พาณิชย์โชว์ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไทยโตต่อเนื่อง 8 เดือน เพิ่มขึ้น 7.9% พาณิชย์ดันเจ้าตลาดด้วยเอฟทีเอ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวในการสัมมนา โครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วยเอฟทีเอ” ว่าโครงการดังกล่าวกรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 สามารถขยายการส่งออกสินค้านม UHT นมอัดเม็ด ไอศกรีม และโยเกิร์ต ไปตลาดคู่ค้าเอฟทีเอ โดยเฉพาะจีน และอาเซียน (สิงคโปร์ กัมพูชา เมียนมา) และผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้อุตสาหกรรมโคนมและนมโคแปรรูปของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างมีศักยภาพในตลาดโลก และพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นมโคในภูมิภาค ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกสินค้านมโคและนมโคแปรรูปไปตลาดโลก 382 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นมพร้อมดื่ม UHT นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนมจืด ตลาดส่งออกหลักคือ อาเซียน (กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สปป.ลาว และสิงคโปร์) 82.7% จีน 5.4% และฮ่องกง 3.4% ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทยที่ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและนมโคแปรรูปให้ไทยแล้ว ทั้งนี้ ไทยจึงมีความได้เปรียบในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กันและประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน จึงเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_5067398

กฟผ. เดินหน้า ตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้า ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอาเซียน

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า วันนี้ (29 กันยายน 2563) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่งฉบับที่ 2 โดยในระยะแรก กฟผ. มีแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ประกอบด้วย ตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าหนึ่งวัน (Day-Ahead Market) และตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างวัน (Intraday Market) โดย กฟผ. จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบซื้อขาย เมื่อตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองมีเสถียรภาพและสภาพคล่องแล้ว อาจพิจารณาให้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายกำลังการผลิตไฟฟ้า (Capacity Market) “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการนำผลการศึกษาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฟผ. ศึกษาร่วมกันในระยะเวลา 1 ปี มาพัฒนาต่อยอด โดยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การส่งมอบ การชำระราคาหลักทรัพย์ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง“

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-529078

พาณิชย์ถกสภาธุรกิจอียู-อาเซียน หาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

“พาณิชย์” หารือสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และบริษัทชั้นนำของยุโรปที่ทำธุรกิจในอาเซียนกว่า 50 ราย ผ่านระบบทางไกล แลกเปลี่ยนมุมมองการรับมือวิกฤตโควิด-19 และแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของไทยเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยไทยได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนสหภาพยุโรปว่า ไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป การอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/898079

อาเซียนจ่อลงนามข้อตกลงยานยนต์-วัสดุก่อสร้างในปีนี้

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไฟเขียวลงนามข้อตกลงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างในปีนี้ คาดส่งผลดีต่อการส่งออกไทยแน่ เหตุสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำอีก เผยยังบรรลุข้อตกลงด้านยาแผนโบราณ-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมย้ำเปิดใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 20 ก.ย.นี้ และจับมือภาคเอกชนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่าอาเซียนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง โดยพร้อมที่จะลงนามภายในปีนี้ ซึ่งหากข้อตกลงทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากเมื่อสินค้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้ว ไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้าอีก ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์ไปยังอาเซียน มูลค่า 5,071.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังอาเซียน มูลค่า 473.17 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000087542

‘นิสสัน’ปักธงไทยฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับนายราเมช นาราสิมัน ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ทางบริษัท นิสสันฯ ได้แจ้งให้ทราบถึงการปิดโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรวมฐานการผลิตรถยนต์สำหรับการส่งออกไว้ที่ประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)แล้ว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางและนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทฯ ได้เปิดตัว Nissan Kicks รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100%  โดยไม่ต้องชาร์จ ซึ่งนำเทคโนโลยีใหม่ e-Powers มาใช้ในรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลก (นอกเหนือจาก การผลิตในบริษัทแม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น) โดยรถยนต์รุ่นนี้มีการผลิตในไทยและส่งออกไปจำหน่ายยังญี่ปุ่นอีกด้วย สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ในด้านตลาดการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่งของผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเข้าไป โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานได้  ส่วนมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าด้านอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ เป็นต้น จะได้มีการหารือและดำเนินการผลักดันภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/631283

ทุนญี่ปุ่น เบนเข็มสู่อาเซียน ใครได้ประโยชน์?

