โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
รถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนน่ามีพัฒนาการคึกคักขึ้นอีก ประกอบกับสัญญาณบวกของทางการจีนในการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นการเปิดประเทศของจีนในปี 2566 จะยิ่งส่งผลบวกต่อการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง
ในช่วงปีที่ผ่านมาเส้นทางนี้มีความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐระหว่างประเทศทำให้มีความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนในการตรวจปล่อยสินค้า พื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งของไทยในอนาคต ขณะที่ในฝั่งของภาคภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การค้าด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้น
การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงปี 2566 ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนที่อาจจะได้เห็นการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถทยอยออกมาได้จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่การท่องเที่ยว สปป.ลาวคิดเป็นไม่น้อยกว่า 0.1%-0.4% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลวงพระบางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 335,794 คน (คิดเป็น 85% ของนักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ซึ่งอีก 15% เดินทางมาเที่ยวด้วยเครื่องบิน) โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและชาวสปป.ลาว อย่างไรก็ดี นับจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งานก็ได้รับความนิยมจากการเป็นเส้นทางใหม่ที่รวดเร็วกว่ารถยนต์และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้การท่องเที่ยว สปป.ลาว กลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นจีนเป็นนักท่องเที่ยวลำดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน และหลวงพระบางก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่สำคัญ
ความรวดเร็วและต้นทุนการขนส่งที่ลดลงกว่า 30% หนุนให้การค้าผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูงทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณ 2 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.26 ล้านคน เป็นสินค้า สปป.ลาว ส่งไปจีน ได้แก่ ยางพารา ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง กาแฟ แร่ ปุ๋ย และสินค้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ประจำวัน นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยกับจีนก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้นจากในอดีตไม่ได้รับความนิยมนักเพราะการขนส่งทางถนนมีความล่าช้าจากความคดเคี้ยวสูงชันของภูมิประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.3% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาเซลล์ และผลไม้ และการส่งสินค้าผลไม้และวงจรไฟฟ้าจากไทยไปจีน 1.5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีหลายทางเลือกในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งทุกเส้นทางขนส่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่มีการเชื่อมโยงทางถนนถนนในปัจจุบัน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว 2) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว 3) เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และ 4) การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน และกำลังเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567
นอกจากนี้ ในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา การมาร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เส้นทางนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2571 ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งตลอดเส้นทางสมบูรณ์ไร้รอยต่อ เป็นอีกช่องทางที่จีนตอนใต้และ สปป.ลาว สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่อ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง ถ้าหากเส้นทางในฝั่งไทยสร้างเสร็จ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย จะลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกโดยเฉพาะการช่วยประหยัดเวลาขนส่งตลอดเส้นทางได้มากกว่า 70%
ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Railway-CH-Lao-2022-12-29.aspx