Vietnam Economic Factsheet: March 2564

เศรษฐกิจเวียดนาม ประจำเดือนมีนาคม 2564

ที่มา : รวบรวมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (General Statistics Office: GSO), กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท, กระทรวงวางแผนและการลงทุน, กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กรมศุลกากรและ CEIC Data

เวียดนามเผยยอดการบริโภคปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ตามตัวเลขสถิติของกระทรวงการก่อสร้าง ระบุว่าในเดือนมีนาคม ยอดการบริโภคผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ แตะ 8.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดการบริโภคซีเมนต์รวมอยู่ที่ 21.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งบริโภคในประเทศ 13.48 ล้านตัน และส่งออกซีเมนต์ 3.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9.5% ในขณะที่ยอดการส่งออกปูนเม็ดราว 4.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.3 เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าแม้การบริโภคซีเมนต์เติบโตช้าที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การบริโภคคงอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ท่ามกลางการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนวโน้มเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น คาดว่าการผลิตซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/9784502-cement-consumption-increases-by-2-6-over-the-same-period.html

เวียดนามเผยโควิด-19 กระทบสินเชื่อเพื่อการบริโภค

นาย Can Van Luc สมาชิกสภาที่ปรึกษาการเงินแห่งชาติ ระบุว่าสถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในช่วงระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้บริโภคที่รัดเข็มขัดและให้ความสำคัญมากขึ้นกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและใช้วิถีสุขภาพ ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัล อีคอมเมิร์ซและการซื้อของออนไลน์ กลายเป็นที่นิยมแก่องค์กรและผู้บริโภค ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคกำลังค่อยๆเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี ประกอบไปด้วยข้อมูลลูกค้า ตลาดออนไลน์ การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ ซึ่งจะผ่านบิ๊กดาต้า (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และชำระเงินโดยตรงไปยังบัญชีของลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทสำรวจและวิจัยตลาด “Ipsos” ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคนเวียดนามส่วนใหญ่ 80% มีรายได้ในเชิงลบจากการได้รับผลกระทบของโควิด-19 อีกทั้ง การแพร่ระบาดยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์และการชำระเงินออนไลน์แทนเงินสดมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pandemic-impacts-consumer-credit/200322.vnp

Vietnam Economic Factsheet : Q1/2564

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขยายตัว 4.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยังสูงกว่าระดับ 3.68% ของไตรมาสแรกปี 2563

ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนมีนาคม การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ยังกระจายไปสู่ท้องถิ่นบางแห่ง ส่งผลกระทบในทิศทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลเวียดนาม ตลอดจนความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 3.16%, ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ขยายตัว 6.3% และภาคบริการ ขยายตัว 3.34%

โครงสร้างทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง มีสัดส่วน 10.55%, ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง 36.58%, ภาคบริการ 42.78% และมูลค่าเพิ่มที่หักลบด้วยภาษีการผลิตสุทธิ 10.09% ต่อ GDP

ในช่วงเวลาเดียวกัน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย พบว่าขยายตัว 4.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, การปรับเงินทุนเพิ่มขึ้น 4.08%,  การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 17.01% และการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 16.38%

ที่มา : General Statistics Office of Vietnam, CEIC Data, International Monetary Fund

เวียดนามเผยวิกฤติโควิด-19 ทำคนตกงานกว่า 1 ล้านคน ในไตรมาสแรกปีนี้

ตลาดแรงงานยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้จำนวนคนว่างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นแตะราว 1.1 ล้านคน และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.42% เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำนักงานสถิติแรงงาน ภายใต้สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. จำนวนแรงงานทั้งหมด 9.1 ล้านคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจำนวนแรงงาน 540,000 คนต้องออกจากงาน และ 2.8 ล้านคนที่ถูกปลดงานเป็นการชั่วคราว และอีก 3.1 ล้านคน ลดชั่วโมงการทำงานลงหรือพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในขณะที่ 6.5 ล้านคนได้รับรายได้น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาตลาดแรงงาน ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติแนะให้รัฐบาลเร่งทดลองเปิด ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์ต้องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/over-1-million-people-lose-jobs-on-covid-19-in-q1-gso-317039.html

เวียดนามคาดอีก 10 ปีข้างหน้า ภาคบริการขยายตัว 7-8%

ภาคบริการของเวียดนาม ตั้งเป้าขยายตัว 7-8% ในปี 2564-2573 สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีสัดส่วน 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภายในปี 2573 โดยเป้าหมายดังกล่าว ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์แห่งชาติ กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นปฏิรูปสถาบัน ส่งแสริมภาคบริการให้มีความโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงเร่งปรับโครงสร้างองค์กรในภาวะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้และการแข่งขันของภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยว ไอที การเงินการธนาคาร โลจิสติกส์ การศึกษา การอบรมและการดูแลสุขภาพ เป็นต้น ประกอบกับจัดตั้งศูนย์บริการท่องเที่ยว เพื่อผลิตสินค้าท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีเอกลักษณ์ประจำชาติ วัฒนธรรมอันโดดเด่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/services-sector-expected-to-expand-by-78-percent-this-decade/200218.vnp

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9

‘IMF’ คง GDP เวียดนามปีนี้ โต 6.5%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 6% จากนั้นจะฟื้นตัวเป็น 7.2% ในปีหน้า ซึ่งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตได้เร็วเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก 5 ประเทศของอาเซียน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตในเชิงบวก อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 2.7% ในปีนี้ จากระดับ 3.3% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเติบโตที่ 6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้วัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/imf-maintains-vietnam-gdp-growth-forecast-at-65-in-2021-316951.html