“พิพัฒน์” จ่อเจรจาทราเวลบับเบิลจีน สทท.หนุนเพิ่มดีมานด์ตลาดอาเซียน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตามกำหนดการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง 3-6 ก.พ.นี้ จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ประเทศจีน ถึงความเป็นไปได้ในการทำทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยกับจีนโดยไม่ต้องกักตัว และปลายเดือน ก.พ. จะหารือกับทางการมาเลเซียเรื่องทำทราเวลบับเบิล เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถิติการลงทะเบียนสมัครไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) เมื่อ 1 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 9.00-24.00 น. ซึ่งกลับมาเปิดระบบลงทะเบียนประเภท Test & Go รอบใหม่เป็นวันแรก พบว่ามีผู้ลงทะเบียนในระบบไทยแลนด์พาสรวม 35,046 ราย แบ่งเป็นประเภท Test & Go จำนวน 31,343 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3,290 ราย และ AQ หรือการกักตัว 413 ราย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/986185

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน แตะ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา รายงานถึงมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนแตะ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังจีนมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในทางกลับกันได้ทำการนำเข้าสินค้าจากจีนมีมูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน ได้แก่ ข้าวสาร มะม่วง มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ โดยการนำเข้าของกัมพูชาจากจีนส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและวัสดุก่อสร้าง เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองประเทศได้เริ่มดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีนี้ เพื่อเป็นการปูทางที่จะเพิ่มกิจกรรมการค้าและโอกาสการลงทุนระหว่างกันในอนาคต

ที่มา:https://www.khmertimeskh.com/501015097/cambodia-china-trade-tops-11-billion-last-year/

จีนเริ่มสั่งซื้อพริกจากเมียนมา ในราคา 8,000 จัตต่อ viss

สมาคมพัฒนาตลาดและพัฒนาเทคโนโลยีพริกของเมียนมา เผย จากความต้องการพริกแห้งของจีนอย่างต่อเนื่อง ได้สั่งซื้อพริกแห้งจากเมียนมาในราคา 8,000 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) ซึ่งปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวพริกขี้หนูสดในเขตมาเกว อิยาวดี และมัณฑะเลย์ และราคาเริ่มลดฮวบลงเหลืออยู่ที่ 2,000 จัตต่อ viss ขณะที่ปีที่แล้ว ราคาพริกขี้หนูสดอยู่ที่ 4,000 จัตต่อ viss ปีนี้ผลผลิตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากสภาพอากาศ นอกจากนี้ จำนวนพื้นที่ในการเพาะปลูกยังลดลงอีกด้วย โดยปกติพริกขี้หนูสดพริกของเมียนมาถูกส่งไปออกยังไทยและจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การปิดด่าน Muse ด่านสำคัญระหว่างเมียนมาและจีนตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.64 เป็นต้นมา ส่งผลให้การส่งออกต้องหยุดชะงักลง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/dried-chilli-pepper-valued-at-k8000-per-viss-on-china-demand/#article-title

การลงทุนของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกัมพูชา

ในช่วงปัจจุบันมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากบริษัทสัญชาติจีนในกัมพูชา สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชา จะได้รับการส่งเสริมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง กัมพูชา หลังจากได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัมพูชาและจีน ระหว่างการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชา ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพสินค้า และความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009066/chinese-investment-to-drive-presence-of-cambodian-agricultural-products-in-international-markets/

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ 3 ปัจจัยที่ผลักดันให้เวียดนามได้รับกระแสไหลเข้า ‘FDI’

คุณ Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กร VinaCapital กล่าวว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ดีและการขยายตัวของการลงทุนในต่างประเทศ เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปัจจัยแรก ค่าจ้างแรงงานจากโรงงานในเวียดนามที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานในจีน ประมาณ 2-3 เท่า แต่คุณภาพของแรงงานเทียบเท่าได้ ปัจจัยที่ 2 คือเวียดนามมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

อีกทั้ง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องลงทุนในต่างประเทศและเวียดนามถือเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่ 3 บริษัทข้ามชาติวางแผนที่จะกระจายการผลิตออกจากประเทศจีน ถึงแม้ว่าปัจจัยทั้งหมดในข้างต้นจะอธิบายว่าสาเหตุที่มีเงินทุน FDI ไหลเข้ามายังเวียดนาม แต่เวียดนามยังต้องช่วยกันขับเคลื่อนปัจจัยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/economy/item/11042402-expert-highlights-three-factors-helping-vietnam-secure-fdi-inflows.html

ราคาแตงโมเมียนมาในตลาดจีน ร่วงหนัก!

