน ระเบียบทางเทคนิค ตลอดจนขั้นตอนการประเมินความสอดคล้องสำหรับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) เพื่อให้การส่งออกราบรื่นยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501496424/cambodia-strengthens-trade-ties-with-pakistan-bangladesh/

ผู้ประกอบการกัมพูชา หวังนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ผู้ประกอบการค้าขายของที่ระลึกและผู้ให้บริการด้านการขนส่งในจังหวัดเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ต่างก็อยากเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยพวกเขามองว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญสำหรับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งคาดว่าสนามบินแห่งใหม่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกด้านการเดินทางมายังเสียมราฐมากขึ้น สำหรับจังหวัดเสียมราฐมีอุทยานโบราณคดีนครวัดบนพื้นที่กว่า 401 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก UNESCO ในปี 1992 โดยได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีวัดโบราณกว่า 91 แห่ง สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 9-13

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501496584/vendors-service-providers-in-cambodia-expect-more-chinese-tourists/