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (มิติ) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่ามีกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นรวม 87 แห่งมีความประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เงินอุดหนุนในการโยกย้ายหรือกระจายการลงทุนในวงเงิน 70,000 ล้านเยน หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีน และเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สาเหตุการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากจีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม หลายอุตสาหกรรมต้องชะงักงันจากการปิดประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน ทั้งนี้ 87 บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วไปไหน พบว่า 57 บริษัทจะย้ายการดำเนินการกลับไปญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งหมด ขณะที่อีก 30 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งพบว่าจะย้ายมาเวียดนาม 15 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟ บริษัทผลิตแร่เหล็กหายาก, ไทย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ บริษัทผลิตโลหะผสม บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทผลิตเสื้อกาวน์, มาเลเซีย 4 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตถุงมือยาง, ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท, ลาว 2 บริษัท, อินโดนีเซีย 1 บริษัท และเมียนมา 1 บริษัท

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894038?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic=10473&index

สปป.ลาว ยกย่องอาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาว กล่าวในข้อความที่ส่งถึงชาวลาวเมื่อเร็ว ๆ นี้เนื่องในโอกาสที่ 53 ครบรอบการก่อตั้งกลุ่มและครบรอบ 23 ปีของการเป็นสมาชิกของสปป.ลาว ว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สงบสุขและมีเสถียรภาพโดยมีความสำเร็จที่สำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้กลุ่มบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน ในปี 2020 อาเซียนและหลายภูมิภาคทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆที่เกิดจากภัยธรรมชาติและโควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคและโลก เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อาเซียนได้เสริมสร้างความร่วมมือตามเจตนารมณ์ “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” นอกจากนี้อาเซียนและคู่เจรจาได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพชุมชนโดยเฉพาะการป้องกัน COVID-19 ศึกษาและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสและจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับ COVID-19 และสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับกรณีฉุกเฉินนอกเหนือจากการดำเนินการต่อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมการเชื่อมโยงและห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนในขณะที่จัดการกับปัญหาการว่างงาน ลดความยากจนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นักการทูตระดับสูงของสปป.ลาวยังยืนยันด้วยว่าการเป็นสมาชิกอาเซียนได้ช่วยส่งเสริมบทบาทของสปป.ลาวในการประชุมระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/lao-fm-praises-asean-as-successful-regional-organisation/180018.vnp

ไทยนำอาเซียนหารือจีน ยกระดับความตกลงทางการค้า เร่งเปิดตลาดเสรีเพิ่มเติม หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN – China Free Trade Agreement – Joint Committee : ACFTA-JC) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ Ministry of Commerce สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะองค์ประกอบผู้แทนไทย ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมดังกล่าวที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินการตามประเด็นที่จะเจรจาต่อไปในอนาคต (Future Work Programme) ภายใต้พิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA Upgrading Protocol) ได้แก่ การหารือแนวทางการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การหารือการเปิดเสรีและการคุ้มครองการลงทุน รวมถึงการหารือความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือ ACFTA อาทิ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3147253

ถกความมั่นคงทางอาหารภูมิภาคอาเซียน

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะเลขานุการถาวรคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ครั้งที่ 40 ผ่านระบบ VDO Conference เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ซึ่งมีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้มีสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย และ สปป.ลาว) สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (AFSIS) และองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APTERR) เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารปัจจุบัน รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ทั้งนี้ จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนปริมาณความต้องการบริโภคตามจำนวนประชากรในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นนั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหารของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าเกษตรของไทย ตลอดจนแสวงหากลไกความร่วมมือกับนานาประเทศ

ที่มา : https://tna.mcot.net/business-488996

ญี่ปุ่นแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างอาเซียนรวมถึงกัมพูชา

ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีการปรับปรุงระหว่างญี่ปุ่นและกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับ 5 ประเทศแล้ว ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและฟิลิปปินส์ จะเข้าร่วมเมื่อได้ข้อสรุปขั้นตอนต่างๆของแต่ละประเทศเสียก่อน ซึ่งภายใต้สนธิสัญญาฉบับปรับปรุงนี้ประเทศต่างๆ จะต้องรักษาความโปร่งใสในการควบคุมการให้บริการและไม่เลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงกฎสำหรับผู้เดินทางชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาและพักอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ โดยการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในปีที่แล้วสู่ 2,292 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานล่าสุดจากองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศผู้นำเข้าจากกัมพูชา ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2019 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นมูลค่ารวมราว 1,730 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 เพิ่มขึ้น เป็น 562 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50751316/revised-trade-pact-between-japan-asean/