การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวเวียดนามเริ่มฟื้นตัวในปี 64

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัย Fitch Solutions เปิดเผยว่าอัตราการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเวียดนามในปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558-2562 ขยายตัวเฉลี่ย 6.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งหากแบ่งประเภทของการใช้จ่าย พบว่าคนเวียดนามส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ คาดว่าในปี 2564 การใช้จ่ายในหมวดนี้จะเติบโต 6.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหมวดอื่น คาดว่าจะเติบโตลดลง เนื่องจากภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงธุรกิจปิดตัวลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยดังกล่าวเสนอให้รัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคชาวเวียดนามและเศรษฐกิจในประเทศ ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 2.5% ในปี 2563 นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-1% ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-consumer-spending-recovery-getting-underway-in-2021-316196.html

เวียดนามเผย ม.ค. ทำรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามส่งออกเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ดัชนีผลผลิตเครื่องนุ่งห่มและดัชนีผลผลิตเสื้อผ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.6% และ 9.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นาย Vu Duc Gian ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนโควิด-19 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2564 คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวได้ และส่งผลให้ตลาดเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอกลับมาฟื้นตัวในที่สุด อีกทั้ง อุตฯ เครื่องนุ่งห่มจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะประเทศที่ได้ร่วมลงนามการค้าเสรีกับเวียดนามและอาเซียน นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มประมาณ 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส และความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงเหตุการณ์อังกฤษแยกตัวออกจาก EU (Brexit)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-earns-26-billion-usd-from-garment-exports-in-january/196399.vnp

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามอยู่ในทิศทางสดใส

ตามผลการสำรวจ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทค้าปลีกเวียดนาม 47% ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนัก และธุรกิจ 8% ได้รับผลกระทบเล็กน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ปรับลดค่าใช้จ่ายหลังจากถูกเลิกจ้างหรือปรับลดเงินเดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในขณะเดียวกัน ธุรกิจค้าปลีกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนและภาวะหยุดชะงักด้านซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม นาย Vu Dang Vinh ผู้อำนวยการของ Vietnam Report กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์และคนวงในยังคงเชื่อมั่นต่อภาคค้าปลีกอยู่ในทิศทางที่ดี ตลอดจนความสะดวกในการซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้ ‘ล็อตเต้มาร์ท’ ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เผยยอดขายออนไลน์เติบโต 100-200% โดยเฉพาะเมืองฮานอยและโฮจิมินห์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/outlook-positive-for-vietnams-retail-market/196355.vnp

เวียดนามเผยยอดผู้โดยสารเดินทางช่วงเทศกาลเต็ด ลดลง 64.8%

ตามรายงานของคณะกรรมการความปลอดภัยการจราจรแห่งชาติ (NTSC) แสดงให้เห็นว่าความต้องการในการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเทศกาลเต็ด ผู้โดยสารชาวเวียดนามมีจำนวน 408,000 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 2,000 ตัน ลดลง 64.8% และ 54.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารและสินค้าที่ทำการขนส่งทางรถไฟต่างก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 9 – 13 ก.พ. มีผู้โดยสารจำนวน 12,792 คน และปริมาณการขนส่งสินค้า 6,035 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพียง 33.56% ของจำนวนผู้โดยสารรวม และ 65.56% ของปริมาณการขนส่งเมื่อเทียบกับเทศกาลเต็ดปีก่อน อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางน้ำยังคงราบรื่น ตลอดจนดำเนินการขนถ่ายสินค้า

  ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/72532/tet-flight-passenger-numbers-plunge-by-64-8-.html

เวียดนามเผย ม.ค. นำเข้ารถยนต์ 212 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ระบุว่าในเดือนมกราคม เวียดนามนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นราว 85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ (CBU) จำนวน 8,343 คัน คิดเป็นมูลค่ารวม 212.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่จะนำเข้ารถยนต์จากไทยและอินโดนีเซีย จำนวน 4,341 คัน (84.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 1,437 คัน (19.2 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2563 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ทุกประเภทที่ผลิตในต่างประเทศ จำนวน 100,000 คัน ด้วยมูลค่ารวม 2.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 24.5% ในแง่ของปริมาณ และ 25.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้ารถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จำนวน 52,647 คัน รองลงมาอินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-spends-over-us-212-million-importing-cars-in-january-28233.html

เศรษฐกิจเวียดนามโต 5.8% หากควบคุมพิษโควิด-19 ระบาดได้

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนาม (VEPR) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปีนี้ หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตชุมชน และส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 6.5% อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ได้ทำการประเมินอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไว้ที่ 1.8% หากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 679 ราย นับตั้งแต่มีการระบาดในพื้นที่ชุมชน

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/economy-to-expand-5-8-pct-if-covid-19-outbreak-contained-4235863.html