ก่อนวันที่ 8 ม.ค.65 ราคาแตงโมคุณภาพคุณภาพดี อยู่ที่ 7 หยวนต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันลดฮวบต่ำกว่า 5 หยวนต่อกิโลกรัม  ศูนย์การค้าผลไม้ชายแดนมูเซได้ขอให้เกษตรกรรอการจัดส่งในวันที่ 10 ม.ค.65 อย่างไรก็ตาม ราคายังคงทรงตัวที่ 5 ถึง 7 หยวนต่อกิโลกรัม ความล่าช้าของรถบรรทุกทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของแตงโม ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากสวนสู่ตลาดจี นอกจากมาตรการจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แล้ว กฎระเบียบศุลกากรของจีนยังส่งผลให้เกิดความล่าช้าและด่านชายแดนจีนจะเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งการค้าจะกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่จีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์และมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้จีนจำเป็นต้องปิดด่านชายแดนมูแซเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ด่านชายแดน Kyinsankyawt ระหว่างเมียนมาและจีน ได้ปิดตัวลงไปแล้วตั้งแต่ 8 ก.ค.64 และได้เปิดทำการค้าขายชั่วคราวอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.64 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/watermelon-prices-fall-again-in-chinese-market/

จีนยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกัมพูชากว่าร้อยละ 90 ของสินค้าทั้งหมด

จีนส่งเสริมภาคการค้าระหว่างกัมพูชา ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปในวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน อาทิเช่น วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวกำหนดไว้ว่าทั้งสองประเทศจะต้องยกเว้นการจัดเก็บภาษี หรือกำหนดภาษีการนำเข้าให้เป็นศูนย์ แก่สินค้านำเข้าจากอีกฝั่ง ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมสินค้านำเข้ากัมพูชามากกว่าร้อยละ 90 โดยทั้งสองประเทศวางแผนที่จะกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆเพิ่มเติม เช่น สนับสนุนภาคการค้า ภาคบริการ การลงทุน โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) และตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในปัจจุบันปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.9 คิดเป็นมูลค่า 10.98 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501001767/china-cambodia-to-promote-free-trade-deal-with-zero-tariff-on-more-than-90-percent-of-imports-from-cambodia/

รถไฟจีน – สปป.ลาว พลิกโอกาส ศก.ไทย

โครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ตามแผนโครงการสายแถบและเส้นทาง (BRI) เชื่อมโครงข่ายคมนาคมระบบรางระหว่างจีนกับชาติอาเซียนเป็นแห่งแรก ซึ่งจะส่งผลต่อนัยสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นโอกาสและความท้าทายต่อเอกชนและเศรษฐกิจไทย ด้านกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีหารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจเรื่องการปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-สปป.ลาว โดยเชิญผู้แทนกระทรวงคมนาคม และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานในภาคธุรกิจร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้โอกาสนี้สร้างเศรษฐกิจสัมพันธ์ ในยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 “วิชาวัฒน์ อิศรภักดี” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อมองผ่านเลนการทูตเศรษฐกิจจะเห็นโอกาสจากโครงการรถไฟจีน-ลาว ใน 3 ประการได้แก่ 1.ส่งเสริมขีดความสามารถภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย และในระยะยาวจะส่งผลต่อการดำเนินเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนานาประเทศ 2.การขยายบทบาทของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งโครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นเพียงหนึ่งหมุดหมายส่งผลในภาพรวม และ 3.โครงการรถไฟดังกล่าวเข้ามาประชิดพรมแดนไทย ทำให้จีนและไทยมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/980954

ผัก-ผลไม้ไทยครองจีน พาณิชย์ชี้ FTA สร้างความได้เปรียบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยสถิติการค้าสินค้าผักและผลไม้ไทยของไทยในจีน พบว่าช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าผักและผลไม้จากไทยสูงเป็นอันดับ 1 โดยไทยครองส่วนแบ่งสูงถึง 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ส่วนชิลีเป็นอันดับ 2 มีส่วนแบ่ง 14.01% และเวียดนามอันดับ 3 มีส่วนแบ่ง 6.45%  ฯลฯ โดยตัวเลขล่าสุด 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีการส่งออกมูลค่า 6,013.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 81% และนำเข้ามูลค่า 832.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.2% เกินดุลการค้า 5,180.99 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 105% โดยเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบคือ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) เพราะจีนได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าผักและผลไม้จากไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้การส่งออกเติบโตอย่างมาก
ที่มา: https://www.naewna.com/business/624782

กัมพูชาเร่งส่งออกข้าวสารไปยังจีน ภายใต้กรอบโควต้าใหม่

กัมพูชาวางแผนส่งออกข้าวสารภายใต้โควต้านำเข้าของจีนรวม 400,000 ตัน ตามรายงานของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา โดย Hun Lak ประธานคณะกรรมการสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวว่า ข้อตกลงการส่งออกข้าวสารที่ได้ลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2021 จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 17 เดือน ตามที่ประธานกล่าว ซึ่งโควตาของจีนสำหรับการส่งออกข้าวสารจากกัมพูชาในปี 2014 ถึง 2021 ถือเป็นส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้กับประเทศกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ โดยจนถึงตอนนี้กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยัง 41 ประเทศทั่วโลก และจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมด ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2021 กัมพูชาส่งออกข้าวสารจำนวน 532,179 ตัน สร้างรายได้ 366 ล้านดอลลาร์
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50993301/cambodia-to-export-milled-rice-under-new-quota-to-china/