“เวิลด์แบงก์” ประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2566 จะเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง

ธนาคารโลก (WB) เปิดเผยรายงานแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลก ‘Global Economic Prospects’ ฉบับล่าสุด เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม (GDP) จะขยายตัว 6.3% ในปี 2566 โดยสะท้อนให้เห็นจากปัจจัยบวกในปีที่แล้ว หลังจากเวียดนามประกาศยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง และเวียดนามยังได้รับอนิสงค์จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสำคัญมีทิศทางที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยิดเยื้อและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทั่วโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลงไปอีก

ที่มา : https://vir.com.vn/world-bank-says-vietnams-gdp-growth-to-moderate-in-2023-99184.html

ส.อ.ท. ชี้จีนเปิด ปท.กระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การที่ประเทศจีนเปิดประเทศแม้อาจมีความกังวลในเรื่องของโควิด-19 อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมแลกกันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และมั่นใจในกระบวนการคัดกรองของแต่ละประเทศที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายเกรียงไกร ได้กล่าวเพิ่มเติม ว่าการเปิดประเทศของจีน ถือเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เมื่อภาคอุตสาหกรรมเดินหน้า ภาคบริการต่างๆ กลับมา ก็ทำให้ซัพพลายเชนต่างๆ ที่เคยมีปัญหาก็คลี่คลาย และจีนก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียนรวมถึงไทยด้วย ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจในอาเซียนแข็งแกร่งขึ้น พร้อมมองว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยปีนี้จะอยู่ที่ 25 ล้านคน

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_480456/

กรุงศรีฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.6% แรงหนุนท่องเที่ยว จับตาปัจจัยภายนอกกระทบ

วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) โดยระบุถึงทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 คาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรตาม การลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/296943/

แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลาวอยู่ในระดับสูง แต่การจ้างงานต่ำ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานข้อมูลอัปเดตเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ในช่วงปี 2543-2561 ขยายตัวเฉลี่ย 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการเติบโตทางการค้าเฉลี่ย 17% ต่อปี แต่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากการค้าและการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดเจาะและพลังงาน ทั้งนี้ ตามรายงาน Lao Economic Monitor for October 2022: Tackling Macroeconomic Vulnerabilities พบว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวลดลงจากปี 2555-2561 โดยส่วนใหญ่ได้รับงานจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังไม่สามารถรองรับกับจำนวนแรงงานเกินที่อยู่ในภาคเกษตรได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 15.7% ในปี 2561 อีกทั้ง ปัญหาความยากจนส่งสัญญาลดลง แต่ยังคงช้ากว่าประเทศอื่น และในอีก 10 ปีข้างหน้า สปป.ลาวจะต้องสร้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่งต่อปี เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Despite03.php

คาด GDP กัมพูชา ปี 2023 เติบโตต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวถึงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 6.6 ในปี 2023 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวซึ่งคาดว่าจะสูงถึงเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อปี รวมถึงคาดว่ากัมพูชาจะยังคงใช้นโยบายภาครัฐแบบเกินดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางกลับเข้ามายังกัมพูชา หลังจากจีนมีกำหนดที่จะเปิดประเทศอีกครั้งในเดือน ม.ค. ซึ่งการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดการณ์ไว้จะทำให้เศรษฐกิจกัมพูชากลับมาขยายตัวอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501213048/gdp-increase-expected-for-2023/

‘นครโฮจิมินห์’ ตั้งเป้า ปี 65 ขยายตัว 7.5-8%

คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDPR) ปี 2566 อยู่ที่ 7.5-8% คุณ Phan Thi Than รองประธานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ กล่าวในที่ประชุมสภาประชนเทศบาลเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ว่านครโฮจิมินห์มีทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีหน้า แต่คาดว่าจะเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายมากขึ้น และเมืองแห่งนี้จะคงมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปการบริหาร ยกระดับการบริการสาธารณะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ นอกจากนี้ ทำการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานความรู้กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงจำเป็นต้องขจัดปัญหาคอขวดต่างๆ และเร่งดำเนินโครงสร้างพื้นฐาน การจราจรและการพัฒนาเมือง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hcm-city-sets-2023-growth-target-of-758/245180.vnp

สื่อสหรัฐฯ ชี้ ศก.เวียดนามมีแนวโน้มสดใส

จากข้อมูลเว็บไซต์ของสหรัฐฯ “Seekingalpha” เปิดเผยว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวก สาเหตุสำคัญมาจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของการบริโภคภายในประเทศ การได้รับเม็ดเงินทุนจากต่างชาติและการรักษาดุลการค้าเกินดุลกับต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า 8% ในปี 2565 ทั้งนี้ ค่าเงินดองและอัตราดอกเบี้ยของเวียดนามค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการส่งออกของเวียดนามที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทำให้การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวที่ 16.37% บ่งชี้ให้เห็นว่าสถานะทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนามมีความแข็งแกร่ง และยังขจัดความยากจนให้กับประชาชนให้หลุดพ้นระดับความยากจนในประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-paper-macroeconomic-outlook-of-vietnam-bright-post989157.vov

ทางการกัมพูชารณรงค์ต่อเนื่อง เพื่อการส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียล

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้เร่งส่งเสริมการใช้เงินเรียลในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน ผนวกกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อผลักดันให้ปริมาณเงินเรียลหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสกุลเงินท้องถิ่น โดยปัจจุบันกัมพูชาใช้สกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจสูงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเรียล ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมภายในประเทศ ซึ่งธนาคารกลางคาดว่าจะใช้วิธีการลดต้นทุนการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินเรียล เพื่อเป็นการดึงดูดการใช้เงินเรียลแทนที่เงินดอลลาร์ นอกจากนี้ กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงเห็นถึงความสำคัญในการใช้สกุลเงินเรียลเป็นหลัก เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถส่งเสริมการส่งออกต่อไปโดยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาผ่านการแทรกแทรงค่าเงิน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194382/sustained-campaign-for-riel-promotion-2/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังกัมพูชาทะลุ 1.5 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2022 เพิ่มขึ้น เป็นกว่า 1,575,954 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 991.1 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางมายังกัมพูชาผ่านทางมาทางอากาศ 559,918 คน, ทางบก 1,005,549 คน และทางน้ำ 10,487 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย คิดเป็นกว่า 590,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สหรัฐฯ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยทางการกัมพูชาคาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2.2 ล้านคน ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ในจังหวัดเสียมราฐ, ปราสาทพระวิหารในจังหวัดพระวิหาร และปราสาทสมโบร์ไพรกุกในจังหวัดกำปงธม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194322/intl-tourist-arrivals-cross-1-5-million-in-jan-oct/

ปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ตามบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Vietnam Briefing เปิดเผยว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางการค้าและค่าจ้าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 6% ของ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของอาเซียน ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากการทำ FTA หลายรายการสินค้า อีกทั้ง การรับรองมาตรฐานสินค้า การผลิตและสิทธิของพนักงานในข้อตกลงเหล่านี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนามยังเปิดกว้างและรัฐบาลได้กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน และปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบมากที่สุด คือค่าจ้างแรงงานที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/three-factors-keep-vietnams-economy-humming-along-post987158.vov